ผู้ป่วยเอดส์ในกรุงเป็นศูนย์ กทม.จับมือ'ยูเอ็นเอดส์'รณรงค์ทุกทาง ตั้งเป้าต้องเห็นผลภายใน20ปีข้างหน้า
เมื่อวันที่ 3 ต.ค. นางผุสดี ตามไท กล่าวภายหลังการประชุมร่วมกับองค์การยูเอ็นเอดส์ ว่าทาง กทม.ได้หาแนวทางในการรณรงค์เอดส์ให้เป็นศูนย์ในระยะ 20 ปี คือไม่มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่เพิ่ม ไม่มีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อเอชไอวี ไม่มีการเลือกปฏิบัติกับผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี โดยจะมีการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันอย่างหลากหลากองค์กร อาทิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ภาคเอกชน องค์กรทางสังคม และภาคประชาชน เพื่อควบคุมและลดปริมาณผู้ติดเชื้อเอชไอวี เนื่องจากปัจจุบันในกรุงเทพมหานครมีผู้ติดเชื้อเอชไอวี จำนวนกว่า 27 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยทั้งประเทศ อีกทั้งกรุงเทพฯ ยังเป็นเมืองที่ยากแก่การตรวจสอบ เนื่องจากว่าเป็นเมืองที่มีประชากรแฝงและแรงงานต่างด้าวจำนวนมาก จึงทำให้ยากแก่การคัดกรองโรค สำหรับผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น ผู้ที่มีพฤติกรรมเปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ กลุ่มชายรักชาย กลุ่มผู้ค้าประเวณี ผู้มั่วสุมยาเสพติด เหล่านี้ควรจะต้องได้รับการตรวจคัดกรองโรค ซึ่งจะต้องทำการตรวจทุกปี
นางผุสดี กล่าวต่อว่า ตนได้มอบหมายให้สำนักอนามัยไปศึกษาแนวทางในการทำงานร่วมกับยูเอ็นเอดส์จากเอกสารที่ทางสำนักอนามัยได้จัดทำแนวทางในการดูแล ปี พ.ศ. 2555-2559 โดยจะต้องไปดูว่าเนื้อหาส่วนใดบ้างที่ต้องปรับปรุง และตัดออก อย่างไรก็ตาม กทม.เองจะต้องมีการตกผลึกแนวทางให้ชัดเจนก่อนที่จะนำเข้าที่ประชุมร่วมกับยูเอ็นเอดส์อีกครั้งในอีก 2 สัปดาห์
ด้านนางสาวปิยธิดา สมุทระประภูต ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กล่าวว่าสถานการณ์เอดส์ในกรุงเทพฯ พบว่ามีผู้ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) คาดว่าอยู่ที่ประมาณ 52,995 ราย โดยแต่ละปีจะมีผู้ติดเชื้อรายใหม่อยู่ ประมาณ 2,300 ราย โดยการติดเชื้อส่วนใหญ่จะพบการติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ นอกจากนั้นจะมีจากการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน และติดเชื้อจากแม่สู่ลูก สำหรับผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จะเป็นเพศชายและอยู่ในวัยทำงานอายุต่ำกว่า 40 ปี ซึ่งในพื้นที่กรุงเทพฯ จะพบผู้ติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ในกลุ่มชายรักชายมากที่สุด ทั้งนี้หากผู้ติดเชื้อรู้ตัวและได้รับยาต้านไวรัสเร็วก็จะสามารถควบคุมเชื้อไม่ให้ลุกลาม และร่างกายจะไม่ทรุดโทรม ทั้งนี้สำนักอนามัยมีแนวทางสร้างความตระหนักในการควบคุมโรคด้วยการสร้างความเข้าใจให้ประชาชน ในการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย และต้องใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีภาวะเสี่ยง ซึ่งจะต้องมีการรณรงค์ต่อไปถึงการใช้ถุงยางอนามัยซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยป้องกันโรคในขั้นแรก
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 4 ตุลาคม 2556
- 3 views