เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2556 นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์จากนครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ว่าในการประชุมสมัชชาอนามัยโลกสมัยที่ 66 ประจำปี 2556 นี้ ประเทศไทยได้รับเกียรติจากประเทศสมาชิกอาเซียน ให้เป็นผู้แทนในการกล่าวถ้อยแถลงในที่ประชุมซึ่งมีรัฐมนตรีสาธารณสุขจาก 194 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญ และนักวิชาการสาธารณสุขประมาณ 2,000 คน ร่วมประชุม ได้นำเสนอทิศทางของการพัฒนาโลกอย่างยั่งยืน ในประเด็นเรื่อง การสร้างความมั่นใจในการพัฒนาสุขภาพประชากรโลก (How to ensure the place of health in the next generation of global development goals) ตามแผนพัฒนาสหัสรรษขององค์การสหประชาชาติช่วงที่ 2 ซึ่งจะเริ่มในปี 2558 เป็นต้นไป (Millennium Development Goals : MDGs post - 2015) ต่อเนื่องจากช่วงที่ 1 ที่เริ่มตั้งแต่พ.ศ. 2543 และจะครบกำหนดในปี 2558 ที่จะถึงนี้
นายแพทย์ประดิษฐกล่าวว่า ประเทศไทยในฐานะตัวแทนของสมาชิกอาเซียน ได้เสนอให้นำระบบการประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage : UHC) มาใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาโลกในด้านสุขภาพ ซึ่งจะเป็นการพัฒนาศักยภาพของระบบสุขภาพ ให้สามารถจัดการปัญหาของโรคต่างๆ ได้อย่างกว้างขวางทุกโรค ทั้งเรื่องที่เป็นเป้าหมายของการพัฒนาสหัสวรรษ เช่น ปัญหาเด็กน้ำหนักตัวน้อย เอชไอวี มาลาเรีย วัณโรค อนามัยเจริญพันธุ์ และที่ไม่อยู่ในเป้าหมายด้วย อีกทั้งธรรมาภิบาลในระบบยา รวมทั้งการต่อต้านคอรัปชั่น จะทำให้เกิดความยั่งยืนในการแก้ไขปัญหา ซึ่งองค์การอนามัยโลกเห็นว่าประเทศไทยสามารถทำเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดีจึงเชิญให้ประเทศไทยได้แสดงผลงานการดำเนินงานด้านธรรมาภิบาลระบบสุขภาพอีกด้วย
นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า ปัญหาด้านการสาธารณสุข เป็นเรื่องที่สำคัญและควรอยู่ในวาระหลักแห่งการพัฒนาในปี 2558 เพื่อทำให้ประชากรมีชีวิตมีความเป็นอยู่ที่ดีอย่างถ้วนทั่ว (well-being for all) โดยให้ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นหนึ่งในจุดมุ่งหมายของพัฒนาการสาธารณสุข ซึ่งจะสร้างความเท่าเทียมกันให้ประชาชนเข้าถึงบริการเมื่อเจ็บป่วยรวมถึงการป้องกันโรคและการส่งเสริมสุขภาพ เพื่อไม่เป็นภาระด้านค่าใช้จ่ายแก่ประชาชน โดยการดำเนินการเรื่องนี้ต้องอาศัยความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการผลักดัน เป็นการลงทุนเพื่ออนาคต และจะมีประโยชน์อย่างมหาศาลต่อไป
ทั้งนี้ ในกรณีการรวมตัวในการก่อตั้งประชาคมอาเซียนในพ.ศ. 2558 ซึ่งมีประชากร 600 ล้านคนหรือเกือบร้อย 9 ของประชากรโลก จุดมุ่งหมายเดียวกันคือเพื่อให้ประชากรของประเทศต่างๆ อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขและมีความเป็นเอกภาพ ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจจะเป็นวัตถุประสงค์หลักของการรวมตัวของอาเซียน แต่เรื่องการสาธารณสุขก็เป็นส่วนสำคัญของการรวมตัวครั้งนี้ เนื่องจากความร่วมมือด้านการพัฒนาการสาธารณสุขระหว่างประเทศสมาชิก จะทำให้เกิดความเป็นธรรมและความเท่าเทียมกันในสังคม นำไปสู่การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ ซึ่งถือว่าเป็นความรับผิดชอบร่วมกัน เพราะหากประชากรอาเซียนมีสุขภาพดี จะมีผลต่อการพัฒนาและเติบโตทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้ประชากรหลุดพ้นจากความยากจนและมีสุขภาพที่ดีขึ้นได้ ซึ่งผลดำเนินงานของสมาชิกประเทศในอาเซียน แม้ว่าจะบรรลุผลสำเร็จเป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ เช่น การลดอัตราการตายของแม่และเด็ก แต่ก็ยังมีปัญหาที่ต้องแก้ไขต่อเนื่อง เช่น โรคไม่ติดต่อและโรคติดต่อ การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ โรคเอดส์ โรคมาลาเรีย การตายของมารดาและทารก ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า การลดการติดเชื้อเอชไอวีและการตายจากโรคเอดส์ให้เป็นศูนย์
ทางด้านนายแพทย์ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การพัฒนาสุขภาพระดับโลกที่ผ่านมา จากประชากรโลกที่มีประมาณ 6,000 ล้านคน พบว่ามีคนจนจำนวน 1,000 ล้านคน ไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นได้ โดยมีประชาชน 150 ล้านคนประสบภาวะล้มละลายทางการเงินที่เกิดจากค่ารักษาพยาบาลกลายเป็นคนจน สำหรับเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ องค์การสหประชาชาติได้เร่งแก้ไขปัญหาระดับโลกใน 8 เรื่องใหญ่ เช่นการขจัดความยากจนและความหิวโหย การพัฒนาการศึกษา การส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ ระหว่างพ.ศ.2543 -2558 โดยเกี่ยวข้องกับสุขภาพ 6 เรื่องได้แก่ 1.เด็กน้ำหนักตัวน้อย 2.สุขภาพเด็ก 3.สุขภาพหญิงตั้งครรภ์และอนามัยเจริญพันธุ์ 4.การควบคุมป้องกันโรคเอดส์ 5.การควบคุมโรควัณโรค 6.โรคมาลาเรีย ซึ่งประเทศไทยดำเนินการได้ตามเป้า และมั่นใจว่าการลงทุนสร้างหลักประกันสุขภาพแก่ประชาชน จะเป็นปัจจัยเร่งให้เห็นความสำเร็จของการพัฒนาได้เร็วขึ้น
- 2 views