คนไทยป่วยโรคหืดราว 3 ล้านคน เข้าโรงพยาบาลปีละ 1 แสนคน ตายปีละ 1,500 คน พบอุบัติการณ์มากในตัวเมือง องค์กรโรคหืดชูรักษาด้วยการพ่นยาสเตียรอยด์ ดีกว่าใช้ยาขยายหลอดลม เหตุทำให้หลอดลมอักเสบ ชี้หากผู้ป่วยร่วมมือ แพทย์ติดตามการรักษาสม่ำเสมอ ช่วยลดอัตราป่วยตายได้ เผยจับมือ สปสช.ตั้งคลินิกรักษาโรคอย่างง่าย ให้ความรู้บุคลากรดูแลผู้ป่วย
รศ.นพ.วัชรา บุญสวัสดิ์ นายกสมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคหืดจะมีอาการหอบหืด ที่เกิดโรคภูมิแพ้ ทำให้หลอดลมหดเกร็ง เกิดอาการหายใจไม่ออก แน่นหน้าอก ทำให้มีความทุกข์ทรมานกับภาวะโรคมาก หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมก็มีโอกาสเสียชีวิตได้ สำหรับอุบัติการณ์การเกิดโรคในเด็กพบร้อยละ 10 ส่วนผู้ใหญ่พบร้อยละ 5 โดยประเทศไทยจะมีผู้ป่วยประมาณ 3 ล้านคน จำนวนนี้ต้องเข้าโรงพยาบาลด้วยอาการหอบปีละ 1 แสนคน และเสียชีวิตถึงปีละ 1,500 คน สาเหตุของโรคมาจากกรรมพันธุ์ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งน่าสังเกตว่ามักพบอุบัติการณ์มากในประเทศพัฒนาแล้ว เนื่องจากอาจมีความเป็นเมือง หรืออาหารการกิน แต่ก็ยังไม่ใช่สาเหตุที่พิสูจน์ได้แน่ชัด
รศ.นพ.วัชรา กล่าวอีกว่า ความจริงแล้วโรคนี้สามารถรักษาให้อาการดีขึ้นและหายดีได้ในระยะเวลาหนึ่ง แต่ปัญหาคือ ไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม เนื่องจากที่ผ่านมาแนวทางการรักษาจะเน้นการใช้ยาขยายหลอดลม แต่ภายหลังพบว่าอาการหอบหืดเกิดจากหลอดลมไวต่อสิ่งกระตุ้น ทำให้หลอดลมอักเสบ จึงมีการเปลี่ยนแนวทางการรักษาโดยการพ่นยาสเตียรอยด์ หากได้รับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยตรง มีการติดตามอาการอย่างสม่ำเสมอ และได้รับความร่วมมือจากผู้ป่วย ก็จะช่วยให้ผลการรักษาดีขึ้น ลดอัตราการนอนโรงพยาบาล และเสียชีวิตได้
“ด้วยเหตุนี้จึงได้ก่อตั้งคลินิกรักษาโรคหืดอย่างง่ายขึ้น โดยร่วมมือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)โดยทำงานในรูปแบบให้ความรู้ อบรมบุคลากร ซึ่งโรงพยาบาลแต่ละแห่งจะมีแพทย์ พยาบาล และเครื่องมืออยู่แล้ว แต่ปัญหาคือบางแห่งไม่มีบุคลากรที่ใช้เครื่องมืออย่างการตรวจศักยภาพปอด จึงต้องเข้าไปให้ความรู้ โดยมี สปสช.สนับสนุนงบประมาณดำเนินการ กระทั่งปัจจุบันขยายไปยังโรงพยาบาลครบทุกแห่งทั่วประเทศ” รศ.นพ.วัชรา กล่าว
ที่มา : www.manager.co.th
- 44 views