คมชัดลึก - สธ.สั่งสอบ รพ.เอกชน ไม่รับทำคลอดฉุกเฉิน ขณะที่ รพ.ราชวิถีปัดปฏิเสธรักษาคนไข้ อ้างเหตุส่งมารดา-ศพทารกไป รพ.รามาฯ ไม่มีแพทย์นิติเวช ขอ 7 วันพิสูจน์ศพทารก
จากกรณีโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งปฏิเสธทำคลอดให้ น.ส.ชลธิชา วรรณทิพย์ อายุ 31 ปี อยู่บ้านเลขที่ 18 หมู่ 3 ต.หนองเขียด อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น เนื่องจากสิทธิประกันสังคมไม่ครอบคลุม ทำให้ น.ส.ชลธิชาตัดสินใจกลับไปคลอดเองที่บ้านเช่าเลขที่ 74/1 ซ.อินทามระ 1 ถ.สุทธิสารวินิจฉัย แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กทม. จนเด็กเสียชีวิต จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจและมูลนิธิร่วมกตัญญูได้นำ น.ส.ชลธิชา และ ศพทารก ไปที่ รพ.ราชวิถี เพื่อทำการชันสูตรศพทารก แต่ได้รับการปฏิเสธ และส่งต่อไปรพ.รามาธิบดี เหตุเกิดเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม ที่ผ่านมานั้น
ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ที่โรงพยาบาลราชวิถี นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.อุดม เชาวรินทร์ ผู้อำนวยการ รพ.ราชวิถี นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และ นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม(สปส.) ร่วมกันแถลงข่าว
นพ.อุดม กล่าวว่า รพ.ราชวิถีไม่เคยปฏิเสธ การรับตัวผู้ป่วย ซึ่งข้อเท็จจริงนั้น น.ส.ชลธิชาได้ เข้าไปตรวจที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง แล้วได้รับแนะนำให้มาทำคลอดที่ รพ.ราชวิถี ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่ น.ส.ชลธิชาเคยมาทำคลอดแล้ว เนื่องจากค่าใช้จ่ายถูกกว่า แต่ น.ส.ชลธิชา กลับไปคลอดเองที่บ้านจนลูกเสียชีวิต ชาวบ้านใกล้เคียงจึงเรียกมูลนิธิร่วมกตัญญูมาช่วยตัดสายสะดือ จากนั้นส่งตัวมารดาและลูกมายังรพ.ราชวิถี ซึ่งพยาบาลที่ทำหน้าที่คัดกรองได้ดูแลเป็นอย่างดี ตรวจสัญญาณชีพพบว่ายังปกติ
"จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ทราบว่า ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขอให้ทางโรงพยาบาลช่วยชันสูตรเด็กด้วย เนื่องจากอาจเป็นคดี แต่รพ.ราชวิถี ไม่มีแพทย์นิติเวชประจำโรงพยาบาล จึงแนะนำให้ส่งตัวต่อไปที่ รพ.รามาธิบดี ซึ่งมีแพทย์นิติเวชพร้อมทำการชันสูตร ซึ่งหญิงคนดังกล่าวและเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ขัดข้อง จึงส่งตัวหญิงคนดังกล่าวและลูกไปชันสูตรที่ รพ.รามาธิบดี" นพ.อุดมกล่าว
นพ.ธเรศ กล่าวว่า ตามมาตรา 36 พ.ร.บ.สถานพยาบาล ได้มีการคุ้มครองผู้รับบริการกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล คือ เจ็บป่วยฉุกเฉินไม่ถามสิทธิ ในกรณีนี้ สปส.จะตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงทางเวชระเบียน โดยมีผู้แทนวิชาชีพร่วมตรวจสอบว่า เข้าข่ายมาตรา 36 เป็นกรณีฉุกเฉินวิกฤติหรือไม่ โรงพยาบาลมีการให้คำแนะนำอย่างไร การส่งตัวผู้ป่วยมีความปลอดภัยหรือไม่ ซึ่งการตรวจสอบข้อเท็จจริงคาดว่าใช้เวลาไม่นาน เนื่องจากไม่ใช่กรณีซับซ้อน แต่อาจจะต้องใช้เวลาในการขอความร่วมมือจากสภาวิชาชีพ แพทยสภา และราชวิทยาสูตินรีเวชแห่งประเทศไทยเข้ามาร่วมตรวจสอบ เพื่อให้ความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย
นพ.ธเรศ กล่าวอีกว่า เจ้าหน้าที่สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะได้เข้าไปที่โรงพยาบาลเอกชนเพื่อเก็บข้อมูล คาดว่าวันที่ 15 ตุลาคมนี้ จะรายงานข้อมูลมาให้ทราบทั้งหมด รวมถึงข้อมูลจากแม่เด็ก ซึ่งตอนแรก ไปรพ.รามาธิบดี แต่ล่าสุดทราบว่า ถูกส่งกลับไปที่โรงพยาบาลเอกชนต้นสังกัด
"กรณีนี้ประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาคือ เข้าข่ายฉุกเฉินหรือไม่ ซึ่งต้องดูเวชระเบียนบันทึกผลการตรวจขณะนั้น ถ้าไม่ฉุกเฉิน โรงพยาบาลเอกชนจัดระเบียบการส่งต่อ หรือให้คำแนะนำที่เหมาะสมหรือไม่ นอกจากนี้ต้องดูผลชันสูตรจาก รพ.รามาธิบดี ประกอบว่า เด็กมีปัญหาหรือมีความผิดปกติอะไรหรือไม่ ขณะเดียวกันต้องฟังความเห็นจากราชวิทยาลัย สูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเท่าที่ดูแล้วกรณีนี้ไม่ซับซ้อน เพราะฉะนั้นเมื่อประสานขอความเห็นไปคงใช้เวลาไม่นานในการพิจารณา" นพ.ธเรศ กล่าว
นพ.วชิระ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมีนโยบายเรื่องฝากท้องทุกที่ฟรีทุกสิทธิ หากจะให้ดียิ่งขึ้นรัฐบาลอาจจะต้องเพิ่มเรื่องคลอดทุกที่ด้วย แต่จะต้องเซตระบบให้มีความพร้อม 2 ด้าน คือ 1. สถานบริการ โดยแพทย์ พยาบาล ห้องคลอด อุปกรณ์ จะต้องมีความพร้อม และ 2.ระบบการตามจ่ายทั้ง 3 กองทุน จะต้องมีความพร้อมด้วย ขณะนี้คงต้องดำเนินการแค่เรื่องการฝากท้องทุกที่ฟรีทุกสิทธิก่อน ส่วนเรื่องการคลอดทุกที่โดยไม่ต้องสำรองจ่ายเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา
นพ.สุรเดช กล่าวว่า เท่าที่ทราบข้อมูล ผู้ป่วยรายนี้ได้ไปเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งรับผู้ป่วยสิทธิประกันสังคม ด้วยอาการปวดท้อง มีเลือดออก และแจ้งแพทย์ว่าประจำเดือนขาดมาแล้ว 2 เดือน แพทย์จึงตั้งสมมุติฐานว่าเป็นการตั้งครรภ์ จึงอัลตราซาวนด์ และตรวจภายใน พบว่า ปากมดลูกเปิดประมาณ 8 เซนติเมตร มีอาการใกล้คลอด โรงพยาบาลเอกชนแห่งนัน จึงอธิบายสิทธิให้คนไข้ทราบว่า สิทธิในการคลอดทั้งผู้ประกันตนเอง หรือภรรยาของผู้ประกันตน สามารถคลอดที่ใดก็ได้หากคลอดที่โรงพยาบาลรัฐราคาจะถูกกว่า และสามารถเบิกแบบเหมาจ่ายได้ 13,000 บาท แม้ค่าทำคลอดจะไม่ถึงจำนวนเหมาจ่ายก็ตาม จะทำให้มีเงินเหลือใช้ในการดูแลลูกทางโรงพยาบาล เอกชนจึงแนะนำให้ไปคลอดที่ รพ.ราชวิถี แต่สุดท้ายคนไข้กลับไปคลอดที่บ้าน
"การเบิกค่าทำคลอดสิทธิประกันสังคมผู้ประกันตนจะต้องจ่ายสมทบไม่ต่ำกว่า 7 เดือนภายใน 15 เดือน จึงจะได้สิทธิดังกล่าวซึ่งสามารถไปทำคลอดที่ใดก็ได้ตามความสะดวก ทั้งโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก โรงพยาบาลเอกชน หรือแม้แต่คลอดภายในรถ แท็กซี่ระหว่างทาง คลอดที่บ้าน ก็มีสิทธิได้ค่าทำคลอดทั้งหมด 13,000 บาท โดยมีสิทธิได้ รับเพียง 2 ท้อง แต่หากคู่สมรสเป็นผู้ประกันตนด้วยก็จะมีสิทธิรวมกัน คือ 4 ท้อง กรณีนี้ ต้องตรวจสอบว่า เคยเบิกค่าทำคลอดมาแล้วหรือไม่ แต่เท่าที่ทราบยังจ่ายสมทบไม่ครบ 7 เดือน ตามที่กำหนด โดยจ่ายเพียง 4 เดือนเท่านั้น" นพ.สุรเดช กล่าว
ต่อข้อถาม ปากมดลูกเปิด 8 เซนติเมตร ถือว่าเข้าข่ายกรณีฉุกเฉินหรือไม่ นพ.อุดม กล่าวว่า ตามประวัติพบว่า ปากมดลูกเปิดแล้ว 8 เซนติเมตร ถือเป็นฉุกเฉินสีเขียว คือ ฉุกเฉินแต่ไม่วิกฤติอันตรายถึงชีวิต ซึ่งโรงพยาบาลเอกชน คงพิจารณาแล้วว่า ขณะนั้นผู้ป่วยอยู่ไม่ไกลจาก รพ.ราชวิถี น่าจะสามารถเดินทางไปทำคลอดได้ทัน
วันเดียวกัน รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิผู้อำนวยการ รพ.รามาธิบดี กล่าว่า โรงพยาบาล กำลังดำเนินการชันสูตรศพกรณีนี้ คาดว่าภายใน 1-2 สัปดาห์ น่าจะทราบสาเหตุการเสียชีวิต ส่วนคนไข้รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเอกชนที่มีสิทธิประกันสังคม
ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภากล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่ทราบรายละเอียด จึงไม่อยากพูดไปก่อน ขอให้ทางผู้เกี่ยวข้อง คือสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะตรวจสอบข้อมูลให้ชัดเจนก่อน เมื่อขอความเห็นจากราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ผ่านแพทยสภา จึงจะให้ความเห็นได้ เพราะต้องพิจารณาจากเวชระเบียน และบันทึกทางการแพทย์ก่อนจะให้ความเห็นใดๆ ออกไป
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 15 ตุลาคม 2556
- 97 views