ข่าวสด - น.ส.วรัญญา รัตนวิภาพงษ์ ผู้ช่วยนักวิจัย โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ในสังกัดสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงงานวิจัย เรื่อง "เภสัชพันธุศาสตร์ : ถอดรหัสปัญหาแพ้ยารุนแรงในคนไทย" ว่า ปัจจุบันความก้าวหน้าทางเภสัชพันธุศาสตร์ช่วยให้ค้นพบลักษณะทางพันธุกรรมของมนุษย์ที่มีผลต่อการเกิดการแพ้ยาบางชนิดได้ การวิจัยหาความคุ้มค่าในการบรรจุสิทธิการตรวจหาการแพ้ยาในการรักษาโรคที่มักเกิดการแพ้ยา คือ โรคลมชัก และปวดปลายประสาท ที่ต้องใช้ยาคาร์บามาซิพาย (carbamazepine) ซึ่งเป็นยามาตรฐานที่แพทย์จะจ่ายเป็นลำดับแรก แต่ยาชนิดนี้พบว่ามีรายงานความเสี่ยงว่าจะทำให้เกิดการแพ้ยา กลุ่มอาการ Stevens-Johnson syndrome (SJS) และ toxic epidermal necrolysis (TEN)
น.ส.วรัญญากล่าวต่อว่า การตรวจยีน HLA-B*1502 จะทำให้ทราบความเสี่ยงที่จะแพ้ยาได้ โดยในกลุ่มคนที่มีเชื้อชาติเอเชียมากกว่าเชื้อชาติอื่นๆ และผู้ที่มียีนนี้จะมี
ความเสี่ยงที่จะเกิดผื่นแพ้ยาชนิด SJS/TEN จากยามากกว่าผู้ที่ไม่มียีนถึง 55 เท่า ซึ่งอาการแพ้ยาที่รุนแรงที่สุด จะทำให้ตาบอด ผื่นแพ้รุนแรง ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษามากและแพทย์เลี่ยงไปใช้ยากลุ่มอื่นที่แพงขึ้น ซึ่งการตรวจหายีนแพ้ยาจะช่วยลดอุบัติการณ์เกิดผื่นแพ้ยา ลงได้ถึงร้อยละ 88 โดยงบประมาณที่เพิ่มเติมเฉพาะต้นทุนทางตรงที่เกี่ยวกับการแพทย์ กรณีให้บริการตรวจคัดกรองยีนเท่ากับ 375,585 บาท ผู้ป่วยไทยส่วนใหญ่ไม่ได้รับการตรวจคัดกรอง ซึ่งค่าใช้จ่าย 500-4,700 บาทต่อคน
"จากการวิจัยพบว่านโยบายการให้บริการตรวจคัดกรองยีนในกรณีที่ต้องจ่ายยาคาร์บามาซิพาย ควรเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งกรณีโรคลมชักและการบรรเทาอาการปวดปลายประสาท เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและลดความขัดแย้งในทางปฏิบัติในกลุ่มผู้สั่งใช้ยา ซึ่งหากมีนโยบายขยายสิทธิประโยชน์จำเป็นต้องเพิ่มหน่วยบริการให้ครอบคลุม" น.ส.วรัญญากล่าว
ที่มา--ข่าวสด ฉบับวันที่ 27 ก.ย. 2556 (กรอบบ่าย)--
- วรัญญา รัตนวิภาพงษ์
- โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ
- HITAP
- สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์
- กระทรวงสาธารณสุข
- เภสัชพันธุศาสตร์ : ถอดรหัสปัญหาแพ้ยารุนแรงในคนไทย
- พันธุกรรม
- สิทธิการตรวจหาการแพ้ยา
- โรคลมชัก
- โรคปวดปลายประสาท
- ยาคาร์บามาซิพาย
- carbamazepine
- Stevens-Johnson syndrome
- SJS
- toxic epidermal necrolysis
- TEN
- ตาบอด
- ผื่นแพ้รุนแรง
- 99 views