กระทรวงสาธารณสุข จัดโครงการรณรงค์สร้างการรับรู้ ความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการบริจาคอวัยวะเพื่อชักชวนคนไทยให้ร่วมกันแสดงความจำนงในการบริจาคอวัยวะ ที่ลานเอ็มบีเค เซ็นเตอร์(ข้างโรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส) และลานวิคตอรี่ พอยท์ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ด้วยการจัดนิทรรศการให้ความรู้ พร้อมทั้งแสดงประติมากรรมลอยตัวกึ่งถาวรรูปไตและหัวใจที่ทำจากขี้ผึ้งซึ่งจะหลอมละลายไปเรื่อยๆ เพื่อเตือนใจว่าอย่าปล่อยให้อวัยวะสูญเปล่าไปโดยไร้ประโยชน์โดยมีเหล่าศิลปินผู้ใจบุญมาร่วมบริจาคอวัยวะกับศูนย์บริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย

นายแพทย์ชาญวิทย์  ทระเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย อาทิ ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย สมาคมปลูกถ่ายอวัยวะแห่งประเทศไทย มูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย และชมรมผู้ประสานงานการปลูกถ่ายอวัยวะแห่งประเทศไทย จัดโครงการรณณรงค์เรื่องการบริจาคอวัยวะขึ้น เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชนเกี่ยวกับการบริจาคอวัยวะ เนื่องจากอัตราการบริจาคอวัยวะในประเทศไทยมีน้อยมาก เมื่อเทียบกับต่างประเทศ ในขณะที่มีผู้รอรับการบริจาคอวัยวะจำนวนมาก อันเนื่องมาจากความรู้ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องรวมทั้งความเชื่อที่ผิดๆ

การบริจาคอวัยวะเพื่อนำไปปลูกถ่ายให้ผู้ป่วยมีความจำเป็ยอย่างยิ่งเนื่องจาก เมื่อผู้ป่วยเข้าสู่ระยะสุดท้ายของโรคอวัยวะวายเช่น ตับ หัวใจ หรือปอดวาย หากไม่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะผู้ป่วยจะเสียชีวิตแน่นอนส่วนผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายถึงแม้จะมีการรักษาด้วยการฟอกเลือดแต่การรักษาดังกล่าวเมื่อเปรียบเทียบกับการปลูกถ่ายไตแล้วการปลูกถ่ายไตจะทำให้ผู้ป่วยมีอัตราการเสียชีวิตต่ำกว่า สุขภาพดีกว่า มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าและภาระค่าใช้จ่ายของประเทศน้อยกว่า

แต่จากสถิติของสภากาชาดไทยในปี 2555 พบว่ามีผู้รอรับการบริจาคอวัยวะประมาณ 3,516 คน ในขณะที่มีผู้บริจาคอวัยวะเพียง 136 คน สามารถนำอวัยวะไปปลูกถ่ายช่วยเหลือผู้ป่วยได้ 334 คน โดยเป็นการปลูกถ่ายไตมากที่สุด 246 คน ซึ่งในภาพรวม คิดเป็นสัดส่วนผู้บริจาค 2 คนต่อประชากร 1 ล้านคนเท่านั้น (ในขณะที่ประเทศที่มีอัตราการบริจาคอวัยวะสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 35-40 คนต่อประชากร 1 ล้านคน) สัดส่วนที่ไม่สมดุลกันนี้ ทำให้มีผู้ที่เสียชีวิตเนื่องจากไม่สามารถรอได้ถึง 3 คนต่อสัปดาห์ ทั้งนี้ผู้บริจาค 1 คน จะสามารถนำอวัยวะไปปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วยคนอื่นได้อย่างน้อย 7 คน ให้มีชีวิตรอดและได้มีชิวิตใหม่ที่สมบูรณ์ใกล้เคียงคนปกติ

กิจกรรมนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 กันยายน -11ตุลาคมนี้ ณ ลานหน้าเอ็มบีเค เซ็นเตอร์ (ข้างโรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส) แห่งนี้ และลานวิคตอรี่ พอยท์ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ภายในงานจะมีบอร์ดนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับการบริจาคอวัยวะ และมีการจัดแสดงประติมากรรมลอยตัวกึ่งถาวรรูปไตและรูปหัวใจที่ทำด้วยขี้ผึ้งซึ่งจะหลอมละลายไปเรื่อยๆ เพื่อเตือนใจว่าอย่าปล่อยให้อวัยวะสูญสลายไปโดยไร้ประโยชน์นอกจากนี้ ศูนย์บริจาคอวัยวะสภากาชาดไทยยังได้มาเปิดรับบริจาคจากประชาชนโดยมีเหล่าศิลปินดาราชื่อดังมาร่วมบริจาคอวัยวะคับคั่ง อาทิ แพนเค้ก เขมนิจ จามิกรณ์และ เติ้ล ธนพล นิ่มทัยสุข เป็นต้น

สำหรับสถานการณ์การบริจาคอวัยวะในประเทศไทยนั้นนับว่ายังมีความตื่นตัวน้อยมาก พิจารณาได้จากสถิติของสภาการชาดไทยในปี 2555 พบว่ามีผู้รอรับการบริจาคอวัยวะประมาณ 3,516 คน ในขณะที่มีผู้บริจาคอวัยวะเพียง 136 คน สามารถนำอวัยวะไปปลูกถ่ายช่วยเหลือผู้ป่วยได้ 334 คน โดยเป็นการปลูกถ่ายไตมากที่สุด 246 คน ซึ่งในภาพรวมคิดเป็นสัดส่วนผู้บริจาค 2 คนต่อประชากร 1 ล้านคนเท่านั้นสัดส่วนที่ไม่สมดุลกันนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตเนื่องจากไม่สามารถรอได้ถึง 3 คนต่อสัปดาห์ ทั้งนี้ผู้บริจาค 1 คน จะสามารถนำอวัยวะไปปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วยคนอื่นได้อย่างน้อย 7 คนให้มีชิวิตรอดและได้มีชีวิตใหม่ที่สมบูรณ์ใกล้เคียงคนปกติ

นายแพทย์ชาญวิทย์กล่าวเพิ่มเติมว่า อุปสรรคสำคัญที่ทำให้การบริจาคอวัยวะในประเทศไทยน้อยเป็นเพราะประชาชนส่วนใหญ่ขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสภาวะสมองตาย ซึ่งทางการแพทย์ถือว่าผู้มีภาวะสมองตายเป็นผู้ที่เสียชีวิตแล้วเพราะผู้ป่วยจะไม่มีความรู้สึก ไม่รับรู้ สมองไม่สามารถสั่งการใดๆ ได้อีกย่างถาวร แม้จะใช้เครื่องช่วยหายใจหรือยากระตุ้นใดๆ ร่างกายส่วนที่เหลือจะหยุดทำงานภายใน 3-5 วัน โดยการวินิจฉัยภาวะสมองตายนี้จะใช้เกณฑ์ตามมาตรฐานสากลซึ่งได้รับการรับรองและควบคุมโดยแพทยสภา การบริจาคอวัยวะทำได้ในช่วงแรกของสภาวะสมองตายเท่านั้น หากพ้นช่วงดังกล่าวไปแล้ว อวัยวะก็จะเสื่อมหน้าที่และไม่สามารถนำไปปลูกถ่ายช่วยเหลือผู้ป่วยอื่นได้ ญาติพี่น้องหรือครอบครัวของผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะสมองตายส่วนมาก ยังคาดหวังว่าจะมีปาฏิหาริย์ที่ผู้ป่วยจะฟื้นคืนชีวิตมา หรือทำใจไม่ได้จึงไม่ยอมบริจาค ซึ่งความเป็นจริงแล้วยังไม่เคยมีผู้ป่วยรายใดที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะสมองตายอย่างถูกต้องตามเกณฑ์ที่ได้กล่าวมาแล้วจะสามารถฟื้นกลับคืนชีวิตมาได้อีก นอกจากนี้ คนไทยยังมีความเชื่อว่าการบริจาคอวัยวะจะทำให้ผู้เสียชีวิตมีอวัยวะไม่ครบ 32 เมื่อเกิดใหม่ในชาติหน้าทั้งที่การบริจาคอวัยวะในทางพระพุทธศาสนาถือเป็นทานบารมีที่ยิ่งใหญ่เหนือการบริจาคทานด้วยทรัพย์สินใดๆ และทานบารมีอันยิ่งใหญ่นี้เองจะทำให้ผู้เสียชีวิตมีอวัยวะที่งดงามและสมบูรณ์ยิ่งขึ้นในชาติต่อไป

“เราคาดหวังว่าโครงการรณรงค์สร้างการรับรู้การบริจาคอวัยวะที่จัดขึ้นในครั้งนี้จะช่วยเป็นสื่อกลางทำให้ประชาชนคนไทยมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการบริจาคอวัยวะ รวมทั้งเกิดทัศนคติที่ดีต่อการบริจาค ซึ่งจะส่งผลทำให้การบริจาคอวัยวะมีเพิ่มมากขึ้น ผู้ป่วยที่รอรับการปลูกถ่ายอวัยวะที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปีก็จะมีชีวิตที่ปกติสุขได้มากขึ้นสามารถดำรงชีวิตอยู่เพื่อทำประโยชน์ให้กับครอบครัวและสังคมต่อไป”นายแพทย์ชาญวิทย์กล่าว