โพสต์ทูเดย์ - รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขนพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ กำหนดนโยบายการปฏิรูประบบสุขภาพเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการการรักษาพยาบาลและส่งเสริมสุขภาพได้ทุกระดับอย่างครอบคลุมและทั่วถึง
หากดูข้อมูลค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของคนไทยยังคงสูงถึงปีละกว่า 3 แสนล้านบาท ก็อาจอนุมานได้ว่าประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพจริง แต่ยังไม่มีสุขภาพที่ดีอย่างแท้จริงจำเป็นต้องเร่งแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นทาง โดยปรับปรุงคุณภาพและประสิทธิภาพการให้บริการ ลดการเจ็บป่วยด้วยโรคที่ป้องกันได้ และส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี พัฒนาระบบบริการที่มีอยู่ให้มีศักยภาพที่กว้างขวางและครอบคลุมมากขึ้น
ด้วยเหตุนี้ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จึงมีนโยบายปฏิรูปกระทรวง โดยมีเป้าหมายให้ประชาชนทั่วประเทศได้รับบริการที่ดี มีคุณภาพมาตรฐานอย่างเท่าเทียม ทั่วถึงและเป็นธรรมจากสถานบริการใกล้บ้านหรือในพื้นที่ใกล้เคียงไม่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายเดินทางมารับบริการถึงกรุงเทพฯ
ทั้งนี้ จะเชื่อมโยงการทำงานของสถานบริการในสังกัดทุกระดับเป็นเครือข่าย ตั้งแต่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป จนถึงศูนย์เชี่ยวชาญแต่ละสาขา มีการประสานการบริการ การรับ-ส่งต่อผู้ป่วยระหว่างกันแบบไร้รอยต่อ และมุ่งพัฒนาความเชี่ยวชาญระบบบริการ ใน 10 สาขาหลักได้แก่ 1) สาขาหัวใจและหลอดเลือด 2)สาขามะเร็ง 3) สาขาทารกแรกเกิด 4) สาขาอุบัติเหตุ 5) สาขาจิตเวช 6) สาขาบริการหลัก5 สาขา ได้แก่ สูติกรรม ศัลยกรรม อายุรกรรม กุมารเวชกรรม กระดูกและข้อ 7) สาขาบริการปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และดูแลสุขภาพองค์รวม 8) สาขาทันตกรรม 9) สาขาไตและตาและ 10) สาขาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD)
เป้าหมายที่วางไว้จะต้องจัดการโรค อาทิโรคมะเร็ง อุบัติเหตุ โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง โรคปอด ฯลฯให้ประชาชนเข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียมกัน
การปฏิรูปโครงสร้างที่ว่าจะมีการแบ่งเขตบริการสุขภาพออกเป็น 12 เขตสุขภาพ ให้บริการเบ็ดเสร็จในแต่ละเขต ลดอัตราการตายให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน เกิดความเท่าเทียมกันทั่วประเทศ สรุปก็คือ 1) ลดอัตราตาย 2)ลดอัตราป่วย 3) เข้าถึงบริการ และ 4) การไม่ต้องรอคิวรักษานาน เช่น คิวผ่าตัด ต้อกระจกคิวผ่าตัดโรคหัวใจ และยังหมายถึงมีประสิทธิภาพด้วยคำถามคือปฏิรูปแล้วประชาชนจะได้อะไร?
1.คุณภาพการบริการสูงขึ้น โดยเฉพาะในเขตสุขภาพ 2.การเข้าถึงบริการทั่วถึงเป็นธรรมมากขึ้น 3.บริการคุณภาพอยู่ใกล้บ้านมากขึ้น ลดต้นทุนของประชาชน 4.ระบบส่งต่อที่ไร้รอยต่อ5.การกำกับมาตรฐานและวิชาการเข้มข้นขึ้น 6.ชะลอการขยายตัวของต้นทุนบริการในขณะที่ผลลัพธ์ไม่ด้อยลง 7.คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น มีสุขภาพดีที่ยืนยาวขึ้น โดยตั้งเป้าอายุเฉลี่ยของการมีสุขภาพดี Healthy Adjusted Life Expectancy : HALE ที่ 72 ปี
นอกจากนี้ จะกระจายอำนาจการบริหารจัดการลงไปยังระดับพื้นที่ทั้ง 12 เขตบริการสุขภาพ (และ 1 เขต กทม.) แต่ละเขตจะดูแลประชากรประมาณ 4-6 ล้านคน ซึ่งเป็นขนาดที่ดูแลได้ทั่วถึงและคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ในแง่งบประมาณ การพัฒนาศักยภาพแต่ละเครือข่ายให้บริการโรคที่มีความซับซ้อนหรือต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงได้ เช่น ผ่าตัดหัวใจ รักษาโรคมะเร็ง การปลูกถ่ายอวัยวะ เป็นต้น
สำหรับเป้าหมายสำคัญจะช่วยลดอัตราการตายโรคสำคัญๆ ที่เป็นปัญหาของประเทศ โดยเขตบริการสุขภาพทั้ง 12 เขต จะบริหารจัดการร่วมกันตามแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ 10 สาขา โดยทั้ง 10 สาขา มีจังหวัดนำร่อง เช่นสาขาโรคหัวใจ ที่โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์จ.นครสวรรค์ สาขาทารกแรกเกิด ที่โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต จ.ภูเก็ต สาขาโรคมะเร็ง ที่โรงพยาบาลหนองบัวลำภู และโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานีสาขาโรคตา ที่โรงพยาบาลอุดรธานี เป็นต้น
ข้อดีของการบริหารจัดการในรูปแบบเขตบริการ มีดังนี้ 1.ลดการใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดโดยให้สถานบริการแต่ละเขตบริการใช้ทรัพยากรร่วมกัน และวางแผนพัฒนาสถานบริการในเครือข่ายตามลำดับความสำคัญ ใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ 2.การมอบอำนาจการตัดสินใจให้เขตทำให้การบริหารจัดการรวดเร็วขึ้น 3.ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการบริหารมากกว่าการรวมศูนย์อำนาจการตัดสินใจไว้ที่กระทรวง
ทั้งนี้ บทบาทการเป็นผู้จัดบริการ(Provider) นอกจากการพัฒนาศักยภาพของระบบบริการใน 10 สาขาข้างต้นแล้ว ด้านการส่งเสริมสุขภาพ จะให้ความสำคัญการบริหารจัดการในพื้นที่ โดยมีคณะกรรมการระดับอำเภอเป็นกลไกสำคัญ ส่วนในระดับเขตจะมีคณะกรรมการระดับเขต มีผู้ตรวจราชการเขตเป็นหัวหน้าคณะ เป็นกลไกในการบริหารที่เน้นการมีส่วนร่วมและยึดหลักธรรมาภิบาล
สำหรับบทบาทการเป็นหน่วยงานกำหนดนโยบายสุขภาพของประเทศ (National Health Authority) ในส่วนกลาง สธ.จะทำหน้าที่กำหนดนโยบาย วางมาตรฐาน ติดตาม กำกับรวมทั้งจัดระบบเฝ้าระวังให้มีการดำเนินงานตามที่กำหนด ขณะที่ในระดับเขตบริการจะแยกบทบาทเป็น 2 ส่วน คือ คณะกรรมการประสานการพัฒนาสาธารณสุขระดับเขต และคณะกรรมการนโยบายบริการสุขภาพระดับเขตเพื่อให้การดำเนินงานและการตรวจสอบเป็นไปอย่างสมดุล
ยุทธศาสตร์สำคัญในการปฏิรูประบบบริการสุขภาพ มี 5 ประเด็นหลัก
1) บริหารจัดการ 12 เขตบริการสุขภาพโดยใช้ทรัพยากรตามความเหมาะสมในการจัดบริการประชาชนในเขตบริการสุขภาพ
2) ระบบบริการทั้ง 10 สาขา จะดูตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ (Primary Care) คือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต) ขึ้นไปจนถึงศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ (Excellent Center) โดยสามารถดูแลครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มอายุ
3) การแบ่งปันทรัพยากรร่วมกันในแต่ละเครือข่าย ทั้งเตียง เครื่องมือบุคลากร ยาฯลฯ โดยจะประสานเชื่อมโยงข้อมูลและใช้งบประมาณร่วมกันภายในเขตบริการสุขภาพ
4) การวางแผนเรื่องกำลังคนการพัฒนาแต่ละเขตต้องดูว่าบุคลากรมีความพร้อมมากน้อยเพียงใด หากยังขาดความพร้อมจะมีการพัฒนาบุคลากรโดยการส่งไปเรียนต่อในสาขาที่ขาดแคลน
5) อาคารสถานที่ สิ่งอำนวยความสะดวกจะพัฒนาในภายหลัง เพราะใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่าแสนล้านบาท เบื้องต้นต้องแบ่งปันทรัพยากรกันก่อน แล้วพิจารณาถึงความจำเป็นในแต่ละเขตต่อไป
แผนการปฏิรูประบบบริการสุขภาพครั้งนี้จะเริ่มตั้งแต่ปี 2556-2560 โดยไม่เน้นไปที่การรักษาเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคอีกด้วย โครงสร้างทั้งหมดนี้นับเป็นการพัฒนาการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพอย่างทั่วถึงและครอบคลุม ผู้ป่วยไม่ต้องรอแน่นเฉพาะโรงพยาบาลในเขตกรุงเทพฯ พูดง่ายๆ เราต้องการลดป่วย ลดตาย ลดรอคอย ลดค่าใช้จ่าย และบริการได้มาตรฐาน ซึ่งเป็นความยั่งยืนของระบบบริการสุขภาพของคนไทย
ดังนั้น ภายในทศวรรษต่อไปคนไทยทุกคนจะมีสุขภาพแข็งแรงเพิ่มขึ้น สามารถสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิด"สุขภาพดี เริ่มต้นที่นี่ กระทรวงสาธารณสุข"
กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จึงมีนโยบายปฏิรูปกระทรวงโดยมีเป้าหมายให้ประชาชนทั่วประเทศได้รับบริการที่ดี มีคุณภาพมาตรฐานอย่างเท่าเทียมทั่วถึงและเป็นธรรม
ผู้เขียน : นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข
ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 30 กันยายน 2556
- 1 view