หนังสือพิมพ์คมชัดลึก - พญ.เบญจพร ปัญญายง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากงานวิจัย ความรุนแรงภายในครอบครัว ของมหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า การใช้ กำลังและกระทำความรุนแรงในครอบครัวนั้น มีหญิงที่เคยถูกกระทำความรุนแรงอย่างน้อย 1 ครั้ง ประมาณร้อยละ 44 หญิงที่เคยถูกกระทำความรุนแรงขณะตั้งครรภ์ประมาณ ร้อยละ 12 เคยถูกกระทำความรุนแรงจนต้องเข้าโรงพยาบาลประมาณร้อยละ 5 ซึ่งถือว่าเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มหญิงตั้งครรภ์เพราะจะส่งผลกระทบให้เกิดภาวะซึมเศร้าทั้งแม่และลูกด้วย
"สาเหตุที่ทำให้เกิดความรุนแรงขึ้นมาจากหลายปัจจัยทั้งความสัมพันธ์ภายในครอบครัว ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาสังคม แต่ส่วนมากการลงมือกระทำความรุนแรงนั้น จะมีสารเสพติด หรือ การดื่มเหล้าเข้ามาเป็นส่วนประกอบด้วย โดยพบว่า หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงจนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลนั้น น่าจะมีเพียงร้อยละ 10 ของจำนวนความรุนแรงที่เกิดขึ้นทั้งหมดเท่านั้น" พญ.เบญจพร กล่าว
สำหรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้ที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงนั้น มีทั้งกายและใจ ยิ่งถูกกระทำด้วยความรุนแรงมากขึ้นก็จะส่งผลให้เกิดภาวะซึมเศร้า มีความคิดอยากฆ่าตัวตายได้ โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์จะเสี่ยงต่อ ลูกในครรภ์ ความรุนแรงและความ เครียดสามารถทำให้มดลูกบีบรัดตัว ทำให้เกิดความเสี่ยงที่เด็กจะน้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์ คลอดก่อนกำหนด และอาจส่งผลด้านสมองของเด็กเนื่อง มาจากมดลูกบีบตัว ซึ่งเมื่อเด็ก เติบโตขึ้นในครอบครัวที่มีการกระทำด้วยความรุนแรง เมื่อติดตามในระยะยาว พบว่าเด็กกลุ่มนี้จะมีพฤติกรรมความก้าวร้าว รุนแรง และเลี้ยงยากกว่าเด็กทั่วไป
พญ.เบญจพร กล่าวด้วยว่า การแก้ไขปัญหาจำเป็นต้องมีความร่วมมือจากทุกฝ่าย เพื่อลดความรุนแรงในครอบครัวลง ซึ่งต้องสร้างความเข้าใจต่อสังคมด้วยว่า การแก้ปัญหาด้วยการลงมือทำร้ายอีกฝ่ายนั้น เป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ โดยพบว่านอกจากความรุนแรงทางกาย ยังมีผู้ที่ได้รับผลกระทบทางจิตใจ ซึ่งจะมีอาการทางกายโดยไม่รู้ตัวได้ด้วย เช่น ปวดหัว ปวดท้อง เป็นต้น ซึ่งการแก้ปัญหานอกจากการให้คำปรึกษาในช่องทางต่างๆ แล้วจำเป็นต้องมีสหวิชาชีพทั้งนักสังคม สงเคราะห์ นักจิตวิทยา ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ที่คอยให้ความช่วยเหลือผู้ที่ถูกทำร้ายทางกายด้วย
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 23 กันยายน 2556
- 14 views