หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ - “ปฏิรูประบบสุขภาพ” แผน 5 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2556–2560เป็นปรากฏการณ์ล่าที่เกิดขึ้นกับกระทรวงสาธารณสุข ที่ดูเหมือนจะเป็นกระแสปฏิวัติระบบสุขภาพประเทศไทยครั้งยิ่งใหญ่
นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่า การปฏิรูประบบสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการการรักษาพยาบาลส่งเสริมสุขภาพได้ทุกระดับอย่างครอบคลุมและทั่วถึง
ที่ผ่านมา...ประเทศไทยดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เป็นเรื่องที่ได้รับเสียงชื่นชมจากนานาชาติ และเป็นต้นแบบให้กับหลายๆ ประเทศนำไปปรับปรุงระบบสุขภาพภายในประเทศให้ดียิ่งขึ้น
ปัญหามีว่า...หากดูข้อมูลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของคนไทย ยังคงสูงถึงปีละกว่า 3 แสนล้านบาท ก็อาจอนุมานได้ว่า “ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้จริง แต่ยังไม่ได้มีสุขภาพที่ดีอย่างแท้จริง”
เมื่อเป็นเช่นนั้น จำเป็นต้องเร่งแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นทาง คือ “ปรับปรุงคุณภาพ” และ “ประสิทธิภาพ”...ของการให้บริการ ลดการเจ็บป่วยด้วยโรคที่ป้องกันได้ และส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี
พร้อมกันนี้ ก็พัฒนาระบบบริการที่มีอยู่ให้มีศักยภาพในการให้บริการที่กว้างขวางและครอบคลุมมากขึ้น ...ทั้งหมดเหล่านี้เป็นที่มาของ “นโยบายปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุข”
โดยมีเป้าหมายให้ประชาชนทั่วประเทศได้รับบริการที่ดี มีคุณภาพมาตรฐานอย่างเท่าเทียม ทั่วถึง และเป็นธรรม จากสถานบริการใกล้บ้านหรือในพื้นที่ใกล้เคียง ไม่ต้องเสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางมารับบริการถึงในกรุงเทพฯ
กระบวนการรักษาที่มีประสิทธิภาพจะเชื่อมโยงการทำงานของสถานบริการในสังกัดทุกระดับเป็นเครือข่าย ตั้งแต่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลศูนย์...โรงพยาบาลทั่วไป จนถึงศูนย์เชี่ยวชาญแต่ละสาขา มีการประสานการบริการการรับ-ส่งต่อผู้ป่วยระหว่างกันแบบไร้รอยต่อมุ่งพัฒนาความเชี่ยวชาญระบบบริการ ใน 10 สาขาหลักได้แก่ สาขาหัวใจและหลอดเลือด, สาขามะเร็ง, สาขาทารกแรกเกิด, สาขาอุบัติเหตุ, สาขาจิตเวช, สาขาบริการหลัก 5 สาขา ได้แก่ สูติกรรม ศัลยกรรม อายุรกรรม กุมารเวชกรรม กระดูกและข้อ, สาขาบริการปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และดูแลสุขภาพองค์รวม, สาขาทันตกรรม, สาขาไตและตา และสาขาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD)
ลงลึกในรายละเอียด... “โรคมะเร็ง อุบัติเหตุ โรคหัวใจ โรคความดัน โลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง โรคปอด ฯลฯ เป้าหมายคือ เราต้องจัดการโรคเหล่านี้... ทำอย่างไรจะทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการ จัดการปัญหาที่ประชาชนประสบอยู่ให้ได้”
แต่ละพื้นที่มีอัตราการตายด้วยโรคต่างๆ ไม่เท่ากัน ทำไมบางแห่งเสียชีวิตมากกว่าที่อื่น เช่นโรคหัวใจเพราะไม่มีหมอผ่าตัดหัวใจ...ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกัน คุณหมอประดิษฐ บอกว่า ถ้าแบ่งเขตบริการสุขภาพจะช่วยได้ แล้วก็สามารถให้บริการเบ็ดเสร็จในแต่ละเขต
โดยมีเป้าหมาย...ลดอัตราการตายให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน ให้เกิดความเท่าเทียมกันทั้ง 12 เขตทั่วประเทศ
สรุปประเด็นสำคัญในการปฏิรูปก็คือ... 1) ลดอัตราตาย 2) ลดอัตราป่วย 3) เข้าถึงบริการ และ 4)การไม่ต้องรอคิวรักษานาน เช่นคิวผ่าตัด ต้อกระจก คิวผ่าตัดโรคหัวใจ นอกจากนี้ ยังหมายถึงประสิทธิภาพด้วย
คำถามที่ต้องย้ำไปถึงเจ้ากระทรวงสาธารณสุข “ปฏิรูประบบสุขภาพ”...แล้วประชาชนจะได้มากกว่าเสียจริงๆ หรือเปล่า
นพ.ประดิษฐ บอกว่า ภายในทศวรรษต่อไป คนไทยทุกคนจะมีสุขภาพแข็งแรงเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิด...“สุขภาพดี เริ่มต้นที่นี่ กระทรวงสาธารณสุข”
อย่างที่กล่าวไปแล้ว ประชาชนจะได้คุณภาพการบริการสูงขึ้นโดยเฉพาะในเขตสุขภาพ ...การเข้าถึงบริการทั่วถึงเป็นธรรมมากขึ้น...
บริการคุณภาพอยู่ใกล้บ้านมากขึ้น ลดต้นทุนของประชาชน...ระบบส่งต่อที่ไร้รอยต่อ...การกำกับมาตรฐานและวิชาการเข้มข้นขึ้น...ชะลอการขยายตัวต้นทุนบริการในขณะที่ผลลัพธ์ไม่ด้อยลง
สุดท้าย...คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น มีสุขภาพดีที่ยืนยาวขึ้น โดยตั้งเป้าอายุคาดเฉลี่ยของการมีสุขภาพดี (Healthy Adjusted Life Expectancy : HALE) อยู่ที่ 72 ปี
นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เสริมว่า นโยบายปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุขขั้นปฏิบัติจะมีการกระจายอำนาจในการบริหารจัดการลงไปในระดับพื้นที่ โดยแบ่งพื้นที่บริการสุขภาพของประเทศออกเป็น 12 เขตบริการสุขภาพ และ 1 เขต กรุงเทพมหานคร
แต่ละเขตบริการสุขภาพจะดูแลประชากรประมาณ 4–6ล้านคน ซึ่งเป็นขนาดที่ดูแลได้ทั่วถึง และมีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ ในแง่ของการลงทุนด้านงบประมาณ ในการพัฒนาศักยภาพของแต่ละเครือข่ายให้สามารถให้บริการโรคที่มีความซับซ้อน หรือต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงได้ เช่น ผ่าตัดหัวใจ รักษาโรคมะเร็ง การปลูกถ่ายอวัยวะ เป็นต้น
นพ.ณรงค์ บอกอีกว่า การจัดระบบบริการสุขภาพที่เกิดขึ้นจะช่วยลดอัตราการตายด้วยโรคสำคัญๆ ที่เป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศ โดยเขตบริการสุขภาพทั้ง 12 เขต จะดำเนินการบริหาร จัดการร่วมกันตามแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ 10 สาขา
โดยมีจังหวัดนำร่อง เช่น สาขาโรคหัวใจ ที่โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ จ.นครสวรรค์, สาขาทารกแรกเกิด ที่โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต จ.ภูเก็ต, สาขาโรคมะเร็ง ที่โรงพยาบาลหนองบัวลำภู และโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี, สาขาโรคตา ที่โรงพยาบาลอุดรธานี เป็นต้น
ข้อดีของการบริหารจัดการในรูปแบบเขตบริการ ไล่เรียงไปตั้งแต่...ลดการใช้ทรัพยากรที่มีจำกัด โดยให้สถานบริการในแต่ละเขตบริการใช้ทรัพยากรร่วมกัน และมีการวางแผนพัฒนาสถานบริการในเครือข่ายตามลำดับความสำคัญ เป็นการใช้งบประมาณในการพัฒนาอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ
ข้อต่อมา...การมอบอำนาจการตัดสินใจให้เขต ทำให้การบริหารจัดการในเขตรวดเร็วขึ้น และทุกคนได้มีส่วนร่วมในการบริหารมากกว่าการรวมศูนย์อำนาจการตัดสินใจไว้ที่กระทรวง
นอกจากการพัฒนาศักยภาพของระบบบริการแล้วยังให้ความสำคัญด้านการส่งเสริมสุขภาพในพื้นที่ผ่านกลไกสำคัญ...คณะกรรมการระดับอำเภอ ส่วนในระดับเขตจะมีคณะกรรมระดับเขตซึ่งมีผู้ตรวจราชการเขตเป็นหัวหน้าคณะ เป็นกลไกในการบริหาร ดำเนินการในรูปของคณะกรรมการที่เน้นการมีส่วนร่วม
สำหรับบทบาทหน่วยงานในส่วนกลาง กระทรวงสาธารณสุขจะทำหน้าที่กำหนดนโยบาย วางมาตรฐาน ติดตาม กำกับ จัดระบบเฝ้าระวังให้ดำเนินงานตามที่กำหนด
“ปฏิรูประบบสุขภาพ”...ถ้าดีอย่างที่พูด ระบบบริการสุขภาพรัฐก็คงดีวันดีคืน ประชาชนทั่วไทยได้ประโยชน์ หากผลออกมาตรงกันข้ามระบบบริการสุขภาพเอกชนโต แต่รัฐสาละวันเตี้ยลง...คงโทษใครไม่ได้นอกจากผู้ใหญ่ที่คิดนโยบาย.
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 5 ตุลาคม 2556
- 7 views