คณะแพทย์ จุฬาฯ เปิดโชว์ศูนย์ฝึกทักษะเสมือนจริง CHAMPS จุฬาฯ รร.แพทย์เป็นที่แรกในไทย หวัง เตรียมความพร้อมเพิ่มความมั่นใจให้แพทย์ก่อนใช้รักษาจริง เพื่อลดความเสี่ยงและให้คนไข้ได้รับประโยชน์สูงสุด
วันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เปิดโชว์ศูนย์ฝึกทักษะเสมือนจริงทางการแพทย์ (ศูนย์ CHAMPS จุฬาฯ) ซึ่งเป็นโรงเรียนแพทย์แห่งแรกในประเทศไทย ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานในระดับนานาชาติ Offical Accreditation (Provisional) จาก SSH - Society for Simulation in Healthcare สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นมาตรฐานเช่นเดียวกับศูนย์ฝึกทักษะเสมือนจริงด้านสุขภาพในโรงเรียนแพทย์ชั้นนำของโลกและในแถบทวีปเอเชีย อย่าง มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด มหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์ มหาวิทยาลัยเยล มหาวิทยาลัยดุ๊กร่วมกับมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงค์โปร (Duke-NUS) และมหาวิทยาลัยกาแพทย์ไทเป (TMU) เป็นต้น โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2564 ไปจนถึงสิ้นปี 2566
ทางศูนย์ CHAMPS จุฬาฯ ได้มีการนำเทคโนโลยีเสมือนจริงมาใช้ในการเรียนการสอน พร้อมทั้งพัฒนานวัตกรรมการบริการ รวมทั้งการรักษา จัดหาอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ และนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วย
รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดี คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผอ.รพ.จุฬาฯ กล่าวว่า การมีความรู้ควบคู่กับทักษะเป็นสิ่งจำเป็นมากในปัจจุบัน ดังนั้นศูนย์ CHAMPS จุฬาฯ จึงจัดตั้งขึ้นมาเพื่อพัฒนา ฝึกฝนทักษณะของบุคลากรทางการแพทย์ให้มีความรู้ควบคู่กับทักษะการรักษาที่มีประสิทธิภาพแม่นยำและมีความพร้อมมากที่สุดก่อนจะนำไปลงมือรักษากับผู้ป่วยจริง
เพื่อลดความผิดพลาดจากการักษาและเพิ่มความปลอดภัยของผู้ป่วย อีกทั้งเพื่อเตรียมความพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงของศาสตร์ทางการแพทย์ปัจจุบันและในอนาคต เพื่อตอบโจทย์สังคมรวมถึงตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อีกด้วย
ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสิทธุ อดีตคณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ศูนย์ CHAMPS จุฬาฯ นี้เป็นการร่วมมือกันระหว่าง 2 ศูนย์ฯ คือ ศูนย์ฝึกทักษะทางการแพทย์เสมือนจริง (Clinical Skill and Simulation Center : CSSC) และ ศูนย์ฝึกกู้ชีพและฝึกทักษะเสมือนจริง (Simulation and CPR Training Center : SCTC) ซึ่งได้เปิดไปแล้วเมื่อ 3 กันยายน พ.ศ. 2563 ซึ่งในศูนย์ฯ เปิดให้มีการฝึกทักษะขั้นพื้นฐานไปจนถึงขั้นสูง
โดยผู้เข้าอบรมจะได้เรียนรู้การใช้เครื่องมือต่าง ๆ กับหุ่นจำลองจนได้ทักษะที่คล่องแคล่ว เช่น การแทงเข็มน้ำเกลือ การกู้ชีพ และการทำหัตถการที่ซับซ้อนไปจนถึงหัตถการขั้นสูงเฉพาะทาง เช่น การผ่าตัดอวัยวะในช่องท้อง การผ่าตัดโรคตา โรคหัวใจหรือสมอง เป็นต้น
รวมถึงมีการใช้วีดีโอการสอนแบบ 3 มิติ โดยใช้เทคโนโลยี Virtual Reality (VR) มาช่วยเพิ่มความเสมือนจริงมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ผู้อบรมจะได้รับการฝึกทักษะด้านการสื่อสาร การสนทนากับผู้ป่วย การจำลองสถาณการณ์ต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า รวมทั้งการฝึกฝนการทำงานร่วมกับคนอื่น (Teamwork)
ด้านผศ.นพ.สุชัย สุเทพารักษ์ ประธานคณะกรรมการบริหารศูนย์ฝึกทักษะการแพทย์เสมือนจริง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงจุดเด่นของศุนย์ฯ ว่า สามารถรวบรวมบุคลากรที่มีความชำนาญในแต่ละด้านมาทำงานร่วมกัน จึงทำให้มีความยืดหยุ่นสูงในการเรียนการสอนและการปฏิบัติงาน ทำให้ทรัพยากรที่มีจำกัดสามารถตอบสนองความต้องการอันหลากหลายได้ เช่น เป็นทั้งที่ฝึกสอนทั้งในกลุ่มนิสิตแพทย์ กลุ่มแพทย์ประจำบ้านหรือแพทย์ทุกระดับได้ รวมถึงใช้เป็นที่ฝึกการทำงานกับผู้ป่วยโรคโควิด-19 ได้ด้วย
สำหรับบุคลากรภายนอกไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลต่าง ๆ หน่วยงานด้านสาธารณสุขหรือหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องที่สนใจเข้าฝึกอบรม สามารถแจ้งความประสงค์ได้โดยตรง ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งที่ตั้งของศูนย์ CHAMPS ทั้ง 2 แห่งของจุฬาฯ ได้แก่
- ศูนย์ฝึกทักษะการแพทย์เสมือนจริง อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ ชั้น 11 มีห้องเรียนสำหรับฝึกปฏิบัติ 5 ห้อง
- ศูนย์กู้ชีพและฝึกทักษะเสมือนจริง อาคาร ส.ธ. ชั้น 16 มีห้องเรียนสำหรับฝึกปฏิบัติ 8 ห้องเล็ก 2 ห้องใหญ่
และในส่วนของศูนย์ฝึกทักษะกู้ชีพ ได้เตรียมนำมาใช้อบรมในส่วนของประชาชนทั่วไปด้วย
- 414 views