รมช.สาธารณสุข “เดชอิศม์” นั่งหัวโต๊ะประชุม คมส. หารือแนวทางกำกับติดตาม-สนับสนุนขับเคลื่อน “มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” เผยโรค NCDs สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมูลค่าปีละไม่น้อยกว่า 1.6 ล้านล้านบาท และ 10% เป็นภาระของ สธ. ย้ำแก้ที่ปลายทางอย่างเดียวไม่ได้ ต้องสานพลังหลายกระทรวง
เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2567 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) ครั้งที่ 1/2567 โดยมี นายเดชอิศม์ ขาวทอง รมช.สาธารณสุข ได้รับมอบหมายจาก นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข เป็นประธานการประชุม เพื่อหารือถึงการกำหนดยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือกับหน่วยงานและภาคีเครือที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติร่วมกัน
นายเดชอิศม์ เปิดเผยว่า สถานการณ์เรื่องสุขภาพของคนไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากจากอดีต โดยหากย้อนกลับไปดูเมื่อ 40-50 ปีที่แล้ว ผู้คนอาศัยอยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่ดี มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ แต่มาถึงปัจจุบันสภาพแวดล้อมเหล่านี้มีการเปลี่ยนไปมาก ทำให้การดูแลสุขภาพของคนไทยนั้นไม่สามารถมาดูแลกันเฉพาะปลายทาง ที่เป็นภาระของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องเกิดการพูดคุยและร่วมมือกันทั้งระบบที่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก
“ต้นทางของเรื่องสุขภาพนั้นประกอบด้วยหลายกระทรวงมาก เช่น กระทรวงอุตสาหกรรมที่ต้องเข้มงวดกวดขันการปล่อยมลพิษจากโรงงานสู่สิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรฯ ต้องมาทบทวนหาแนวทางเพิ่มพื้นที่ป่าเพื่อนำความอุดมสมบูรณ์กลับคืนมา กระทรวงมหาดไทยโดยเฉพาะท้องถิ่น ต้องดูแลเรื่องคุณภาพประปาหรือสาธารณูปโภคต่างๆ ฯลฯ ซึ่งมลพิษจากหลายแหล่งที่สะสมและเข้าสู่ร่างกายคนทุกวันนี้ จึงทำให้เราเห็นผู้คนป่วยตายจากโรคมะเร็งกันมากขึ้น ยังไม่รวมถึงโรค NCDs ที่มาจากพฤติกรรมอีกมาก”นายเดชอิศม์ กล่าว
นายเดชอิศม์ กล่าวว่า โดยเฉพาะประเด็นที่สำคัญมากอย่างโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมของพวกเราเอง แต่กลับส่งผลทำร้ายมาสู่ประเทศชาติด้วย โดยได้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมูลค่าปีละไม่น้อยกว่า 1.6 ล้านล้านบาท และ 10% ในนั้นก็กลายมาเป็นภาระของ สธ. จึงอยากให้ทุกฝ่ายมาร่วมรณรงค์ไปพร้อมกัน เพื่อให้ผู้คนได้เห็นถึงความสำคัญและตระหนักว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ทำร้ายทั้งตัวเราเอง คนรอบข้าง ไปจนถึงประเทศชาติ ที่ล้วนสูญเสียโอกาสด้วยกันทั้งสิ้น และมาช่วยกันลดผลกระทบเรื่องนี้ลงให้ได้อย่างน้อยสักครึ่งหนึ่ง ซึ่งหากทุกฝ่ายมาจับมือสู้กับ NCDs ไปพร้อมกัน เชื่อว่าทุกอย่างน่าจะดีขึ้น
นายเดชอิศม์ กล่าวอีกว่า ดังนั้นแล้วการดำเนินงานจากหน่วยงานภาคสาธารณสุขเพียงลำพัง จึงยังไม่เพียงพอ แต่ต้องทำให้เกิดการทำงานครอบคลุมกับทุกปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดสุขภาพ ซึ่ง คมส. ถือเป็นคณะกรรมการชุดสำคัญ เพราะมีบทบาทหน้าที่ในการสานพลังบูรณาการ แสวงหาแนวทางและความร่วมมือจากหน่วยงาน องค์กร ภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนให้การดำเนินงานตามข้อเสนอเชิงนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพอย่าง ‘มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ’ สามารถขับเคลื่อนได้อย่างเป็นรูปธรรม
นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า นับตั้งแต่การเกิดขึ้นของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 พร้อมกับที่มีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ในปี 2551 มาจนถึงปัจจุบันนี้ได้มีการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ไปแล้วทั้งหมด 16 ครั้ง มีการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายสาธารณะที่ส่งผ่านไปถึง คสช. และคณะรัฐมนตรี (ครม.) รวมทั้งสิ้น 96 มติ แบ่งเป็น มติที่บรรลุตามเป้าหมายของมติแล้ว 36 มติ กำลังขับเคลื่อน 39 มติ ต้องมีการทบทวนใหม่ 9 มติ ควรให้ยุติ 3 มติ และยังไม่สามารถขับเคลื่อนได้ 9 มติ
สำหรับมติทั้ง 96 ประเด็น ได้มีการจัดกลุ่มตามเป้าหมายและความสอดคล้องของเนื้อหาสาระ ซึ่งสามารถจำแนกออกมาได้เป็น 13 กลุ่มมติ โดยมากที่สุดคือกลุ่มมติที่เกี่ยวข้องกับ การพัฒนาระบบสุขภาพ จำนวน 15 มติ สุขภาวะชุมชนและสังคม จำนวน 13 มติ และ การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม 10 มติ
“สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เป็นเวทีใหญ่ของกระบวนการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ซึ่งหัวใจหลักนอกจากการมีส่วนร่วมพัฒนาข้อเสนอให้เกิดเป็นนโยบายแล้ว สิ่งสำคัญยังเป็นการร่วมกันติดตามผลของการขับเคลื่อนนโยบายเหล่านี้ ว่านำไปสู่ความสำเร็จที่เกิดเป็นรูปธรรมได้มากน้อยเพียงใด พร้อมกับหนุนเสริมและผลักดันกลไกต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดความก้าวหน้า และส่วนนี้จึงเป็นบทบาทหลักที่มี คมส. เข้ามาดำเนินการ” นพ.สุเทพ กล่าว
ทั้งนี้ ในที่ประชุม คมส. ซึ่งมีกรรมการที่ประกอบไปด้วยตัวแทนจากหน่วยงานภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันหารือในเบื้องต้นถึงประเด็นปัญหา อุปสรรค ข้อท้าทายของการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในประเด็นต่างๆ พร้อมเสนอให้มีการสรุปบทเรียนเป็นข้อมูลที่สามารถนำมาสื่อสาร เพื่อประโยชน์ในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ รวมถึงช่องทางที่ภาคีสามารถนำเสนอผลการขับเคลื่อนภารกิจงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ให้เป็นปัจจุบัน ซึ่งทั้งหมดยังได้ให้ความยินดีในการที่จะร่วมกันขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในประเด็นต่างๆ ต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุม คมส. ยังได้ร่วมกันพิจารณาเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และสาธารณสุข โดยมี นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ เป็นประธาน และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพสังคมและสุขภาวะ โดยมี ผศ.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ เป็นประธาน เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนและติดตามการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในด้านที่เกี่ยวข้องให้เกิดผลสำเร็จตามเป้าหมายต่อไป
ด้าน นายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล รองเลขาธิการ คสช. กล่าวว่า ในส่วนของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17 พ.ศ. 2567 กำลังจะมีการจัดขึ้นวันที่ 27-28 พ.ย. 2567 ณ อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี ภายใต้ประเด็นหลัก “เศรษฐกิจยุคใหม่ สร้างสุขภาวะไทยยั่งยืน” ซึ่งนอกจากการพิจารณารับรอง 2 มติใหม่แล้ว ยังจะมีการรายงานความก้าวหน้าของการขับเคลื่อนมติ 15.1 การขจัดความยากจนตามแนวคิดเศรษฐกิจ BCG: การยกระดับเศรษฐกิจครัวเรือน รวมทั้งกลุ่มมติที่ได้มีการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องในปีที่ผ่าน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มมติที่เกี่ยวข้องกับโรคไม่ติดต่อ, กลุ่มมติการพัฒนาเด็กและเยาวชนในชุมชน, กลุ่มมติเกษตร อาหารปลอดภัย และความมั่นคงทางอาหาร
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า นอกจากการรายงานความก้าวหน้าแล้ว สมัชชาสุขภาพแห่งชาติในปีนี้ยังจะเป็นครั้งแรกที่มีการจัด ‘ตลาดนัดนโยบาย’ ซึ่งจะเป็นพื้นที่กลางให้ภาคีเครือข่ายที่ขับเคลื่อนงานในประเด็นต่างๆ มาร่วมกันแลกเปลี่ยน สร้างการรับรู้ รวมถึงพัฒนาข้อเสนอใหม่ๆ ให้เป็นที่สนใจในวงกว้างมากขึ้น อีกทั้งเป็นพื้นที่ให้ทุกฝ่ายได้มีโอกาสเข้ามาร่วมส่งเสียงสะท้อนถึงประเด็นต่างๆ ตลอดจนนำเสนอประเด็นที่มีแนวโน้มในเข้าสู่การพิจารณาเป็นระเบียบวาระในปีถัดไปอีกด้วย
- 347 views