โพสต์ทูเดย์ - กฎหมายบังคับไว้ ผู้ที่ทำงานโดยมีนายจ้างทุกคนต้องเข้าสู่การเป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ภายใต้หลักการ "เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข"
หลายคนเข้าใจว่าประกันสังคม คือ สิทธิรักษาพยาบาลเท่านั้น แต่ข้อเท็จจริง คือ ประกันสังคมยังให้สิทธิอีก 6 ด้าน ประกอบด้วย คลอดบุตรสงเคราะห์บุตร ว่างงาน ชราภาพ ทุพพลภาพ และเสียชีวิต
ในแต่ละเดือนมนุษย์เงินเดือนจะถูกหักเงินสมทบสำหรับ 7 สิทธิประโยชน์รวมแล้ว 5% แต่ไม่เกิน 750 บาท
นอกจากนี้ กฎหมายยังกำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายสมทบอีก 5% และรัฐบาลอีก2.5% รวมแล้วแต่ละเดือนจะมีเงินเข้ากองทุน 12.5%
ปัจจุบันกองทุนประกันสังคมมีผู้ประกันตนร่วม 10 ล้านคน มีเงินในกองทุนหมุนเวียนร่วม 1 ล้านล้านบาท
อย่างไรก็ดี ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ ผู้ประกันตนกลับเป็นคนกลุ่มเดียวที่ต้องจ่ายสมทบค่ารักษาพยาบาล ขณะที่บัตรทองและข้าราชการมีรัฐบาลดูแลให้และผู้ที่ต้องจ่ายเงินกลับได้รับสิทธิประโยชน์บางรายการด้อยกว่าของฟรี
นี่คือความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในระบบสุขภาพในปัจจุบัน
ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 8 ตุลาคม 2556
- 17 views