แนวหน้า - นายแพทย์วิชัย เทียนถาวร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค และศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ ประเสริฐ ทองเจริญ ประธานคณะกรรมการวิทยาศาสตร์ การจัดประชุมไข้เลือดออกนานาชาติฝ่ายไทย เปิดประชุม ไข้เลือดออกนานาชาติครั้งที่ 3 ปีนี้ ในประเด็น "ไข้เลือดออกเดงกี่โลก : ความท้าทายและพันธะสัญญา ร่วมกัน(Global Dengue : Challenges and Promises) มีนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญไข้เลือดออกกว่า 40 ประเทศ ร่วมประชุมกว่า 700 คน เพื่อหาแนวทางควบคุมป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพ
นายแพทย์วิชัย กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก ได้รายงานสถานการณ์โรคไข้เลือดออกว่าเป็น 1 ใน 40 โรคที่หวนกลับมาแพร่ระบาดใหม่ กำลังเป็นปัญหาสาธารณสุขกว่า 100 ประเทศ โดยมีผู้ติดเชื้อทั่วโลกปีละกว่า 50-100 ล้านคน กว่าครึ่งต้องรักษาตัวใน โรงพยาบาล ในจำนวนนี้เสียชีวิตปีละกว่า 25,000 ราย และมีประชากรเสี่ยงต่อการเป็นไข้เลือดออกปีละประมาณ 2,500 ล้านคน โดยพบว่าเชื้อโรคไข้เลือดออกมีการพัฒนาตัว และระบาดไปยังพื้นที่ใหม่ๆ รวมทั้ง เกิดในประเทศในแถบหนาวด้วย
ทั้งนี้ โรคไข้เลือดออกจัดเป็นโรคประจำถิ่นที่มีความรุนแรงของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี่ มี 4 สายพันธุ์ คือ 1 ,2 ,3 และ 4 การติดเชื้อชนิดนี้สายพันธุ์หนึ่ง จะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์นั้น ตลอดไป แต่จะสามารถป้องกันข้ามไปยังสายพันธุ์อื่นได้เพียงชั่วคราว โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน และไม่มียารักษาโดยเฉพาะ จึงทำให้มีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตทุกปี ส่วนใหญ่เป็นเด็ก ปัญหาหลักที่ทั่วโลกเผชิญคือเข้าถึงการรักษาล่าช้า
นายแพทย์วิชัยกล่าวต่อว่า ขณะนี้องค์การอนามัยโลกได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก สำหรับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกระหว่างพ.ศ. 2551-2558 เนื่องจากเป็นพื้นที่ ที่มีผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อมากกว่าร้อยละ 70 ของผู้ติดเชื้อทั่วโลก เพื่อลดการเสียชีวิตให้ต่ำกว่าร้อยละ 1 และลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงต่อปี ร้อยละ 20 เพิ่มความร่วมมือการควบคุมป้องกันโรคที่รวดเร็ว แลกเปลี่ยนความรู้ใหม่ๆที่นักวิจัยได้คิดค้นขึ้น แต่ละประเทศมีแผนป้องกันโรคภายในประเทศและป้องกันแพร่ระบาดไปประเทศเพื่อนบ้านด้วย ซึ่งขณะนี้ ประเทศไทยได้ดำเนินการรณรงค์ป้องกันควบคุมโรคอย่างเต็มที่จนจำนวนผู้ป่วยใหม่รายสัปดาห์มีอัตราลดลงอย่างต่อเนื่อง
นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การจัดประชุมโรคไข้เลือดออกนานาชาติในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะนำแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยและนักวิชาการ เปิดโอกาสให้ประเทศต่างๆ ได้นำความรู้ และประสบการณ์ในการดำเนินงานป้องกันควบคุมไข้เลือดออกที่มีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์มานำเสนอ พัฒนามาตรการป้องกันควบคุมโรค รวมทั้งก่อให้เกิดความร่วมมือในสาขาต่างๆ นำไปสู่การลดปัญหาไข้เลือดออกได้ในที่สุด
ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 22 ตุลาคม 2556
- 3 views