การพัฒนาประเทศสู่ความสมดุลและยั่งยืนได้ ต้องให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมสร้างทุนของประเทศที่มีอยู่ให้เข้มแข็ง และมีพลังเพียงพอในการขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการพัฒนา "คน" ซึ่งเป็นต้นทุนที่สำคัญให้เกิดความเข้มแข็ง แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 (พ.ศ.2555-2559) ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนและสังคมไทยสู่สังคมคุณภาพ มุ่งสร้างภูมิคุ้มกันตั้งแต่ระดับปัจเจกบุคคล ครอบครัวและชุมชน สามารถจัดการความเสี่ยงและปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลง มีโอกาสเข้าถึงทรัพยากร และได้รับประโยชน์จากการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างเป็นธรรม
สำหรับด้านสาธารณสุข ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการลดปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพอย่างเป็นองค์รวม โดยสร้างเสริมสุขภาพสุขคนไทยให้มีความสมบูรณ์แข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ พัฒนาความรู้และทักษะในการดูแลสุขภาพของตนเอง ครอบครัวชุมชน สร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนานโยบายสาธารณะที่เอื้อต่อสุขภาพ ควบคู่กับการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขให้มีคุณภาพ
ระบบบริการสุขภาพของประเทศไทย ซึ่งเดิมถูกกำหนดให้มี 4 ระดับ ได้แก่ ระดับปฐมภูมิ (Primary care) ทุติยภูมิ (Secondary care) ตติยภูมิ (Tertiary care) และศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง (Excellent center) ภายใต้ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนไทย มีมากมายเช่น ปัจจัยด้านโครงสร้างประชากร สิ่งแวดล้อม สถานสุขภาพของประชาชน แนวโน้มการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ปริมาณผู้รับบริการ ระบบการเชื่อมโยงข้อมูลที่ล้มเหลว การขาดแคลนบุคลากร งบประมาณ ผลกระทบ ทางด้านกฎหมายเรื่องการกระจายอำนาจ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม เป็นต้น
ทางออกของสภาพปัญหาดังกล่าวนำมาสู่การกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ "เขตสุขภาพนครชัยบุรินทร์" ขึ้น ให้เป็นเขตนำร่องของกระทรวงสาธารณสุข โดยเครือข่ายบริการที่ 9 และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเขต 9 นครราชสีมา โดยมีรูปแบบของการพัฒนาคือ Regional Health Commissioning Definition ซึ่งหมายถึงการบริหารพันธสัญญา งานหลักประกันสุขภาพให้บรรลุตามวิสัยทัศน์ที่กำหนด ในพื้นที่รับผิดชอบที่มีประชากรจำนวนหนึ่งโดยนำข้อมูลพื้นฐานที่เกี่ยวข้องไปใช้วางแผนในการจัดการ การดูแลสุขภาพประชาชนทั้งในด้านการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษาพยาบาล การฟื้นฟูสุขภาพ และงานคุ้มครองผู้บริโภค อย่างมีคุณภาพ ในทุกระดับ สอดรับกับปัญหาของพื้นที่ มีการพัฒนาระบบการส่งต่อที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการมีและพัฒนากลไกการคุ้มครองสิทธิทั้งผู้ให้และผู้รับบริการ สร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมจากภาคีสุขภาพทุกภาคส่วน เพื่อทำให้ประชาชนมีความมั่นใจ พึงพอใจ
โดยมีเป้าหมายหลักที่สำคัญ และเป็นเครื่องชี้วัดความสำเร็จคือ "นครชัยบุรินทร์" เป็นผู้นำในการบริหารจัดการระบบสุขภาพแบบมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย
มีโอกาสเดินทางไปเป็นประธานและบรรยายพิเศษในหัวข้อ ก้าวต่อไปของงานเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ด้วยปิงปองจราจรชีวิต 7 สี ในปี 2557 ในการประชุมขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์เขตสุขภาพเครือข่ายบริการสุขภาพ ที่ 9 นครชัยบุรินทร์ ปี 2557-2560 เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2556 ที่เมืองย่าโม โคราช ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากผู้บริหารเขตและน้องพี่ชาวสาธารณสุข
ไม่ว่าจะเป็น นายแพทย์คำรณ ไชยศิริ ผู้ตรวจราชการกระทรวงผู้เป็นหัวเรือใหญ่ พร้อมด้วยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเขต 9 นครราชสีมาของ นายแพทย์ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รวมถึง นายแพทย์วิชัย ขัตติยวิทยากุล สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา นายแพทย์ ชูรัตน์ คูสกุลรัตน์ สาธารณสุขจังหวัดชัยภูมิ นายแพทย์สมพงษ์ จรุงจิตตานุสนธิ์ สาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ และ นายแพทย์สอาด วีระเจริญ สาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์ และที่ลืมไม่ได้คือพี่น้องชาวหมออนามัยทุกคน
หลักใหญ่ใจความของงานนี้มีคือ เป็นเวทีแห่งการ กระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานด้านสุขภาพ และเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์เขตสุขภาพสู่การปฏิบัติ และสามารถแก้ไขปัญหาสาธารณสุขของพื้นที่
ดังนั้น นอกจากการประชุมวิชาการแล้ว ยังมีพิธีลงนามข้อตกลง (MOU) การขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์เขตสุขภาพเครือข่ายบริการที่ 9 ระหว่าง สำนักตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขตพื้นที่เครือข่ายบริการที่ 9 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเขต 9 นครราชสีมา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โรงพยาบาลชัยภูมิ โรงพยาบาลบุรีรัมย์ โรงพยาบาลสุรินทร์ ศูนย์อนามัยที่ 5 สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 ศูนย์วิทยาศาสตร์ การแพทย์ที่ 9 ศูนย์สุขภาพจิตที่ 5 วิทยาลัยพยาบาลราชชนนี นครราชสีมา วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีสุรินทร์ และโรงพยาบาล จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์
โดยการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้เพื่อการดำเนินการผลักดันและขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์เขตสุขภาพให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและสอดรับกับความเจริญก้าวหน้าในด้านต่างๆ ของประเทศ ภายใต้ปรัชญา "บริหารจัดการดี ภาคีมีส่วนร่วม" รวมถึงการจัดนิทรรศการ การดำเนินงานตามโครงการต่างๆ อาทิ การดำเนินงานตำบลสุขภาพดี ศูนย์เรียนรู้ผู้สูงอายุ การดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อ มีการนำเสนอผลการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อโดยใช้ปิงปองจราจรชีวิต 7 สี ระดับจังหวัด โดยตัวแทนทั้ง 4 จังหวัด และประกาศผลรางวัลชนะเลิศ "การดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อโดยใช้ปิงปองจราจรชีวิต 7 สี"
เป็นโอกาสดีที่ผู้เขียนซึ่งไปร่วมงานนี้ ก็ได้ชี้แนวทางเพื่อให้เป็นหนึ่งในกลยุทธ์การขับเคลื่อนภารกิจการพัฒนาระบบบริการสุขภาพของเขต ในการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยใช้ปิงปองจราจร 7 สี เข้ามา เพื่อเป้าหมายคือ ลดความแออัดของผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาลโดยมีการคัดกรองประชากร นำผลการคัดกรองมาจัดกลุ่ม บอกระดับอาการป่วย เพื่อลดความแออัดอย่างเป็นระบบและยั่งยืน โดยการกระจายสัดส่วนผู้ป่วยจากโรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โดยปิงปองจราจรชีวิต 7 สีจะเป็นเครื่องมือคัดกรอง และจัดระดับความรุนแรงของโรคด้วยการเทียบกับปิงปองจราจรชีวิต 7 สี เพื่อจัดแบ่งประชาชนออกเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มปกติ สีขาว กลุ่มเสี่ยง สีเขียวอ่อน กลุ่มป่วย ระดับ 0 สีเขียวเข้ม ระดับ 1 สีเหลือง ระดับ 2 สีส้ม และระดับ 3 สีแดง ส่วนกลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อนใช้สีดำ
ส่วนการปฏิบัติงานจะมุ่งไปที่การป้องกันไม่ให้เกิด ผู้ป่วยหน้าใหม่ (สีเหลือง) ลดความรุนแรงของโรคจาก สีแดงให้เป็นสีส้ม สีเหลือง และสีเขียวเข้ม รวมทั้งลดความ เสี่ยงของผู้ป่วยกลุ่มสีแดงไม่ให้มีโรคแทรกซ้อน (สีดำ)
ต้องบอกว่า "นครชัยบุรินทร์" ทั้ง 4 จังหวัดนำไปใช้ได้ประสบผลสำเร็จ ต่อยอดในเชิงวิชาการและนำสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยจากรายงานของทั้ง 4 แห่ง พบว่ากลุ่มผู้ป่วยสีแดง ลดความรุนแรงลงมาเป็นสีส้ม สีเหลือง ในขณะที่สีเขียวเข้มและสีขาวมีจำนวนมากขึ้น เนื่องจากกลุ่มเสี่ยงที่เป็นสีเขียวอ่อน เมื่อเข้าสู่กระบวนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทำให้ระดับน้ำตาล ระดับความดันโลหิตสูงลดลง...ซึ่งความสำเร็จนี้ ต้องยกให้หมออนามัยและ อสม.ในพื้นที่ ผู้อยู่ใกล้ชิดชาวบ้าน จากความทุ่มเทของทุกคน ทั้งในกระบวนของการคัดกรอง การจัดกลุ่มตามปิงปองจราจรชีวิต 7 สี จนถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ทำให้ประชาชนเจ็บป่วยน้อยลง...นอกจากนี้ ในกลุ่มป่วยมีภาวะแทรกซ้อนที่เป็นสีดำ เช่น โรคหัวใจหลอดเลือด โรคสมองก็มีแนวโน้มลดลง
เนื่องจากเครือข่ายบริการที่ 9 มีโรงพยาบาลที่เป็นศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง (Excellent center) คือโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา มีแพทย์เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจนำโดยนายแพทย์พินิจ แก้วสุวรรณ ส่วนโรงพยาบาลศูนย์บุรีรัมย์ มีแพทย์เชี่ยวชาญด้านระบบสมอง นำโดยนายแพทย์สุภโชค เวชภัณฑ์เภสัช...ดังนั้น "นครชัยบุรินทร์" จะมีศักยภาพและความพร้อมทั้งการทำงานเชิงรุกในระดับปฐมภูมิ ที่เน้นเรื่องการสร้างสุขภาพ และความพร้อมของระบบบริการ ตติยภูมิ ที่เป็น (Excellent center) สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในเขตบริการได้
ต้องขอชื่นชมความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว ในการดำเนินงานร่วมกัน ระหว่าง สปสช.เขตกับสาธารณสุขเขตพื้นที่เครือข่ายบริการที่ 9 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการประสานงานร่วมจัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อให้แผนยุทธศาสตร์สามารถแก้ไขปัญหาสาธารณสุขของพื้นที่และเชื่อมโยงระหว่างกันสามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นับเป็นการทำงานแบบไร้รอยต่ออย่างชัดเจน
การพัฒนาตามยุทธศาสตร์เขตสุขภาพ อาจเป็น คำตอบของระบบสุขภาพของประเทศไทยในระดับพื้นที่ ทั้งนี้ การกำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาที่เกิดจากการร่วมสร้าง ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ไข ของทุกภาคีที่เกี่ยวข้องอย่างแท้จริง สะท้อนความต้องการและปัญหาของพื้นที่ การมีขนาดของประชากรที่เหมาะสม (Economy of scale) ต่อการบริหารจัดการด้านงบประมาณภายใต้โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สามารถแก้ไขปัญหาสุขภาพภายในเขตได้อย่างเบ็ดเสร็จ
และเป็นการรองรับการกระจายอำนาจที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต.ไงล่ะครับ
ที่มา--มติชน ฉบับวันที่ 2 ต.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--
- 210 views