บางกอกทูเดย์ - 3 ประสานของ 2 หน่วยงานรัฐ คือคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับ ภาคเอกชน คือ บริษัท แปซิฟิค ไบโอเทค จำกัด พัฒนาชุดตรวจเชื้อเอดส์ดื้อยา และทดสอบคุณภาพเป็นผลสำเร็จแล้ว
ทั้งนี้การพัฒนาการตรวจหาเชื้อเอชไอวีดื้อยาของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มมาตั้งแต่ปี 2537 โดยทีมวิจัยของ ดร.สุณี ศิริวิชยกุล ศ.น.พ.ประพันธ์ ภานุภาค และศ.น.พ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ซึ่ง ดร.สุณี ได้ผ่านการฝึกอบรมที่อเมริกา มี Professor Scott Hammer แห่ง Harvard Medical School เป็นครูพี่เลี้ยง ซึ่งการตรวจหาเชื้อ HIV ที่ดื้อยาขณะนั้น ต้องเพาะเชื้อจากผู้ติดเชื้อแล้วใส่ยาต้านไวรัสลงไปเพื่อประเมินผลว่ายาสามารถควบคุมการแบ่งตัวของเชื้อได้มากน้อยเพียงใด วิธีนี้เรียกว่า Phenotypic assay แต่การเพาะเชื้อ HIV จากเลือดของผู้ป่วยมีขบวนการที่ยุ่งยาก ต้องใช้เวลาเป็นเดือน ค่าใช้จ่ายสูง จึงไม่เป็นที่นิยม ต่อมาจึงมีการพัฒนาชุดตรวจและวิธีหาเชื้อดื้อยาโดยการตรวจสายพันธุกรรมที่กลายพันธุ์ไปออกมาจำหน่าย เรียกชื่อวิธีนี้ว่าGenotypic assay ในปี 2539 มีการก่อตั้งศูนย์ความร่วมมือวิจัยด้านโรคเอดส์ระหว่าง 3 ประเทศ คือ เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย และไทย หรือ The HIV Netherlands Australia and Thailand Research Collaboration (HIV-NAT) ขึ้นที่ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย โดย ศ.น.พ.ประพันธ์ ร่วมกับ Professor David Cooper และ Professor Joep Lange ทำการศึกษาวิจัยยาต้านไวรัสเอดส์ที่เหมาะกับคนไทย แต่ชุดตรวจเชื้อดื้อยาที่นำเข้ามีราคาแพง จึงได้สนับสนุน ดร.สุณี ให้ศึกษาและพัฒนาวิธีการตรวจหาเชื้อดื้อยาโดยวิธี in house Genotypic assay ขึ้นมาใช้ในห้องปฏิบัติการที่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อการวิจัยพร้อมการประกันคุณภาพกับเครือข่ายนานาชาติด้านประกันคุณภาพการตรวจเชื้อเอดส์ดื้อยา และมีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารชั้นนำของโลกด้านโรคเอดส์อย่างต่อเนื่อง
วิธีตรวจที่พัฒนาขึ้นนี้มีราคาถูกกว่าชุดทดสอบสำเร็จรูปที่ นำเข้า ประมาณครึ่งหนึ่ง (ราคาประมาณ 10,000 บาทในขณะนั้น) เพื่อให้ผู้ติดเชื้อเข้าถึงการตรวจศ.น.พ.ประพันธ์ จึงนำมาเปิดให้บริการที่คลินิคนิรนาม สภากาชาดไทย ตั้งแต่ปี 2545 และได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่หน่วยงานทั้งไทยและต่างประเทศ เช่น คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ University of Malaya Medical Centre เป็นต้น
ปัญหาการระบาดของโรคเอดส์ยังคงเป็นปัญหาของทั่วโลก ในประเทศไทยปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อที่กำลังรักษาด้วยยาต้านไวรัสอยู่อย่างน้อย 200,000 ราย ขณะที่ทั่วโลกมีประมาณเกือบ 10 ล้านคน และจากการประกาศของ WHO ในปีนี้ได้แนะนำให้เริ่มรักษาเร็วขึ้นคือ ที่ CD4 ต่ำกว่า 500 คาดว่า จะมีผู้ติดเชื้อที่ต้องรับประทานยาเพิ่มขึ้นประมาณ 25 ล้านคน ซึ่งโดยทั่วไปจะมีอัตราการดื้อยาที่ประมาณ 15-25% แล้วแต่กลุ่มประชากร ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีชุดตรวจที่มีคุณภาพแต่ราคาถูกเพื่อผู้ป่วยทั่วโลก จึงเป็นแรงบันดาลใจและเป็นจุดเริ่มต้น ให้ศ.นพ.เกียรติ และคณะจับมือกันอย่างจริงจังกับภาคเอกชน คือ บริษัท แปซิฟิค ไบโอเทค ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคอุตสาหกรรม และร่วมมือกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก และมาตรฐานสากล ISO 15189 สำหรับห้องปฏิบัติการ และ ISO17043 สำหรับการประเมินคุณภาพห้องปฏิบัติการตรวจเชื้อเอชไอวีดื้อยาต้านไวรัสแห่งชาติ มีส่วนร่วมในการทดสอบ และประเมินผลทั้งหมดของชุดน้ำยานี้
ชุดตรวจที่ทำสำเร็จแล้วนี้ถูกตั้งชื่อว่าPolGeneฎ โดยมีแหล่งทุนสนับสนุน ได้แก่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. ทุนเมธีวิจัยอาวุโส (สำหรับ ศ.น.พ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม) สกว. ทุนมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ สกอ. และทุนงบประมาณแผ่นดิน วช.
นายทศพล พิชญโยธิน ในฐานะผู้บริหารบริษัท แปซิฟิค ไบโอเทค กล่าวว่า บริษัทดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตและจำหน่ายชุดตรวจวินัจฉัยโรคชนิดเร็ว (Diagnostic Rapid Test Kit) มีทั้งแบบนำเข้าและรับจ้างผลิต มากว่า 10 ปีแล้ว โดยเป็นหนึ่งในบริษัทที่อยู่ในกลุ่มบริษัท BRIA ซึ่งแตกไลน์มาจาก บริษัท กรุงเทพ อาร์ไอเอแล็บ จำกัด ที่เป็นแล็บเอกชนแห่งแรกในประเทศไทย และตลอด 30 ปีของกลุ่มบริษัท BRIA ได้มีส่วนร่วมในโครงการพัฒนางานวิจัยของภาครัฐหลายโครงการ
สำหรับโครงการชุดทดสอบการดื้อยาในผู้ป่วยโรคเอดส์นี้ บริษัทได้มีการพัฒนาต่อยอดงานวิจัย และได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากภาครัฐ โดยสถาบันทรัพย์สินทางปัญญาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้การสนับสนุนโครงการ แปลงเทคโนโลยีเป็นทุน จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ในปี 2554 เพื่อพัฒนากระบวนการผลิตตามแนวคิดนวัตกรรมรวมถึงการพัฒนาและทดสอบประสิทธิภาพของชุดตรวจ โดยได้รับความร่วมมือในการทดสอบประสิทธิภาพของชุดตรวจจากห้องปฎิบัติการ 3 แห่ง ภายใต้การดูแลของ ดร. สุณี ในส่วนของห้องปฏิบัติการ VCI ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ดร. สิริพรรณ แสงอรุณ ในส่วนของห้องปฏิบัติการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข และดร.เสาวลักษณ์ ด่านสกุล ในส่วนของห้องปฏิบัติการอณูชีววิทยา บริษัทกรุงเทพ อาร์ไอเอแล็บ จำกัด เมื่อขั้นตอนทดสอบประสิทธิภาพจากห้องปฏิบัติการทั้ง 3 แห่งเสร็จสิ้นลง ทางบริษัทก็จะวางแผนการจัดจำหน่ายชุดทดสอบดังกล่าวต่อไป
ทั้งนี้การตรวจการดื้อยาของเชื้อ HIV-1 ยังคงมีราคาสูงมาก ทำให้ผู้ป่วยบางกลุ่มไม่สามารถเข้าถึงการตรวจวินิจฉัยได้ การร่วมมือกับภาครัฐในการพัฒนาชุดตรวจในครั้งนี้ จึงมุ่งเน้นการลดต้นทุนการตรวจ เพื่อให้ผู้ป่วยทุกระดับชั้นเข้าถึงการตรวจได้อย่างไรก็ตามในด้านการตลาดก็ยังคงหวังให้ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ให้การสนับสนุนร่วมผลักดันปรับเปลี่ยนจากวิธีการตรวจที่ต้องใช้ Commercial Kit ซึ่งน้ำยาจากต่างประเทศมีราคาสูง มาเป็นการตรวจแบบ In House ที่ได้รับการทดสอบประสิทธิภาพและประสิทธิผลเทียบเท่า เพื่อใช้ในการตรวจการดื้อยาของเชื้อHIV-1 ได้แพร่หลายมากขึ้น รวมทั้งยังมุ่งหวังว่าจะไม่ใช่เพียงแค่ลดการนำเข้า แต่ต้องการส่งออกในอนาคตด้วย
ล่าสุดได้มีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ การตรวจเชื้อ HIV ดื้อยาโดยวิธี Genotypic Assay เพื่อแนะนำชุดตรวจกับศูนย์บริการตรวจห้องปฏิบัติการประมาณ 30 แห่งทั่วประเทศ เพื่อนำไปใช้จริงและให้การประเมินเพื่อปรับปรุงต่อยอดสำหรับการขึ้นทะเบียนชุดตรวจสำหรับจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศต่อไปในเร็วๆ นี้ โดยได้รับความร่วมมือจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข ในการจัดเตรียมสถานที่และเครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่ใช้ในการจัดอบรม--จบ--
ที่มา: หนังสือพิมพ์บางกอกทูเดย์ วันที่ 5 - 7 ต.ค. 2556--
- 94 views