ภาคประชาสังคมไทย จับตาการเจรจาการค้าเสรี(FTA)ระหว่างไทยและสหภาพยุโรป ยืนยันชุมนุมโดยสงบ พร้อมเปิดพื้นที่เรียนรู้ร่วมกับชาวเชียงใหม่ระหว่างวันที่ 18-19 กันยายน
เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2556 เครือข่ายภาคประชาสังคมแถลงข่าวหน้าศาลาว่าการเชียงใหม่ ระบุว่า ตามที่การเจรจาเอฟทีเอระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป รอบที่ 2 จะมีขึ้นระหว่าง วันที่ 16-20 ก.ย.นี้ ณ โรงแรมเลอเมอริเดียน จ.เชียงใหม่ นั้น
นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์และตัวแทนกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน( FTA watch) กล่าวว่า ภาคประชาสังคมไทยจากหลายภาคส่วน ทั้งในส่วนของเครือข่ายเกษตรทางเลือก กลุ่มเกษตรอินทรีย์ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ เครือข่ายงดเหล้า เครือข่ายผู้บริโภคและกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ซึ่งรวมตัวกันในนามกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน( FTAwatch) จะมีการนัดชุมนุมเพื่อแสดงพลังสนับสนุนให้ทีมเจรจาของรัฐบาลไทยได้ตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน และขอให้เจรจาอย่างรอบคอบ และต้องไม่ตกลงในสิ่งที่จะมีผลกระทบต่อประชาชนวงกว้างทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
“การชุมนุมครั้งนี้จะมีภาคประชาสังคมไทยมาร่วมกว่า 2,000 คน แต่เป็นการมาชุมนุมอย่างสงบ โดยจะมีกิจกรรมรณรงค์เพื่อสร้างการเรียนรู้ในเรื่องการค้าเสรีและผลกระทบต่อประชาชน อาทิ การเรียนรู้เรื่องอิสรภาพทางพันธุกรรมผ่านการรวบรวมเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านจากทั่วประเทศ กิจกรรมศิลปะรณรงค์เพื่ออธิปไตยทางพันธุกรรม รวมทั้งการเรียนรู้เรื่องระบบหลักประกันสุขภาพซึ่งถือได้ว่าเป็นนโยบายรัฐที่ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาได้อย่างเท่าเทียมและทั่วถึง แต่ถ้าหากเรายอมตามข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรปในเรื่องสิทธิบัตรยาก็จะกระทบต่อระบบสุขภาพของประเทศอย่างแน่นอน ดังนั้นจึงอยากเชิญชวนให้คนเชียงใหม่ได้เข้ามาร่วมเรียนรู้ ทำความเข้าใจไปด้วยกันระหว่างวันที่ 18-19 กันยายนนี้ ณ บริเวณข่วงประตูท่าแพ จ.เชียงใหม่”
ด้าน น.ส.กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา รองผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ระบุว่าข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรปที่มีต่อไทยมี 3 เรื่องหลักคือ ต้องเป็นภาคี UPOV 1991, ภาคีสนธิสัญญาบูดาเปส และยอมรับสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิตนั้นจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและทรัพยากรชีวภาพของประเทศอย่างรุนแรงและกว้างขวาง เกษตรกรผู้ใช้เมล็ดพันธุ์ที่จะต้องจ่ายแพงขึ้น การเก็บรักษาพันธุ์เพื่อปลูกต่อหรือแลกเปลี่ยนจะมีความผิดถึงขั้นจำคุกและต้องจ่ายค่าเสียหายแก่บริษัท และวิสาหกิจชุมชนที่ปรับปรุงพันธุ์พืชจากพันธุ์พืชใหม่ ก็ไม่สามารถทำได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อระบบอาหารของประเทศอย่างกว้างขวาง ถือว่าเป็นการทำลายอธิปไตยทางอาหารของประเทศ
ทางด้านนางสาวสุภัทรา นาคะผิว ประธานคณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ และผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ กล่าวว่าหากประเทศไทย ยอมให้มีการเจรจาความตกลงการค้าเสรีในส่วนทรัพย์สินทางปัญญาที่เกินกว่าความตกลงทริปส์ จะก่อให้เกิด การผูกขาดตลาดอย่างยาวนาน ทำให้ราคายาแพงขึ้น และประเทศชาติต้องแบกรับค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้นมหาศาล ส่งผลให้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงยาได้ รวมทั้งส่งผลกระทบด้านลบต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยาสามัญภายในประเทศ ที่สำคัญคือ ประโยชน์ส่วนใหญ่จะตกอยู่กับบรรษัทยาข้ามชาติเท่านั้น
“ถ้ายอมทริปส์พลัสด้านยา ยอมให้มีการขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรยาเพิ่มขึ้นอีก 5 ปี จะมีผลทำให้ค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้นอีกเป็น 27,883 ล้านบาท/ปี และหากยอมปล่อยให้มีการผูกขาดข้อมูลการขึ้นทะเบียนตำรับยา หรือ Data Exclusivity จะมีผลทำให้ค่าใช้จ่ายด้านยาของไทย เพิ่มขึ้น 81,356 ล้านบาทต่อปี”