เดลินิวส์ - ระบบการจัดอาหารในโรงเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นเรื่องสำคัญต่อภาวะโภชนาการในเด็กและเยาวชน ถือเป็นหัวใจของพัฒนาการทางความคิด การเรียนรู้ ให้เด็กสามารถเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ แต่ปัญหาที่ผ่านมาพบว่า การดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังมี ข้อจำกัดทำให้ไม่สามารถจัดอาหารในโรงเรียนได้อย่างมีคุณภาพ สะอาด ปลอดภัย ได้มาตรฐานคุณค่าทางโภชนาการ เหมาะสมกับความต้องการของเด็ก รวมทั้งขาดกลไกเชื่อมโยงการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย
ในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2556 ภายใต้แนวคิด "สานพลัง สร้างสุขภาวะชุมชน" ระหว่างวันที่ 18-20 ธันวาคม 2556 ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ (UNCC) ได้เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องดังกล่าว จึงได้นำประเด็น "ระบบการจัดอาหารในโรงเรียน" เข้าเป็นหนึ่งในวาระสำคัญของเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เพื่อสะท้อนถึงอุปสรรคปัญหาการดำเนินงานที่ผ่านมา บนพื้นฐานข้อมูลทางวิชาการ ผ่านการระดมความคิดเห็น ของภาคีเครือข่ายในทุกจังหวัดและหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อก้าวสู่ยุทธศาสตร์ในการ แก้ปัญหาอย่างบูรณาการ ขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพที่สำคัญของประเทศ
การจัดการอาหารในโรง เรียนไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย เมื่อภาครัฐได้ริเริ่ม "โครง การอาหารกลางวันสำหรับเด็กนักเรียน" มาตั้งแต่ พ.ศ. 2495 ต่อมารัฐบาลได้ออก พ.ร.บ.กองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา พ.ศ. 2535 จัดตั้ง กองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษาเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนและใช้จ่ายสำหรับการสนับสนุนและแก้ไขปัญหา ทุพโภชนาการของเด็กวัยเรียน แต่การดำเนินงานยังไม่ครอบคลุมโรงเรียนทุกสังกัด และเน้นการแก้ปัญหาด้าน การขาดแคลนอาหาร เป็นหลัก แต่สภาพปัญหาในปัจจุบันได้แปรเปลี่ยนไป เป็นวิกฤติภาวะโภชนาการใน 2 ด้าน คือเด็กที่มีภาวะโภชนาการเกินและเด็กที่มีภาวะโภชนาการไม่สมบูรณ์
ผลจากการสำรวจสุขภาพไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2551-2552 โดยสำนักงานสำรวจสุขภาพประชาชนไทย พบว่า เด็กไทยอายุ 1-14 ปี จำนวนถึง 540,000 คน อยู่ในภาวะน้ำหนักเกิน ส่วนอีก 520,000 คน มีส่วนสูงน้อยกว่ามาตรฐาน และพบเด็กไทยที่น้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ 480,000 คน เมื่อสำรวจลึกลงไป ยังพบว่าเด็ก ๆ ขาดสารอาหาร เช่น ธาตุเหล็ก ไอโอดีน และวิตามินอีกจำนวนมาก สะท้อนว่าอาหารในโรงเรียนมีคุณค่าทางโภชนาการที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของเด็ก
ตามข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พบว่า มี 32 เขตการศึกษา จากทั้งหมด 185 เขตการศึกษาที่เด็กนักเรียนมีภาวะโภชนาการต่ำกว่าเกณฑ์ กระจายอยู่ใน 17 จังหวัด มีการเก็บตัวอย่างอาหารในโรงเรียนประถมศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ เลย นนทบุรี และภูเก็ต พบว่า คุณค่าทางโภชนาการจากเมนูอาหารกลางวัน ของทั้ง 4 จังหวัดปี 2555 อยู่ที่ร้อยละ 75.6 ของเป้าหมายคุณค่าอาหารกลางวันที่เด็กควรได้รับ ตัวเลขดังกล่าวถือว่าไม่ได้เพิ่มขึ้นจากการสำรวจเมื่อปี 2549 แม้แต่น้อย
สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังวิจัยพบว่าอาหารยอดนิยมที่นักเรียนชอบรับประทาน เช่น ลูกชิ้น ขนมปัง น้ำหวาน ไส้กรอก และก๋วยเตี๋ยว มีปริมาณสารกันบูด ที่หากรับประทานมากและต่อเนื่อง อาจส่งผลต่อสุขภาพ เสี่ยงต่อการเป็นโรคเรื้อรังเกี่ยวกับตับและไตในอนาคต นอกจากนั้น ยังพบว่าเด็กไทยบริโภคผักและผลไม้เพียงวันละ 1.4 ส่วน ถือว่าต่ำกว่าเกณฑ์แนะนำจากองค์การอนามัยโลกกว่าสามเท่า
ภาวะเด็กอ้วนจะสร้างปัญหาต่อสุขภาพในอนาคต เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคข้อเข่าเสื่อม อาการเจ็บป่วยที่รบกวนจะทำให้ความสามารถในการทำงานลดลง และมีโอกาสเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ขณะที่เด็กส่วนสูงหรือน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ทั่วไป เพราะขาดสารอาหารอย่างรุนแรง มีความเสี่ยงต่อภาวะ เชาวน์ปัญญาต่ำ ซึ่งมีผลการศึกษาชี้ชัดว่า ค่าเฉลี่ยของเชาวน์ปัญญาแปรไปตามภาวะส่วนสูงอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งยังมีผลต่อพัฒนาการเรียนรู้ ทำให้ศักยภาพการพัฒนาประเทศในภาพรวมลดลง
ปัจจุบัน งบประมาณที่โรงเรียนได้รับจากภาครัฐเพื่อจัดอาหารในโรงเรียน ถูกจำกัดเพียง 13 บาท/คน/วัน ถือว่าค่อนข้างน้อย และส่งผลต่อคุณภาพของอาหารที่เด็กนักเรียนได้ รับต่ำกว่ามาตรฐาน ไม่สามารถจัดเมนูที่ประกอบด้วยผักและผลไม้ได้ทุกวัน อีกทั้งยังพบว่าแม่ครัวยังไม่มีความรู้ในเรื่องโภชนาการ
แม้ที่ผ่านมาจะมีความพยายามในการจัดการปัญหาอาหารในโรงเรียน แต่การดำเนินงานยังมีลักษณะแยกส่วน จากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และนักวิชาการ แต่ละฝ่ายมีแผนงานของตัวเอง ทั้ง ๆ ที่มีเป้าหมายเดียวกัน ดังนั้น จึงเป็นการดีที่ทุกฝ่ายจะ บูรณาการทำงาน ภายใต้แผนงานเดียวกัน โดยจัดทำยุทธศาสตร์ระดับชาติ ที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม
กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงมหาดไทย ควรพิจารณาจัดทำคู่มือหรือแนวทางจัดการอาหารกลางวันสำหรับโรงเรียนในทุกสังกัด วางระเบียบในการคัดเลือกอาหาร ขนม อาหารว่าง และเครื่องดื่มที่จำหน่ายในโรงเรียน ให้มีความปลอดภัยและมีคุณค่าทางอาหารที่เหมาะสมกับความต้องการของเด็กและเยาวชน รวมถึงการรณรงค์ กระตุ้น ให้เกิดการปฏิบัติอย่างจริงจัง และตั้ง คณะกรรมการติดตามความก้าวหน้าตามแผนยุทธศาสตร์ เพื่อประเมินผลการทำงาน พร้อมนำเสนอต่อสมัชชาสุขภาพแห่งชาติทุกสองปี
ที่มา--เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 1 ต.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--
- 286 views