ไทยรัฐ - วันเสาร์สบายๆ วันนี้ ผมมีจดหมายจาก ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ มาให้อ่านกันครับ
“ความจริงบุหรี่ที่ขายในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคมที่ผ่านมา ควรจะต้องพิมพ์ ภาพคำเตือนขนาด 85% ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข แต่บริษัทบุหรี่ข้ามชาติ 3 บริษัทได้ฟ้องศาลปกครอง เพื่อให้ระงับการบังคับใช้ และให้วินิจฉัยว่าประกาศดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย และศาลปกครองได้ให้การคุ้มครองชั่วคราว จนกว่าจะตัดสินคดี”
ทำให้ประกาศภาพคำเตือน 85% ยังไม่มีผลบังคับใช้ในขณะนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าหดหู่อย่างยิ่ง ที่บริษัทบุหรี่ข้ามชาติสามารถที่แทรกแซง และยับยั้งกฎหมายที่กระทรวงสาธารณสุขออกมาเพื่อคุ้มครองสุขภาพของคนไทย
ตั้งแต่บริษัทบุหรี่ยื่นฟ้องศาลเมื่อปลายเดือนมิถุนายน สำนักควบคุมยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แทบจะไม่ต้องทำงานอื่น เพราะต้องทุ่มเทกำลังเจ้าหน้าที่และทรัพยากรเพื่อต่อสู้คดีนี้ โดยมี อาจารย์กฎหมายจากธรรมศาสตร์ และ จุฬาฯ มาช่วยกันทำงานกับนิติกรของกรมควบคุมโรค
เทียบไม่ได้กับบริษัทข้ามชาติผู้ฟ้องคดี ที่สามารถใช้เงินจ้างสำนักกฎหมายระหว่างประเทศ โดยบริษัทฟิลลิป มอร์ริส จ้างสำนักกฎหมายดิลลิกีแอนด์กิบบินส์ อินเตอร์เนชั่นแนล บริษัทบีเอที จ้างสำนักกฎหมาย
เฮอร์เบิร์ธ สมิธ ฟรีฮิลล์ (ประเทศไทย) และบริษัทแจแปนโทแบคโก จ้างสำนักกฎหมาย เอล เอช ฮอร์ริซอน
จึงเป็นการต่อสู้ระหว่าง ฝ่ายที่ต้องการคุ้มครองสุขภาพและชีวิตคน กับฝ่ายที่ต้องการปกป้องผลกำไรของธุรกิจ
ลองนึกภาพดูบริษัทบุหรี่ทั้ง 3 บริษัท มีกำไรในประเทศไทยปีละประมาณสามพันล้านบาท ถ้าโยนเงินสักร้อยล้านบาทเพื่อสู้คดีนี้ เขาก็ยังเหลือกำไรอีกสองพันเก้าร้อยล้านบาท หรือถ้าโยนเงินสักสองร้อยล้านบาท เขาก็ยังเหลือกำไรอีกสองพันแปดร้อยล้านบาท
มองในแง่ดี บริษัทบุหรี่ข้ามชาติว่าจ้างสำนักกฎหมายระหว่างประเทศว่าความให้ในศาลไทย แทนที่จะว่าจ้างสำนักกฎหมายไทย อาจจะเป็นเพราะ ไม่มีสำนักกฎหมายไทยที่เห็นแก่เงินทำคดีให้กับบริษัทบุหรี่ข้ามชาติ เพื่อเบ่งบารมีทำร้ายคนไทย
นายโจนาธาน ลิเบอร์แมน นักกฎหมายจากออสเตรเลีย ที่เดินทางมาให้คำแนะนำแก่ทีมกฎหมายไทย กล่าวว่า นักกฎหมายที่ไปทำคดีให้กับบริษัทบุหรี่ ต่างจากนักกฎหมายที่ทำคดีอื่น คดีอื่นนั้นส่วนใหญ่การกระทำผิดได้สำเร็จลงแล้ว นักกฎหมายไปช่วยว่าความ เป็นเรื่องที่เข้าใจและยอมรับได้ หรือแม้แต่ไปทำคดีให้ธุรกิจอื่นในการต่อสู้กับรัฐบาลที่ออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองประชาชน ก็ยังพอรับได้
แต่การไปช่วยว่าความให้บริษัทบุหรี่ เป็นการไปขัดขวางมาตรการที่จะช่วยชีวิตคน จึงเท่ากับไปช่วยให้บริษัทบุหรี่ทำความผิดต่อไป ทำร้ายคนต่อไป มาตรฐานจริยธรรมของนักกฎหมายเหล่านี้ คิดดูแล้วน่าสะอิดสะเอียน
นายโรเบิร์ท เคนเนดี้ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ กล่าวไว้เมื่อ ค.ศ. 1967 ในที่ประชุมบุหรี่หรือสุขภาพโลกครั้งที่หนึ่งว่า
“บริษัทบุหรี่พยายามส่งเสริมการขายสินค้าที่ทำลายสุขภาพ และฆ่าคนเพื่อผลกำไรทางธุรกิจ สินค้าบุหรี่ควรจะถูกห้ามขายไปนานแล้ว ถ้าไม่ใช่เพราะอำนาจเงินมหาศาลของษริษัทที่ผลิตสินค้านี้ บริษัทบุหรี่ได้แสดงถึงการขาดความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างสิ้นเชิง ทุกความพยายามใหม่ที่จะควบคุมสินค้านี้ จะได้รับการต่อต้านและหลีกเลี่ยง แต่เราจำเป็นที่จะต้องสู้อย่างเต็มที่ต่อไป เพราะเดิมพันคือสุขภาพและชีวิตของคนนับล้านในโลกนี้”
เมื่อสัปดาห์ที่แล้วก่อนเกษียณ คุณจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด เพิ่งสั่งฟ้อง บริษัทฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) กับพวก 14 คน ในข้อหา ร่วมกันแสดงราคานำเข้าบุหรี่ยี่ห้อมาร์ลโบโร และ L&M จากฟิลิปปินส์ ในราคาต่ำกว่าความจริง ทำให้รัฐเสียหายกว่า 68,000 ล้านบาท ส่อถึงพฤติกรรมของบริษัทบุหรี่ข้ามชาติได้เป็นอย่างดี.
ที่มา: http://www.thairath.co.th
- กระทรวงสาธารณสุข
- ศาลปกครอง
- ประกิต วาทีสาธกกิจ
- มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
- สำนักควบคุมยาสูบ
- กรมควบคุมโรค
- บริษัทฟิลลิป มอร์ริส
- สำนักกฎหมายดิลลิกีแอนด์กิบบินส์ อินเตอร์เนชั่นแนล
- บริษัทบีเอที
- บริษัทแจแปนโทแบคโก
- สำนักกฎหมาย เอล เอช ฮอร์ริซอน
- โจนาธาน ลิเบอร์แมน
- ออสเตรเลีย
- โรเบิร์ท เคนเนดี้
- จุลสิงห์ วสันตสิงห์
- 3 views