สัมภาษณ์พิเศษ : นพ.สุเทพ เพชรมาก อีกบทบาทจากผู้บริหาร สธ.สู่ ‘เลขาธิการ คสช.’ หวังขับเคลื่อนงานระบบสุขภาพ รับนโยบายควิกวินรัฐบาล “ส่งเสริมการมีบุตร-สถานชีวาภิบาล-จิตเวช” จับมือสรพ.สร้างความปลอดภัย ลดความเครียดบุคลากรคนทำงาน พร้อมย้ำภารกิจไม่ซ้ำซ้อนบอร์ดพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ เหตุทำงานเสริมกัน

 

“สช.เป็นหน่วยงานเล็กที่มีภารกิจหลักในการเชื่อมโยงทุกภาคส่วนเรื่องสุขภาพ ซึ่งไม่ใช่แค่โรคภัยไข้เจ็บ แต่ยังรวมถึงปัจจัยอื่นๆ ขณะที่บอร์ดพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติที่ท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เน้นขับเคลื่อนนโยบาย จึงเป็นการทำงานส่งเสริมกัน ...”

ช่วงหนึ่งจากการสนทนาของ “นพ.สุเทพ เพชรมาก”  เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(คสช.)  กับผู้สื่อข่าวสำนักข่าวออนไลน์ Hfocus  ถึงความแตกต่างของคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ที่มักมีคำถามว่า จะเป็นการทำงานซ้ำซ้อนหรือไม่..

การตัดสินใจออกจาก สธ.สู่ สช.

ก่อนอื่น นพ.สุเทพ เล่าถึงที่มาของการตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการฯ ที่จะเกษียณอายุราชการอีก 1 ปี ข้ามฟากมานั่งเลขาธิการ สช. ว่า อยู่กระทรวงสาธารณสุขมา 35 ปี มีความคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนสุขภาพดี ซึ่งงานในกระทรวงฯ ก็เป็นเจ้าภาพหลักที่ดูงานด้านสุขภาพ เมื่อมีโอกาสประจวบกับท่านเลขาฯสช. คนเดิม คือ นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ ครบวาระ ในเดือนกันยายน 2566  จึงตัดสินใจมา เพราะตนคลุกคลีกับกระบวนการปฏิรูประบบสุขภาพมาตลอด กระทั่งมีการพัฒนาเป็นพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550  มีโอกาสได้ร่วมทำงาน  ทำให้เห็นว่า สุขภาพจำเป็นต้องมองในมุมมองที่กว้างขึ้น การมองสุขภาพไม่ใช่แค่เชื้อโรค แต่ยังมีเรื่องทางสังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม การเมือง ปัจจัยอื่นๆเข้ามาเกี่ยวข้อง สิ่งสำคัญคือ ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วน

คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ มีนายกฯ เป็นประธาน มีรัฐมนตรีว่าการสธ. เป็นรองประธาน และมีกระทรวงอื่นๆ ทุกภาคส่วน ทั้งท้องถิ่น นักวิชาการ ภาคประชาชน ประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมทั้งหมด จริงๆก็จะคล้ายๆ ครม.ด้านสุขภาพ เพราะนายกฯเป็นประธาน  ที่สำคัญเรามีบทบาทตามมาตรา25(1) กำหนดให้ต้องจัดทำธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ เสนอครม. ซึ่งทำมาแล้ว 3 ฉบับ เสนอ มีข้อเสนอแนะแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับยุทธศาสตร์สุขภาพ พร้อมทั้งติดตามการดำเนินงาน และเปิดเผยต่อสาธารณชนรับทราบ

นอกจากนี้ กลไกด้านยุทธศาสตร์ ยังก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนจริงๆ โดยเฉพาะภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ข้อมูลมาจากพื้นที่ด้วยการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติขึ้น ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 25 (3) กำหนดให้ต้องจัดสมัชชาสุขภาพ ดึงคนทุกภาคส่วนเข้ามาพูดคุยหาทางออกร่วมกัน  

งานสช.กับบอร์ดพัฒนาระบบสุขภาพไม่ซ้ำซ้อน

*จากภารกิจของสช. ทำให้เกิดคำถามว่า รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และล่าสุดแต่งตั้งนางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นประธานกรรมการบริหารในการขับเคลื่อนงาน หลายคนมองว่า เป็นการซ้ำซ้อนกับคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ

นพ.สุเทพ  ตอบว่า  เรื่องนี้มีการหารือกันกับท่านภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ ซึ่งท่านนายกฯมอบให้มาดูแล รวมทั้งยังได้หารือกับท่านชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข  โดยนำเรียนว่า ไม่ได้ซ้ำซ้อน แต่เป็นการทำงานเสริมกัน เนื่องจากบอร์ดพัฒนาระบบสุขภาพฯ ที่นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นเลขาฯ โดยหลักคือ เคลื่อนนโยบายรัฐบาล แต่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ตามพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 และสช.ที่ตนอยู่นั้นก็จะมีขอบข่ายงานแตกต่างกันไป มีหน้าที่ตามพ.ร.บ.สุขภาพฯ ให้อำนาจหน้าที่ที่กำหนด

 “หลายๆเรื่องที่ สช.ดำเนินการมา เป็นเรื่องที่สอดคล้องกับนโยบายสาธารณสุขของรัฐบาล  ซึ่งสามารถนำมาพัฒนาต่อยอด ยกระดับมากขึ้น  ไม่ว่าจะเป็นสถานชีวาภิบาล ทางสช.มีมติเรื่องการเตรียมรับและดูแลสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งสามารถนำมาใช้กับนโยบายสถานชีวาภิบาล ในการดูแลผู้สูงอายุ รวมถึงผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้ป่วยระยะสุดท้าย นอกจากนี้ ยังมีเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์ก็จะเข้ากับนโยบายส่งเสริมการมีบุตร ซึ่งในการจัดสมัชชาสุขภาพที่จะเกิดขึ้นในช่วงเดือนธันวาคม 2566 จะมีเรื่องการส่งเสริมการมีบุตรด้วย”

นพ.สุเทพ กล่าวเสริมอีกว่า บอร์ดพัฒนาระบบสุขภาพฯ จะโฟกัสนโยบายเป็นหลัก แต่เรื่องสุขภาพ มีหลายเรื่อง ไม่ใช่แค่โรคภัยไข้เจ็บ อย่างที่กล่าวมาแล้วว่า มีหลายปัจจัยเกี่ยวข้อง ซึ่งที่ผ่านมาสช.มีการดำเนินการตามกรอบกฎหมายกำหนดมาตลอด ตรงนี้จึงเป็นเรื่องดีที่จะช่วยส่งเสริมกัน ทั้งสถานชีวาภิบาล ระบบสุขภาพปฐมภูมิ การส่งเสริมการมีบุตร หรือดิจิทัลสุขภาพ บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ ซึ่งในพรบ.สุขภาพฯ มีมาตรา 7 เรื่องข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วย สิ่งเหล่านี้ต้องเน้นความปลอดภัยของข้อมูลเป็นสำคัญ   

ร่วมขับเคลื่อนนโยบายสถานชีวาภิบาล

อย่างนโยบายรัฐบาลเรื่อง สถานชีวาภิบาลนั้น ทางสช.มีการดำเนินการเช่นกันในเรื่องการพัฒนาคุณภาพประชากร ซึ่งจะมีแต่ละช่วงวัย โดยมีเรื่องการดูแลผู้สูงอายุ  โดยในงานสมัชชาสุขภาพฯปีที่ผ่านมา มีเรื่อง นโยบายรองรับสังคมสูงวัย ทั้งเรื่องการออมเพื่อสังคมสูงอายุ การเสริมสร้างศักยภาพและการจัดการของชมรมผู้สูงอายุ การปรับสภาพแวดล้อมรองรับ การร่วมสร้างชุมชนรอบรู้สุขภาพ การดูแลระยะท้ายของชีวิต สิ่งเหล่านี้สามารถนำมาต่อยอดกับนโยบายสถานชีวาภิบาลได้

“นโยบายสถานชีวาภิบาล  มีเรื่องที่สช.ต้องขับเคลื่อนในการสื่อสารให้ความรู้ต่างๆ เช่น  หนังสือแสดงเจตนาเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล หรือ LivingWill  หรือสิทธิการเสียชีวิต ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 12 ของพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ บัญญัติไว้ว่า “มาตรา 12 บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไป เพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้  ที่ผ่านมาการสื่อสารข้อมูลเรื่องสิทธิดังกล่าวค่อนข้างยาก  เพราะเรื่องนี้จะมีความเห็นหลากหลาย แต่เมื่อมีนโยบายสถานชีวาภิบาล ก็จะเป็นอีกเรื่องที่จะสื่อสารได้มากขึ้น เนื่องจากผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่รักษาในโรงพยาบาล ไม่ได้อยากจากไปในเตียงคนไข้ ในห้องไอซียู  แต่เขาอยากอยู่กับญาติ อยู่กับครอบครัว ตรงนี้เราต้องมีระบบเข้ามาช่วย ซึ่งนอกจากเรื่องสิทธิ LivingWill  ยังดูเรื่องการดูแลทางจิตใจ เพราะผู้ป่วยไม่ได้ต้องการอะไรนอกจากความสบายใจเป็นสำคัญ 

สมัชชาสุขภาพปีนี้ดันนโยบายควิกวิน

สำหรับการจัดงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติปีนี้ ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-22 ธันวาคม ที่โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทาราศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ จะมีเรื่องที่เข้ากับนโยบายควิกวินของรัฐบาล คือ การส่งเสริมการมีบุตร ซึ่งอยู่ใน “การพัฒนาคุณภาพประชากร”   โดยการส่งเสริมการมีบุตรนั้น ท่านรัฐมนตรีฯ  เสนอเป็นวาระแห่งชาติ จะทำให้ทุกภาคส่วนมาช่วยกันรณรงค์และหาทางส่งเสริมการมีบุตรในประเด็นต่างๆ 

เลขาฯ สช. เสริมว่า ก่อนอื่นต้องทราบก่อนว่า กลุ่มที่ไม่อยากมีลูกเพราะอะไร จากที่เคยถามส่วนหนึ่งก็อยากมี แต่ 30-40% เริ่มไม่อยากมี เพราะกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย การศึกษา การเลี้ยงดู ห่วงเรื่องสังคมทุกวันนี้ รวมไปถึงความสามารถในการดูแล เป็นต้น ทั้งหมดเป็นปัจจัยสำคัญ ซึ่งในสมัชชาสุขภาพฯ ก็จะมีการพูดคุยประเด็นต่างๆ รวมทั้งข้อเสนอแนะ เพื่อเสนอต่อรัฐบาล

“การเลี้ยงดูลูกให้ดี ต้องมีเงินและมีเวลา ซึ่งตรงนี้เป็นปัจจัยสำคัญ เราต้องมาระดมความคิดเห็นและหาทางช่วยเหลือให้เป็นสวัสดิการ อย่างเงินเลี้ยงดูบุตรแรกเกิด 600 บาทต่อคนก็ไม่เพียงพอ จริงๆ เคยมีการเสนอว่า ควรได้ประมาณ 3,700 บาท รวมไปถึงเวลาลาคลอดเพียงพอหรือไม่ รวมถึงศูนย์เลี้ยงดูเด็กต้องมีมากเท่าไหร่อย่างไร รวมไปถึงระบบการศึกษาฟรี ค่าใช้จ่ายนอกเหนือการศึกษา ตรงนี้เป็นปัจจัยที่จะมาหาทางออกร่วมกัน”

ขณะเดียวกันนอกจากเรื่องส่งเสริมการมีบุตร เราต้องมีระบบดูแลคนท้องไม่พร้อมด้วย  ที่ยังมีปัญหาการทำแท้งด้วย ทั้งหมดต้องทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะสังคม ชุมชนต้องมามีส่วนร่วม  ในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติจะมีเรื่องการดูแลสุขภาพจิต ปัญหายาเสพติด มาหารือและหาทางออกเรื่องนี้เช่นกัน

*เมื่อถามถึงปัญหาสุขภาพจิตเป็นเรื่องสำคัญ อย่างบุคลากรสาธารณสุขภาระงานมาก มีภาวะหมดไฟในการทำงาน มีการหารือถึงแนวทางช่วยเหลือหรือไม่

นพ.สุเทพ บอกว่า  เราเข้าใจเรื่องนี้ ความเครียดของผู้ให้บริการมากขึ้น ขณะที่ผู้รับบริการมีความคาดหวังมากขึ้น ซึ่งช่วงหลังมีการหารือเรื่องนี้กันมาก ทั้งสิ่งแวดล้อมการทำงาน ชั่วโมงการทำงาน การสร้างขวัญกำลังใจ ซึ่งสช.มีการทำแผนพัฒนาคนด้านสุขภาพ โดยเรามองทั้งประเทศ เพราะหากกำลังคนเพียงพอ มีระบบที่ดีพอสมควร ความเครียดจากการทำงานจะลดลงได้

อย่างไรก็ตาม เรื่องการจัดการปัญหาจากการทำงานนั้น ที่ผ่านมา ทางสช. ได้ร่วมกับสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล(สรพ.)  ในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยของสถานพยาบาล ซึ่งหากมีการดำเนินการตามมาตรฐานก็จะช่วยลดความเครียด ความไม่เข้าใจระหว่างคนไข้ ญาติและบุคลากรได้ จึงมีการขับเคลื่อนเรื่อง   3P Safety Hospital คือ กลไกการทำงานอย่างมีส่วนร่วม สร้างความปลอดภัยทั้งคนไข้ บุคลากร ชุมชน ( Patient Personnel และ People)  ประกอบกับขณะนี้มีนโยบายการสร้าง CareD+ ในโรงพยาบาล หรือที่เรียกว่า นักประสานใจ ก็จะเป็นส่วนเสริมในเรื่องการสร้างความเข้าใจ ลดความเครียดทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการได้เช่นกัน

อีกการขับเคลื่อนงาน สช.สู่นโยบายควิกวิน ที่ไม่ซ้ำซ้อนกับบอร์ดพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ

 

อนึ่ง:  สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 16 จัดขึ้นวันที่ 20-21 ธันวาคม 66ประเด็นความเป็นธรรมด้านสุขภาพ โอกาสและความหวังอนาคตประเทศไทย

ระเบียบวาระที่จะมีการพิจารณา ประกอบด้วย

1. ระบบสุขภาวะทางจิตเพื่อสังคมไทยไร้ความรุนแรง

2. การส่งเสริมความเข้มแข็งกลไกการบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่

3. การส่งเสริมการพัฒนาประชากรให้เกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพ