Hfocus -พกส. ส่อเค้าวุ่นหลัง สธ.ออกประกาศสั่งชะลอบรรจุ รองประธาน สสสท. จวกถูก สธ.หักหลัง ทั้งค่าตอบแทนไม่เพิ่ม แถมซ้ำอาจถูกปรับลดคน “แพทย์ชนบท” ระบุเคยค้านเพราะเป็นการรวบอำนาจ พร้อมระบุ รพ.ไม่ได้รับคนเพิ่มหลัง สธ.มีหนังสือสั่งระงับการจ้างลูกจ้างชั่วคราวใหม่ระหว่างเคาะบรรจุ พกส. ด้าน “ภาคีลูกจ้างชั่วคราวของรัฐแห่งประเทศไทย” เผยหลังผู้บริหาร สธ. แจง รับยอมรับได้ แม้ค่าตอบแทนที่เพิ่มลด แต่อย่างน้อยเริ่มต้นระบบที่ดี ขณะที่ “รองปลัด สธ.” แจงเหตุสั่งชะลอบรรจุเพราะงบบานปลาย 5.8 พันล้าน จากเดิมคาดใช้ 2 พันล้านบาท ออก 3 มาตรการแก้ปัญหา และเตรียมประชุมแจง 30 ก.ย. นี้
นายโอสถ สุวรรณเศวต รองประธานสมาพันธ์สมาคมลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย (สสสท.) กล่าวถึงความคืบหน้าในการบรรจุตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราวกระทรวงสาธารณสุขเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พกส.)) ว่า ขณะนี้พวกเราคิดว่ากำลังถูกหักหลัง เนื่องจากตามที่เคยตกลงไว้ในการปรับเพิ่มค่าตอบแทนหลังปรับเป็น พกส. จะต้องมีการเพิ่มร้อยละ 10 ของค่าตอบแทนที่ได้รับ แต่ปรากฎว่ากลับได้รับเงินเพิ่มเพียงคนละ 100-200 บาทเท่านั้น ถือเป็นการปรับเพิ่มที่น้อยมาก โดยกระทรวงสาธารณสุขอ้างว่าเป็นการปรับเพิ่มร้อยละ 10 ของยอดค่าใช้จ่ายทั้งหมดและนำมาเฉลี่ยซึ่งมันไม่ใช่ และเทียบไม่ได้กับอัตราเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น และที่แย่กว่านั้นบางคนยังถูกปรับลดลงด้วย โดยเฉพาะคนที่ทำงานในโรงพยาบาลมานาน อ้างว่าต้องปรับอัตราให้เป็นไปตามวุฒิแม้ว่าจะได้บวกเพิ่มค่าประสบการณ์แล้วก็ตาม ถือว่าไม่เป็นธรรมอย่างมาก ซ้ำบางคนยังถูกยกเลิกค่าประสบการณ์อีก
นายโอสถ กล่าวว่า ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 กันยายน ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขยังได้ออกประกาศด่วนที่สุดไปยังหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั้งหมด ขอให้ชะลอการทำสัญญาจ้าง พกส. ออกไปก่อน และให้รีบทำกรอบอัตรากำลังคนในภาพรวม และนำเสนอต่อคณะกรรมการบริหาร พกส.เพื่ออนุมัติ โดยในการว่าจ้างต้องไม่เกินกรอบอัตราที่กำหนด จากประกาศฉบับนี้ทำให้พวกเราเกิดความวิตกกังวลว่าอนาคตชีวิตเราจะเป็นอย่างไร จะมีการจ้างเป็น พกส.กี่เปอร์เซ็น และใครจะไม่ได้รับบรรจุ และจะให้ถูกออกกี่เปอร์เซ็น มีการใช้มาตรฐานอะไรในการพิจารณา
ส่วนที่มีการระบุว่า โรงพยาบาลมีการจ้างลูกจ้างชั่วคราวเพิ่มจาก 1.2 แสนคน เป็น 1.4 แสนคน ส่งผลกระทบต่องบประมาณที่อนุมัติจาก ครม.นั้น นายโอสถ กล่าวว่า เมื่อต้นปีที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศไปยังหน่วยงานในสังกัดไม่ให้จ้างคนเพิ่ม เว้นกรณีที่มีบุคลากรลาออกจึงรับทดแทนได้ ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขควรใช้ประกาศดังกล่าวเป็นเกณฑ์พิจารณ์ โดยลูกจ้างชั่วคราวที่รับเข้าทำงานหลังประกาศฉบับนี้ ควรยังไม่ได้รับการบรรจุเป็น พกส. แต่ต้องให้สิทธิ์คนที่เข้าทำงานก่อนหน้านี้ ไม่ใช่นำมาเหมารวมกับลูกจ้างชั่วคราวทั้งหมดและปรับลดเงินแทน ถือว่าไม่ถูกต้อง
“การว่าจ้างคนเพิ่มนั้น มีหลักฐานการรับที่ชัดเจนว่ารับเข้ามาทำงานเมื่อไหร่ ดังนั้นควรใช้เป็นเกณฑ์ในการบรรจุ พกส.ได้ ไม่ใช่ให้ทั้งหมดมาพลอยฟ้าพลอยฝนกับลูกจ้างที่ผู้บริหารรับเข้ามาใหม่ นอกจากนี้ยังพบว่าในการบรรจุ พกส. มีการช่วยกัน โดยมีผู้บริหารบางคนพยายามดึงคนของตัวเองเข้าบรรจุและให้ได้รับเงินเดือนเพิ่มตามที่จะมีการปรับใหม่ ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงทำให้งบประมาณที่ต้องใช้สูงลิ่วขึ้นมา” รองประธาน สสสท. กล่าว
นายโอสถ กล่าวว่า นอกจากนี้ในการคิดค่าตอบแทนคำนวณตามภาระงาน หรือ P4P นั้น แม้ว่าจะเป็นระบบที่ดีในการให้รางวัลสำหรับคนทำงานดี แต่ขณะนี้เริ่มเกิดปัญหาขึ้นเช่นกัน เพราะเริ่มมีการเขียนหลอกว่าตนเองทำงานอะไรเพื่อให้ได้คะแนนเพิ่ม ซ้ำในการคิดคะแนนยังมีการแบ่งพวก ทำให้คนทำงานแบบเดียวกัน ชิ้นเดียวกัน แต่กลับได้คะแนนไม่เท่ากัน ซึ่งตรงนี้เป็นปัญหา และที่ผ่านมาได้สะท้อนปัญหาไปยังกระทรวงสาธารณสุขแล้ว แต่ไม่รับฟัง อย่างไรก็ตามเห็นว่า ความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นนี้ ไม่นานกระทรวงสาธารณสุขคงเกิดวิกฤตขึ้น ซึ่งขณะนี้ได้มีการพูดคุยถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับ 4ประสาน ทั้งแพทย์ พยาบาล ลูกจ้างประจำ และลูกจ้างชั่วคราว
ด้าน นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล ที่ปรึกษาชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า เรื่อง พกส.ที่ผ่านมาได้เตือนแล้วว่าอย่าทำ เพราะเป็นการรวบอำนาจบริหารไว้ที่ส่วนกลาง แทนกระจายอำนาจ เนื่องจากการจัดทำหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเดือนและค่าตอบแทนลูกจ้างชั่วคราวโดยส่วนกลาง จะกลายเป็นการตัดเสื้อโหลทั้งที่บริบทพื้นที่มีความแตกต่างกัน เช่น ลูกจ้างชั่วคราวที่ทำงานในเมืองกับพื้นที่ชายขอบจะใช้หลักเกณฑ์การจ้างเดียวกันไม่ได้ แต่กระทรวงสาธารณสุขกลับบอกให้ทุกพื้นที่ต้องเท่ากันหมด ซ้ำต่อไปในโรงพยาบาลหากใครต้องจ้างคนเพิ่ม ยังต้องส่งเรื่องไปยังส่วนกลางเพื่ออนุมัติซึ่งไม่ถูกต้อง และที่มากไปกว่านั้น เดิมกระทรวงสาธารณสุขคิดว่าการทำเรื่องนี้จะทำให้ประหยัดงบประมาณลง แต่พอทำเข้าจริงงบประมาณที่ต้องใช้กลับสูงเป็นหมื่นล้านบาท ยังไม่รวมกรณีที่ต้องจ่ายค่าตอบแทนภาระงานอีกแปดพันล้านบาท
“เมื่อเป็นนโยบายโรงพยาบาลสิชลต้องทำ พกส.เหมือนกัน ซึ่งแต่ละเดือนโรงพยาบาลต้องจ่ายเพิ่มอีกกว่าห้าแสนบาท แล้วโรงพยาบาลจะหาเงินจากไหน เพราะรัฐบาลไม่ได้ให้เงินเพิ่ม ไม่นับรวมภาระขึ้นเงินเดือนอีก 6% นอกจากนี้ยังทราบว่าตอนนี้กระทรวงสาธารณสุขกำลังจะมีการเกลี่ยงบประมาณในส่วนเงินเดือนใหม่อีก ซึ่งไม่ทราบว่าจะเกิดปัญหาอะไรขึ้นอีก” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล กล่าว
ส่วนกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า เหตุงบประมาณ พกส.ที่เพิ่มขึ้น สาเหตุมาจากการว่าจ้างลูกจ้างชั่วคราวเพิ่มของโรงพยาบาลในช่วงที่ผ่านมานั้น นพ.อารักษ์ กล่าวว่า ไม่เกี่ยวกับการรับคนเพิ่มเลย อย่ามาโยนบาปให้โรงพยาบาล สาเหตุมาจากไม่รู้ว่าใครไปบอกว่า การทำ พกสธ.ไม่เป็นภาระงบประมาณ แต่เมื่อนำตัวเลขมาดูใหม่ ปรากฎว่าต้องใช้งบเป็นหมื่นล้าน เรียกว่าเป็นการทำแบบคิดไม่รอบครอบ ทั้งนี้การบอกว่าโรงพยาบาลมีการจ้างลูกจ้างชั่วคราวเพิ่มอีกสองหมื่นคนก็ไม่ใช่ เพราะในช่วงระหว่างการทำ พกส. ทางกระทรวงสาธารณสุขได้มีหนังสือคำสั่งไปยังโรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ ไม่ให้จ้างคนเพิ่ม และเรื่องนี้โรงพยาบาลที่ได้รับผลกระทบโดยตรงก็คือโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป เนื่องจากมีบุคลากรมาก
นพ.อารักษ์ กล่าวว่า ส่วนค่าตอบแทนชดเชยค่าเสียโอกาสให้บุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานในโรงพยาบาลชุมชนนั้น ตอนนี้กระทรวงสาธารณสุขได้มีคำสั่งเยียวยาออกมาเรียบร้อยแล้วและให้มีผลบังคับใช้ ซึ่งได้เริ่มทยอยเบิกกันแล้ว โดยเป็นการจ่ายเพิ่มเติมหลังจากที่กระทรวงได้ปรับหลักเกณฑ์ค่าตอบแทนไปใช้ในฉบับที่ 8 ที่เป็นการจ่ายตามภาระงาน เรียกว่าเป็นการเบิกส่วนต่างจากฉบับที่ 4 และ 6 สำหรับในส่วนการจ่ายค่าตอบแทนภาระงานนั้น ในวันนี้ (25 ก.ย.) ทางชมรมแพทย์ชนบท ได้จัดประชุมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ เพื่อชี้แจงการจ่ายค่าตอบแทนที่ให้เป็นการวัดที่ประสิทธิผลที่ออกมา ไม่ใช่แค่ตามงานที่ทำ เนื่องจากมองว่าจะมีประโยชน์กับประชาชนมากกว่า
“หลังจากผ่านมา 6 เดือน ที่กระทรวงให้จ่ายค่าตอบแทนตามภาระงาน ปรากฎว่า แม้แต่ในโรงพยาบาลจังหวัด 90 แห่ง มีไม่ถึง 10 แห่งที่ใช้หลักเกณฑ์การจ่ายใหม่นี้ เพราะนอกจากไม่สามารถตรวจสอบว่าใครทำงานจริงไม่จริงแล้ว บางคนยังได้ค่าตอบแทนเพิ่มสูงจนผิดปกติ ขณะที่บางคนก็ลดฮวบ ซึ่งในที่สุดต้องมาหารเฉลี่ยกัน”
ขณะที่ นางกนกพร สุขสนิท ประธานภาคีลูกจ้างชั่วคราวของรัฐแห่งประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กรณีที่กระทรวงสาธารณสุขมีหนังสือคำสั่งให้ชะลอการบรรจุ พกส. ได้พูดคุยกับ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ซึ่งท่านแจ้งว่าแม้ว่าจะมีการชะลอบรรจุ แต่ในการปรับค่าตอบแทนจะให้มีการเบิกจ่ายย้อนหลัง ส่วนที่งบประมาณไม่พอ ทำให้ไม่สามารถบรรจุลูกจ้างชั่วคราวทั้งหมดในระบบเป็น พกส. ได้นั้น ทางผู้บริหารฯ ยืนยันว่าจะไม่ส่งผลกระทบแน่นอน โดยเบื้องต้นจะทำการบรรจุ 96% ก่อน และที่เหลืออีก4% จะบรรจุให้หลังสิ้นปีไปแล้ว ซึ่งเท่าที่รับฟังการชี้แจงส่วนตัวนั้นยอมรับได้ เนื่องจากที่ผ่านมากลุ่มลูกจ้างชั่วคราวแทบไม่มีผู้บริหารสนใจด้วยซ้ำ แต่ครั้งนี้ถือว่าได้รับการดูแล และแม้ว่าจะต้องถูกเฉลี่ยงบประมาณจนทำให้เงินค่าตอบที่เพิ่มลดลง แต่ก็ดีกว่าไม่ได้รับอะไรเลย และยังคงได้รับสวัสดิการเพิ่ม อย่างวันหยุดที่ไม่เคยมีมาก่อน หรือกองทุนเกษียณอายุ
“ตรงนี้ส่วนตัวรับได้เพราะถือว่าเป็นจุดเริ่มต้น แม้ว่าจะถูกหักทำให้เงินลดลงไปบ้าง แต่อย่างน้อยก็ถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดีที่ขอให้ระบบเดินไปก่อน ซึ่งจะชี้แจงให้ภาคีเครือข่ายรับทราบ เชื่อว่าน่าจะมีความเห็นที่ไปในทิศทางเดียวกัน” ประธานภาคีลูกจ้างชั่วคราวของรัฐแห่งประเทศไทย
นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการออกประกาศชะลอการบรรจุลูกจ้างชั่วคราวเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณ สุข (พกส.) ว่า ด้วยความปรารถนาให้ลูกจ้างชั่วคราวมีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขที่มั่นคง มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีคุณค่ามากขึ้น จึงได้ออกระเบียบบรรจุเป็น พกส. และได้คาดการณ์ว่า จากจำนวนลูกจ้างทั้งหมด 1.4 แสนคน การปรับอัตราค่าจ้างจะเพิ่มขึ้นจากเดิมไม่เกิน 2,000 ล้านบาท จึงได้ประกาศสอบคัดเลือกลูกจ้างเพื่อประเมินคุณสมบัติเป็น พกส. โดยมีผู้สอบผ่าน 98% ไม่ผ่าน 2% จากนั้นจึงได้ให้หน่วยบริการต่างๆ ทำบัญชีอัตราเงินเดือนมาให้ทางสำนักงานปลัดดู ปรากฏว่าแทนที่อัตราค่าจ้างจะเพิ่มไม่เกิน 2,000 ล้านบาทตามที่ประเมินไว้ แต่กลับเพิ่มสูงถึง 5,800 ล้านบาท ถือว่าบานปลายมาก จึงได้ออกประกาศชะลอการบรรจุ พกส. ไว้ก่อน
นพ.วชิระ กล่าวต่อว่า การแก้ปัญหากระทรวงสาธารณสุขจึงได้ออก 3 มาตรการคือ 1.ตั้งงบประมาณไว้ที่วงเงิน 1.6 หมื่นล้าน หรือเพิ่มขึ้นไม่เกิน 10%ของงบประมาณเดิม 2.จัดทำกรอบความจำเป็นของหน่วยบริการตามความเป็นจริงให้แล้วเสร็จสิ้นเดือนตุลาคมนี้ และ 3.การปรับอัตราจ้างในส่วนของลูกจ้างที่ไม่ใช้กลุ่มวิชาชีพไม่เกินเงินเดือนขั้นต่ำ 7,590 บาท ส่วนลูกจ้างวิชาชีพจะปรับเพิ่มที่ 1.2 เท่าของเงินเดือนเดิมเทียบกับข้าราชการในระดับเดียวกัน
“หลังออกประกาศชะลอการบรรจุ พกส. แล้ว มีหลายคนโทรเข้ามาสอบถาม เราก็ได้อธิบายไปแล้วดูเหมือนว่าเขาก็เข้าใจดี อย่างเช่น คุณโอสถ คุณกนกพร ก็เข้าใจดีว่าเงินมันเพิ่มเยอะไม่รู้ว่าจะหามาจากที่ไหน เพราะค่าจ้างตรงนี้ต้องใช้เงินบำรุงของโรงพยาบาล ก็คิดว่าจะเชิญตัวแทนของแต่ละจังหวัด จังหวัดละ 4 คน มาร่วมประชุมทำความเข้าใจกัน ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เร้นในวันที่ 30 ก.ย. และ 3 ต.ค.”
- 40 views