สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉิน เปิดเวทีสร้างความเข้าใจและแนวทางปฏิบัติสำหรับการเกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน เผยทุกชั่วโมงคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจวายเฉียบพลัน 2 ราย จี้ สธ. สพฉ.เร่งจัดระบบรองรับการส่งต่อเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพทันท่วงที
เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2560 ที่โรงแรมเซ็นจูรี่พาร์ค ในเวทีเสวนา “ช่วยชีวิตก่อนหัวใจวายเฉียบพลัน ได้อย่างไร” จัดโดย โครงการส่งเสริมและป้องกันคนไทยไม่ให้เจ็บป่วยฉุกเฉิน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย
นพ.สันต์ หัตถีรัตน์ นายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากปรากฎการณ์คนวงการบันเทิง นักการเมือง บุคคลมีชื่อเสียง ประชาชนทั่วไป ต้องมาจบชีวิตด้วยภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน ดังนั้นควรนำบทเรียนความสูญเสียครั้งนี้ มาสู่แนวทางปฏิบัติและป้องกันอย่างถูกวิธี จากสถิติ ทุกชั่วโมงคนไทยต้องเสียชีวิตจากหัวใจวายเฉียบพลัน 2 คน ซึ่งภาวะหัวใจวายเฉียบพลันเกือบทั้งหมดเกิดจากหัวใจเต้นผิดปกติร้ายแรง ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากหัวใจขาดเลือดรุนแรง จากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บแน่นในอก เหมือนถูกเหยียบ หรือรัดแน่น ที่อาจร้าวไปที่คอ คาง ฟัน ยอดอก หรือร้าวไปที่ไหล่และแขนโดยเฉพาะด้านซ้าย ขณะหรือหลังการออกกำลังกายหรือเครียดมากๆ ซึ่งเกิดจากภาวะหัวใจขาดเลือดที่จะนำไปสู่ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันได้
เมื่อมีอาการ ควรนั่งพักทันที ถ้านั่งพักสักครึ่งนาทีแล้วยังไม่ดีขึ้น ควรอมยาแก้อาการหัวใจขาดเลือด หรือ ยาไอเอสดีเอ็น (ISDN) ให้อมยาไว้ใต้ลิ้นทันที และเรียกคนใกล้เคียงให้ช่วยเหลือ หากอาการดีขึ้นหลังอมยาควรไปตรวจหาสาเหตุที่โรงพยาบาล แต่หากภายใน 2-3 อึดใจ หรือ 2-3 นาที ยังไม่ดีขึ้นให้โทรเรียก 1669 เพื่อขอให้ส่งรถฉุกเฉินให้มาช่วย จากนั้นให้แล้วอมยา ISDN อีก 1 เม็ด แล้วรอจนกว่ารถฉุกเฉินจะมาช่วยเหลือ นอกจากผู้ที่มีภาวะเสี่ยงแล้ว ผู้ชายอายุ 40 ปีขึ้นไป และในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ก็ควรพกยาอมใต้ลิ้น ติดตัวไว้ด้วยเช่นกัน
“สำหรับข้อห้ามในการใช้ยาอมใต้ลิ้น ISDN มี 2 กรณี คือ 1.ผู้ที่ใช้ยากระตุ้นอวัยวะเพศชายให้แข็งตัว เช่น Viagra, Cialis 2.ผู้ที่หน้ามืดเป็นลม หรือความดันเลือดตก ทั้งนี้ ยาอมใต้ลิ้น ISDN เป็นยาขยายหลอดเลือด รวมทั้งหลอดเลือดหัวใจ ทำให้หัวใจที่ขาดเลือดได้รับเลือดไปเลี้ยงเพิ่มขึ้น และทำให้หัวใจทำงานเบาลง เพราะความดันเลือดลดลงแม้จะไม่ใช่ภาวะหัวใจขาดเลือด การอมยาใต้ลิ้นไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงมากนัก แต่อาจเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ หน้าแดง เล็กน้อยจากการขยายตัวของหลอดเลือด ซึ่งจะหายไปเองใน 10-15 นาที” นพ.สันต์ กล่าว
ด้าน นพ.สมชาย กาญจนสุต อุปนายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในประเทศที่พัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว รถการแพทย์ฉุกเฉินสามารถเข้าถึงตัวผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บหน้าอกจากเส้นเลือดหัวใจตีบ/ตันได้ภายใน 4-5 นาทีหลังจากแจ้งเหตุ ผู้ป่วยเพียงแจ้งเหตุแล้วรอก็อาจเพียงพอ แต่ในประเทศไทยเรายังไม่สามารถที่จะทำให้มีระบบที่มีประสิทธิภาพเช่นนั้น สมาคมฯ จึงได้แนะนำโอกาสช่วยชีวิตให้รอดที่ประชาชนทั่วไปอาจช่วยเหลือตนเองและคนข้างเคียงได้ ด้วยการใช้ยาที่มีผลต่อการขยายตัวของเส้นเลือด เพียงหากเข้าใจผลข้างเคียงแล้วแทบจะไม่มีผลเสีย
นอกจากนั้น อยากวิงวอนให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ เร่งพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินให้มีหน่วยปฏิบัติการและชุดปฏิบัติการเพิ่มขึ้นให้เหมาะสมกับประชากรในพื้นที่ เพื่อให้มีความรวดเร็วและทันท่วงทีก่อนที่จะเกิดการเสียชีวิตโดยไม่สมควร และควรจัดระบบของโรงพยาบาลที่มีความสามารถในการสวนหัวใจเพื่อรักษาโรคเส้นเลือดหัวใจอุดตัน พร้อมประกาศให้ประชาชนและหน่วยกู้ชีพต่างๆ ได้รู้ เพื่อจะได้ตรงไปยังโรงพยาบาลนั้นๆ ได้โดยตรง อันจะทำให้ผู้ป่วยรอดชีวิตมากขึ้น การนำส่งผิดที่ทำให้ผู้ป่วยภาวะนี้เสียชีวิตมามากแล้ว
“แม้เราจะเร่งประชาสัมพันธ์และฝึกอบรมให้คนปั๊มหัวใจ มีเครื่องกระตุกหัวใจ มีหน่วยกู้ชีพรับมือต่อและช่วยเหลือเบื้องต้นให้ผู้ป่วยฟื้นมาได้ แต่ปัญหาคือไม่สามารถทราบได้ว่าโรงพยาบาลเฉพาะทางแห่งใดพร้อมรักษาต่อได้ (การสวนหัวใจเพื่อรักษาโรคเส้นเลือดหัวใจอุดตัน) การนำส่งผิดที่จึงเหมือนกับส่งผู้ป่วยไปตาย” นพ.สมชาย กล่าว
ผศ.(พิเศษ) นพ.ธวัชชัย กมลธรรม คณบดีสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่ได้มีโอกาสช่วยเหลือนักท่องเที่ยวที่มีอาการหัวใจวายเฉียบพลันทีไอซ์แลนด์ คือในตอนนั้นนักท่องเที่ยวท่านนั้นขับรถสโนพลิกคว่ำ ซึ่งเมื่อตนประเมินอาการเบื้องต้นแล้วพบว่ามีภาวะของหัวใจวายเฉียบพลัน โชคดีที่ตอนนั้นตนได้พกยาแอสไพริน จึงให้ผู้ป่วยรีบเคี้ยวและดื่มน้ำตามมากๆ หลังจากนั้นได้มีการดูแลปฐมพยาบาลผู้ป่วยเพื่อพร้อมส่งต่อให้กับแพทย์
ผศ.(พิเศษ) นพ.ธวัชชัย กล่าวว่า จากประสบการณ์ในครั้งนั้นตนอยากให้ประชาชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงพกยาอมใต้ลิ้น หรือ BABY แอสไพรินติดตัวไว้ เพื่อไว้ใช้กับตัวเองหรือช่วยเหลือผู้ป่วยได้ เพราะหากเราพบผู้ป่วยที่มีอาการหัวใจวายเฉียบพลันแล้วหากมัวแต่รอรถพยาบาลฉุกเฉินมาอย่างน้อยใช้เวลาเกือบครึ่งชั่วโมง หากไม่มีการช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างทันท่วงทีอาจะส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้
สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน ได้แก่ คนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน หัวใจ หรือเคยมีคนในครอบครัวเสียชีวิตด้วยโรคดังกล่าว อ้วน อายุมาก มีความเครียดเป็นประจำ หรือมีการออกกำลังกายอย่างหนัก อาการเบื้องต้นที่พอจะสังเกตได้คือ เจ็บแน่นหน้าอก เกิดอาการเจ็บร้าวไหล่ แขน จุกที่ท้อง หายใจแรง มีเหงื่ออกตามมือ เท้า หากผู้ป่วยยังมีสติ ให้รีบอมยาอมใต้ลิ้น หรือ ให้เคี้ยวยา BABY แอสไพริน 1 เม็ด แล้วดื่มน้ำตามมากๆ แล้วพยายามให้ผู้ป่วยหายใจเข้าออกแรงๆ หรือไอแรงๆ เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายรับออกซิเจนเข้าไปมากขึ้น อย่างไรก็ตามนักท่องเที่ยวควรจะพกยาอมใต้ลิ้นหรือ BABY แอสไพริน ไว้ตลอดการเดินทาง เพื่อหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้นมาเราจะได้ช่วยตัวเองหรือผู้อื่นได้ ทั้งนี้ผู้ที่มีภาวะแพ้ยาแอสไพริน ไม่ควรใช้
- 40 views