บ้านเมือง - กระทรวงสาธารณสุข ได้มอบให้สำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย (สสอป.) เป็นเจ้าภาพบูรณาการ ขับเคลื่อนนโยบายลงสู่การปฏิบัติในพื้นที่โดยความร่วมมือจากกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย และผู้ว่าราชการจังหวัด ผลักให้เป็นนโยบายของจังหวัดและท้องถิ่น ส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ระหว่างบุคลากรในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) นายกเทศมนตรี เจ้าหน้าที่ใน อบต. เทศบาล ครู ผู้ปกครอง แม่ครัว ผู้ประกอบการร้านค้าอาหาร และนักเรียนแกนนำ อย.น้อย และโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ ในแต่ละจังหวัด แต่ละอำเภอและตำบล ให้เฝ้าระวังดูแลอาหารกลางวัน นม และน้ำดื่ม ที่ให้บริการ หรือจำหน่ายแก่เด็กนักเรียนและเด็กเล็กทั้งในโรงเรียนและบริเวณหน้าโรงเรียน เป็นการกระตุ้นให้ผู้บริหารต่างๆ และหน่วยงานในเขตพื้นที่การศึกษา และผู้ดูแลศูนย์เด็กเล็ก เข้ามาให้ความสำคัญและตระหนักถึงคุณภาพอาหาร ความสะอาด อาหารปลอดภัย และโภชนาการของเด็กมากขึ้น ให้ผู้ปกครองได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเฝ้าระวัง และจัดเตรียม จัดหาอาหารที่ปลอดภัย พร้อมทั้งเตรียมพร้อมเพื่อจัดการกับเหตุการณ์ฉุกเฉินเมื่อเด็กป่วยจากอาหารเป็นพิษได้
นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดเตรียมแผนรับมือความปลอดภัยด้านอาหารในกรณีที่เกิดภาวะฉุกเฉิน เมื่อมีการค้าขายในกลุ่มประชาคมอาเซียนอย่างเสรีกว้างขวางมากขึ้นในระยะต่อไป
น.พ.ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เมื่อปี 2555-2556 กระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย (สสอป.) ได้เป็นแกนหลักจัดทำแผนรับมือความปลอดภัยด้านอาหาร (National Food Safety Emergency Response plans) ทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาคอาเซียน เน้นการเตรียมความพร้อมในระดับประเทศระหว่างกรม/กระทรวงต่างๆ รวมทั้งภาคเอกชน และความพร้อมระหว่างประเทศ ในการสอบสวนหาสาเหตุที่มาของอันตรายจากอาหาร การประเมินความเสี่ยง การสื่อสารความเสี่ยง และการบริหารจัดการความปลอดภัยด้านอาหาร รวมถึงแนวทางการเรียกคืนสินค้าที่มีปัญหา ซึ่งต้องมีผู้ประกอบการเข้ามามีส่วนร่วมกับภาครัฐในการตรวจสอบ โดยมีการทำงานร่วมกับองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ และองค์การอนามัยโลก รวมถึงการแจ้งเตือนในภาวะฉุกเฉินที่มีเครือข่ายระหว่างประเทศ ที่เรียกว่า อินโฟแซน "INFOSAN" (International Food Safety Authorities Network) ซึ่งต้องทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงานอาหารปลอดภัยฉุกเฉินระหว่างประเทศ ที่ประเทศไทยต้องปฏิบัติตามพันธกิจที่กำหนดไว้ในกฎอนามัยระหว่างประเทศ (International Health Regulation, IHR 2005)
โดยในปี 2557 ที่จะถึงนี้กระทรวงสาธารณสุขเริ่มโครงการ "สุขภาพดีเริ่มต้นที่นี่" (Good Health Start Here) ที่เน้นเรื่องความรู้ ความเข้าใจ ด้านสุขภาพ และให้เกิดความตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพตลอดเวลา จึงมีแผนงานกระตุ้นความเข้มแข็งของศูนย์ประสานงานดังกล่าวให้สามารถเชื่อมโยงข้อมูลความปลอดภัยอาหารได้ทั้งประเทศ รวมทั้งเครือข่ายการประสานงานระหว่างประเทศเพื่อรองรับการเปิดประชาคมอาเซียน ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งสำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย (สสอป.) เป็นจุดประสานความร่วมมือดังกล่าว ระหว่างกรม กระทรวง และระหว่างประเทศ ปัจจุบันมีเครือข่ายภาครัฐรวม 12 หน่วยงาน ได้แก่ 1.สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา 2.กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 3.กรมอนามัย 4.กรมควบคุมโรค 5.กรมปศุสัตว์ 6.กรมประมง 7.กรมวิชาการเกษตร 8.กรมการค้าต่างประเทศ 9.กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ 10.กรมศุลกากร 11.สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ และ 12.สำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย ซึ่งจะเป็นสิ่งสำคัญในการดำเนินการ Good Health Start Here หรือ "สุขภาพดีเริ่มต้นที่นี่"
"ต่อไปจะมีการเพิ่มเติม กรมการข้าว กรมการท่องเที่ยว สำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และองค์กรที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งจะเชื่อมโยงไปยังเครือข่ายในภูมิภาคทั่วประเทศทั้ง 76 จังหวัด ที่มีคณะกรรมการอาหารปลอดภัยระดับจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน ซึ่งมีสำนักงานสาธารณสุขทำหน้าที่เป็นเลขานุการอยู่แล้ว เพื่อให้การทำงานเตือนภัยและดูแลอาหารปลอดภัยคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างทั่วถึง เกิดการบูรณาการ และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศในประชาคมอาเซียนได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึงจริงๆ" น.พ.ชาญวิทย์ กล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง วันที่ 5 ตุลาคม 2556
- 15 views