สถานพยาบาลรอเก้อ งบหลักประกันสุขภาพปี 2557 ยังกระจายไปไม่ถึง เหตุติดยอดตัวเลขสุทธิเงินเดือนจากสธ. สปสช.แจงยังไม่ได้ยอดตัวเลขเงินเดือนส่วนของ สป.สธ. และค่าแรง 3 ส่วนในการพิจารณา ยันไม่อยากส่งงบช้า หวั่นกระทบผู้ป่วย เพราะ รพ.ขาดสภาพคล่อง

นพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงการจัดสรรงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติประจำปี 2557 ว่า ในการกระจายงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ จะรวมงบฯด้านเงินเดือนของบุคลากรสาธารณสุขในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.) ด้วย โดยงบฯที่ได้รับการจัดสรรในปีงบประมาณ 2557 รวมทั้งสิ้น 154,257 ล้านบาท หักเป็นงบฯเงินเดือนของ สป.สธ. จำนวน 38,381 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้เป็นงบฯเฉพาะสป.อย่างเดียว 36,822 ล้านบาท ที่เหลือจะเป็นงบฯของบุคลากรสังกัดกรมการแพทย์ กรมสุขภาพจิต เป็นต้น ดังนั้น งบประมาณในส่วนของกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ จะมีจำนวน 115,876.67 ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดยังไม่สามารถกระจายไปถึงสถานพยาบาลต่างๆ ได้ เนื่องจาก สปสช.ยังขาดตัวเลขเงินเดือนในส่วนของ สป.สธ. รวมไปถึงตัวเลขค่าแรง 3 ส่วน คือ 1.ค่าครองชีพสำหรับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า 15,000 บาทต่อเดือน และค่าแรงขั้นต่ำที่ 300 บาทต่อวันของลูกจ้างชั่วคราว 2.การปรับลูกจ้างชั่วคราวเป็นข้าราชการหรือพนักงานกระทรวงสาธารณสุข และ 3.การปรับบันไดเงินเดือนข้าราชการ ซึ่งแม้จะไม่ได้เป็นรายการที่รวมในงบกองทุน แต่ สปสช.จำเป็นต้องทราบเพื่อใช้ในการพิจารณาการกระจายงบกองทุนให้แก่หน่วยบริการอย่างเหมาะสม

"สปสช.ได้ส่งหนังสือแจ้งไปยังสำนักปลัดฯ มาแล้ว 3 ครั้ง คือ ช่วง มิ.ย. ก.ค. และ ก.ย. 2556 แต่ก็ยังไม่ได้รับคำตอบในเรื่องดังกล่าว ทำให้ สปสช.ยังไม่สามารถกระจายงบปี 2557 ไปยังหน่วยบริการได้ ซึ่งที่จริงแล้วควรกระจายงบตั้งแต่ไตรมาสแรกคือ ต.ค. 2556" รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว

นพ.พีรพล กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาเราพยายามส่งงบประมาณไปยังหน่วยบริการภายในไตรมาสแรก โดยประมาณการล่วงหน้าจากค่าใช้จ่ายของหน่วยบริการแต่ละแห่ง จากนั้นจึงจะส่งงบล่วงหน้าลงไปเพื่อให้เกิดสภาพคล่องที่ดี แต่ปีนี้เนื่องจากยังไม่ได้ยอดตัวเลขสุทธิของงบประมาณ ทำให้ สปสช.ยังไม่สามารถโอนงบประมาณลงไปได้ ทั้งที่ สปสช.เริ่มจัดทำงบประมาณนี้มาตั้งแต่ ก.พ. 2556 และประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้ลงนามประกาศไปเมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2556 ซึ่งโรงพยาบาลก็รอเงินอยู่ หากแม้ส่งเงินช้าไป 1 เดือนก็เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาขาดสภาพคล่อง และอาจเกิดอุปสรรคต่อการบริการคนไข้

พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปแห่งประเทศไทย (สพศท.) กล่าวว่า การกระจายงบฯสปสช.มีอุปสรรคตลอด หากจะให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ซื้อบริการ คือ สปสช. และผู้ให้บริการ คือโรงพยาบาลในสังกัด สธ.ก็ควรร่วมมือกันในการให้ข้อมูลต่างๆ ซึ่งการเกิดเขตบริการสุขภาพในการหารือการกระจายงบฯจะแก้ไขปัญหาได้

ที่มา : www.manager.co.th