โดยทั่วไปกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา จะให้สิทธิบัตรแก่ผู้ผลิตสิ่งประดิษฐ์ที่ใหม่ เป็นคนแรกในโลกและให้สิทธิในการผลิต จำหน่ายและหาผลประโยชน์แต่เพียงผู้เดียว ตามเวลาที่กำหนดไว้ แต่คงจะแปลกไม่น้อย หากมีความพยายามจะให้สิทธิบัตรกับสิ่งที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ ให้สิทธิบัตรกับพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ที่แน่นอนว่ามนุษย์ไม่ได้เป็นผู้คิดค้นขึ้นมาอย่างแน่นอน แล้วใครล่ะจะมีสิทธิเป็นเจ้าของ "สิ่งมีชีวิตที่ธรรมชาติเป็นผู้สร้าง"
ข้อตกลงในองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ให้การคุ้มครอง "สายพันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์" ทั้งนี้โดยจะใช้ระบบของสหภาพเพื่อคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หรือระบบกฎหมายเฉพาะก็ได้ ประเทศไทยภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 ให้การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่แต่ละประเภทตั้งแต่ 12 ปี (พืชที่ให้ผลผลิตหลังจากปลูกภายในเวลา 2 ปี) 17 ปี (พืชที่ให้ผลผลิตตามลักษณะหลังจากปลูกในเวลาเกิน 2 ปี) และ 27 ปี (พืชที่ใช้ประโยชน์จากเนื้อไม้) อย่างไรก็ตาม บริษัทที่ทำการปรับปรุงพันธุ์ต้องแบ่งปันผลประโยชน์ให้แก่ประเทศไทยและชุมชนที่เป็นเจ้าของพันธุ์พืชของท้องถิ่นด้วยหากนำพันธุ์พืชของเราไปใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ ซึ่งเป็นหลักการในอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ที่ทั้งประเทศไทยและสหภาพยุโรปต่างก็เป็นสมาชิก
แต่ในการเจรจาการค้าเอฟทีเอ ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปครั้งนี้ สหภาพยุโรปเรียกร้องในสิ่งที่เกินไปกว่าข้อตกลงที่นานาประเทศตกลงร่วมกันไว้ในดับเบิลยูทีโอ อย่างมาก ข้อเรียกร้องสำคัญคือ ต้องการให้ไทยเปลี่ยนกฎหมายมาใช้อนุสัญญาคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ที่เรียกว่า "ยูปอฟ 1991" ซึ่งจะคุ้มครองเฉพาะนักปรับปรุงพันธุ์และพันธุ์พืชใหม่ เปิดโอกาสให้นายทุนและนักปรับปรุงพันธ์ เอาพันธุ์พืชท้องถิ่นไปปรับปรุงโดยไม่ต้องบอกแหล่งที่มา ไม่ต้องแบ่งปันผลประโยชน์ให้ชุมชนและขอขยายเวลาสิทธิบัตรต่อไปอีก 20 ปีสำหรับพืชสองประเภทแรก
เหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นกับคนไทย อย่างเช่น ความพยายามเอาข้าวหอมมะลิไทยไปปรับปรุงพันธุ์และจดสิทธิบัตรโดยกลุ่มสถาบันวิจัยที่ทำเรื่องข้าวของสหรัฐอเมริกา แต่ถูกต่อต้านจากประชาชนไทยและรัฐบาลไทยในขณะนั้น จนความพยายามในการจดสิทธิบัตรถูกล้มเลิกไป คิดง่ายๆ หากไทยยอมทำตามข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรป ยอมรับ "ยูปอฟ 1991" เกษตรกรไทยคงถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกันค่อนประเทศโทษฐานละเมิดสิทธิบัตรพันธุ์ข้าวหอมมะลิ
นอกจากนี้ ข้อเรียกร้องของพี่ใหญ่อย่างสหภาพยุโรปยังให้กินความไปถึงผลิตผลที่เก็บเกี่ยวได้ เลยไปถึงผลิตภัณฑ์ที่ได้จากผลผลิตนั้น เช่น เราเอาข้าวหอมมะลิไปทำขนมจีน ไม่ใช่เพียงแต่เกษตรกรที่ถูกฟ้อง แต่แม่ค้าขนมจีนก็จะถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายด้วย
การคุ้มครองตามที่ยุโรปต้องการผลักดันนั้น ยังขยายขอบเขตไปถึงสายพันธุ์ย่อยของพันธุ์ใหม่นั้นๆ ด้วย เช่น หากชุมชนได้เอาสายพันธุ์หอมมะลิใหม่ที่เขาได้รับการคุ้มครอง แต่ปรากฏว่ายังมีกลิ่นหอมซึ่งเป็นลักษณะสำคัญนั้นๆ อยู่ แม้นักปรับปรุงพันธุ์ชุมชน นักปรับปรุงพันธุ์รายย่อย จะปรับปรุงพันธุ์มาหลายรุ่น หรือแม้แต่พืชพันธุ์นั้นเมื่อปลูกแล้วเกิดการกลายพันธุ์เองก็ตาม ล้วนแล้วแต่ถือว่าเป็นสายพันธุ์ย่อยของบริษัททั้งสิ้น
การศึกษาจากทั่วโลกให้ผลตรงกันชัดเจนว่า หากยอมรับข้อตกลง ยูปอฟ 1991 ก็แน่นอนว่าความมั่นคงทางอาหารจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย การผลิตอาหารทั้งหมดจะนำไปสู่การผูกขาดที่มากขึ้นไปอีกของนายทุน ซึ่งปัจจุบันก็มีอยู่ไม่กี่บริษัท ราคาเมล็ดพันธุ์จะแพงขึ้น 2-6 เท่าตัว ไทยจะต้องเสียค่าใช้จ่ายด้านเมล็ดพันธุ์ เพิ่มขึ้นจาก 28,000 เป็นราวปีละ 84,000-143,000 ล้านบาท
และแน่นอนเมื่อราคาต้นทุนการเกษตรเพิ่มขึ้น ราคาเมล็ดพันธุ์เพิ่มขึ้น ข้าวแกงที่เรากินทุกวันก็จะราคาพุ่งขึ้นตามไปด้วยอีกหลายเท่าตัวด้วยเช่นกัน เมื่อถึงวันนั้น พวกเราจะทำอย่างไรกันดี !
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 19 กันยายน 2556
- 2 views