Hfocus -ในช่วงระหว่างวันที่ 10-13  ตุลาคม 2556 ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานการประชุมเครือข่ายฮอสพิซและการดูแลแบบประคับประคองแห่งเอเชียแปซิฟิค ครั้งที่ 10 (10TH ASIA PACIFIC HOSPICE CONFERENCE 2013) โดยมีธีมของการประชุมว่า Integration and harmony of wisdom โดยมีสมาคมบริบาลแห่งประเทศไทยเป็นแม่งานหลัก มีผู้เข้าร่วมประชุมนับพันคน ในการประชุมมีแพทย์ พยาบาล นักวิชาการ เจ้าหน้าที่ และ อาสาสมัคร จำนวนนับร้อยคนที่ทำงานด้านนี้จากหลากหลายประเทศ มานำเสนองานที่พวกเขาทำกันในหลายมิติ แม้แต่ประเทศที่อยู่ใกล้ๆ เรา อย่าง สิงคโปร์ หรือ มาเลเซีย ก็ทำงานในเรื่องนี้ก้าวหน้าไปเรามากกว่า ส่วนคนที่ไม่ได้อยู่ในวงการแพทย์อาจจะไม่คุ้นเคยกับคำว่า ฮอสพิซ (Hospice) หรือ การดูแลแบบประคับประคอง (palliative care) และคงมีคำถามว่าแปลว่าอะไร เป็นสถานที่อย่างไร บทความในวันนี้จะจึงถือเป็นโอกาสดีที่คุยกันในเรื่องนี้

กำเนิดของ Hospice

การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้ตายอย่างสงบนั้น มีมานานแล้ว เพียงแต่รูปแบบอาจจะแตกต่างกันไปตามยุคสมัย ในยุโรปสมัยก่อน ฮอสพิซ (Hospice) เป็นคำเรียกสถานที่พักพิงและดูแลผู้ป่วย มีรากศัพท์มาจากภาษาละตินว่า Hospes และ Hospitium มีหลายความหมาย อาจหมายถึง เจ้าของบ้าน แขก รวมไปถึงที่พักแรม ซึงตั้งขึ้นโดยบรรดาสำนักสงฆ์และกองกำลังของสำนักสงฆ์ต่างๆ ในคริสต์ศาสนา ในระหว่างสงครามครูเสด (Crusades)  (สงครามระหว่างชาวคริสต์กับชาวมุสลิมเพื่อแย่งชิงนครเยรูซาเล็ม ในคริสต์ศตวรรษที่ 11-13) เพื่อดูแลผู้เดินทางไปแสวงบุญยังดินแดนศักดิ์สิทธิ์ (นครเยรูซาเล็ม) คนป่วยจากโรคภัยต่างๆ และคนยากจน กล่าวโดยรวมคือ เป็นทั้งโรงแรม โรงพยาบาล และวัดไปพร้อมๆ กัน ฮอสพิซแห่งแรกก่อตั้งขึ้นในนครเยรูซาเล็ม โดยคณะอัศวิน Knights Hospitaller ในปี พ.ศ. 1551 (ค.ศ. 1080) ถือกันว่าเป็นต้นแบบของโรงพยาบาลในสมัยต่อมาด้วย ต่อมาในราวคริสต์ศตวรรษที่ 19 ได้เกิด Hospice อีกลักษณะหนึ่งขึ้นในยุโรป โดยปรากฏขึ้นที่ ฝรั่งเศส ไอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา ขอบเขตการดูแลถูกจำกัดแคบลง เป็นการดูแลผู้ป่วยใกล้ตาย แต่ยังคงดำเนินการโดยบุคลากรในคริสต์ศาสนา ส่วนสถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายอย่างที่รู้จักกันในปัจจุบัน เพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้เอง จากภารกิจเดิมของโรงพยาบาลสมัยแรกที่มุ่งดูแลกลุ่มคนยากจนและด้อยโอกาส รวมถึงผู้ป่วยสารพัดโรค กลายมาเป็นสถานที่ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายเป็นหลัก

 

 

ภาพของอัศวินในคณะ Knights Hospitaller หรือ nights of the Order of the Hospital of St. John of Jerusalem ที่มาภาพ: http://blog.templarhistory.com/wp-content/uploads/Hospitallers.jpg

การหลีกเลี่ยงและต่อสู้กับความตาย

เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ สังคมและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปจากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้สภาพแวดล้อมของการตายเปลี่ยนไปด้วย การตายและความตายที่เคยเป็นเรื่องเปิดเผยและใกล้ตัวของทุกคน คนเมื่อก่อนเคยตายกันในบ้านของตนเองท่ามกลางญาติมิตรที่แวดล้อม ก็เปลี่ยนเป็นการไปรักษาตัวในโรงพยาบาลและตายใต้วงล้อมของเครื่องมือช่วยชีวิตหลากหลายชนิด ผนวกกับทัศนคติของการแพทย์แบบตะวันตกสมัยใหม่ ที่มุ่งเน้นการรักษาให้หายจากโรคและฟื้นฟูสภาพร่างกายให้กลับเป็นเหมือนเดิม ความตายจึงเป็นตัวแทนของความล้มเหลวอย่างถึงที่สุดของกระบวนการทำงานภายของระบบการแพทย์แบบตะวันตกสมัยใหม่ พวกเขาจึงพากันหาทางหลีกเลี่ยงหรือทำการต่อสู้กับความตายให้ถึงที่สุด และด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่กำเนิดในช่วงปี พ.ศ. 2483-2513 เช่น ปอดเหล็กในการช่วยหายใจ หรือสายยางส่งอาหารไปยังกระเพาะของคนป่วย ได้กลายมาเป็นอาวุธสำคัญของแพทย์ในการต่อกรกับความตายได้มากขึ้น โดยการยื้อชีวิตผู้ป่วยให้นานที่สุด ทำให้ผู้ป่วยตายยากกว่าเดิม ซึ่งอาจหมายถึงการยืดเวลาของความล้มเหลวออกไป

นอกจากนี้แล้ว เมื่อมองการจัดการกับความทุกข์ของผู้ป่วยเอง ในสมัยก่อนหน้าที่จะเกิดแนวคิดเรื่องฮอสพิซและการดูแลแบบประคับประคอง   ผู้ป่วยต้องทนกับความเจ็บปวดและตายไปอย่างทรมาน เนื่องจากไม่ได้รับยาแก้ปวดที่มีประสิทธิภาพ เช่น มอร์ฟีน ในปริมาณที่สามารถต่อสู้กับความเจ็บปวดได้ เพราะความกลัวว่าผู้ป่วยอาจติดยา หรือในกรณีผู้ป่วยมะเร็ง แพทย์หลายคนไม่ยอมแม้แต่จะบอกให้ผู้ป่วยรู้ เพราะกลัวคำถามว่า “แล้วหมอจะทำอย่างไรต่อไป?” ซึ่งแพทย์เหล่านั้นไม่ทราบเหมือนกัน ทำให้ผู้ป่วยต้องใช้ชีวิตที่เหลืออยู่โดยไม่มีโอกาสเตรียมตัวรับความตายของตนเลย   แล้วความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้อย่างไร เราจะมาดูกันต่อในตอนต่อไป     

ผู้เขียน : นภนาท อนุพงศ์พัฒน์ หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์สุขภาพไทย