แนะ มท.จับมือสปสช.ตั้งกองทุนค่ารักษาพยาบาลให้ ขรก.ท้องถิ่น
เมื่อวันที่ 30 ก.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ขอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมาย กรณีสิทธิในการรับบริการสาธารณสุขตามระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบบประกันสังคม และระบบสวัสดิการข้าราชการให้มีประสิทธิภาพและทั่วถึงยิ่งขึ้น ทั้งนี้ กสม.มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 7 ข้อ คือ 1.กระทรวงสาธารณสุขควรทบทวนแนวคิดและวิธีจัดบริการและระบบบริการสาธารณสุขของประเทศบนฐานหลักความเสมอภาค โดยให้ประเภทและมาตรฐานของบริการสาธารณสุขตามระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นบริการขั้นพื้นฐานและที่จำเป็นแก่ทุกคนโดยไม่เสียค่าบริการ ขณะที่ผู้รับบริการและผู้มีสิทธิที่มีกองทุนหรือระบบบริการสาธารณสุขอื่นดูแลโดยเฉพาะ สามารถได้รับบริการสุขภาพหรือสาธารณสุขอื่นเพิ่มเติมได้
นายภักดีหาญส์ กล่าวอีกว่า 2.กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ควรทบทวนแนวคิดและวิธีจัดบริการสาธารณสุข โดยแยกบทบาทระหว่างผู้ให้บริการและผู้ซื้อบริการ โดยให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานกลางรับผิดชอบกำหนดนโยบายและหลักเกณฑ์การบริการสาธารณสุข และกระจายอำนาจการบริหารจัดการหน่วยบริการหรือโรงพยาบาลไปยังเขตพื้นที่ นอกจากนี้ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบกองทุนหรือระบบบริการสาธารณสุข ได้แก่ สปสช. สำนักงานประกันสังคม กรมบัญชีกลาง หรืออื่นใดที่เป็นผู้ซื้อบริการ ให้หารือกับกระทรวงสาธารณสุขหรือเขตพื้นที่เพื่อกำหนดนโยบายการจัดบริการสาธารณสุขภายใต้ระบบบริการนั้นๆ
3.กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) และองค์กรกลางบริหารงานบุคคลทุกแห่ง ควรทบทวนนโยบายและแนวคิดว่าด้วยสวัสดิการและสวัสดิการด้านสุขภาพของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัด รวมถึง โดยจัดให้มีกลไกรับผิดชอบดูแลสวัสดิการและสวัสดิการด้านสุขภาพของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐฯ เพื่อประกันว่าข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐจะได้รับการดูแลสวัสดิการต่างๆไม่ต่ำกว่าบริการสุขภาพขั้นพื้นฐานตามระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสามารถรับบริการในโรงพยาบาลอื่นที่ไม่ใช่โรงพยาบาลรัฐ รวมถึงดูแลความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมการทำงานหรือสถานประกอบการ
นายภักดีหาญส์ กล่าวว่า 4.กระทรวงสาธารณสุขและ สปสช.ควรแยกค่าใช้จ่ายในส่วนของเงินเดือนและค่าตอบแทนบุคลากรออกมาต่างหากจากการจ่ายเงินให้แก่หน่วยบริการหรือเครือข่ายหน่วยบริการสาธารณสุข 5.กระทรวงสาธารณสุขควรสนับสนุนและผลักดันให้จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้รับบริการ เมื่อเกิดความเสียหายที่เกิดจากการรักษาพยาบาล 6.กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย และกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ควรหารือกันถึงการจัดสวัสดิการและสวัสดิการด้านสุขภาพสำหรับข้าราชการส่วนท้องถิ่น เช่น การตั้งกองทุนการรักษาพยาบาล และการหาแนวทางเพื่อให้ข้าราชการท้องถิ่นสามารถใช้ระบบเบิกจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาลได้เช่นเดียวกับข้าราชการอื่น.
7.กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรทบทวนนโยบายการปฏิรูประบบสาธารณสุขแก่ผู้บริหารองค์การด้านสุขภาพ ได้แก่ สปสช. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) (สรพ.) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และโรงพยาบาลบ้านแพ้ว(องค์การมหาชน) ควรตระหนักและให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรสุขภาพหรือคณะกรรมการด้านสุขภาพอื่นๆที่มีอยู่ ทั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงมหาดไทยเห็นด้วยกับข้อเสนอของ กสม. จึงได้ร่วมกับ สปสช.จัดตั้งกองทุนค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ซึ่งตอนนี้กำลังจะออกกฎหมายและแก้ไขระเบียบที่เกี่ยวข้อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุม ครม.มีมติมอบหมายให้กระทรวงการคลัง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงาน ก.พ. รับข้อเสนอแนะทั้งหมดของกสม.ไปดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน.
ที่มา: http://www.dailynews.co.th
- ภักดีหาญส์ หิมะทองคำ
- สำนักนายกรัฐมนตรี
- คณะรัฐมนตรี
- คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.)
- ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
- ระบบประกันสังคม
- ระบบสวัสดิการข้าราชการ
- กระทรวงสาธารณสุข
- กรมบัญชีกลาง
- กระทรวงการคลัง
- สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.)
- องค์กรกลางบริหารงานบุคคล
- กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
- กระทรวงมหาดไทย
- กระทรวงแรงงาน
- สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
- 5 views