เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2556 กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ได้จัดทำเอกสารข้อมูลพื้นฐานการเจรจาเอฟทีเอ ไทย-สหภาพยุโรป ขึ้น Hfocus เห็นว่ามีประเด็นน่าสนใจจึงนำเสนอให้ผู้อ่านดังนี้

วิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรปที่เริ่มปะทุตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 เป็นต้นมา จากชายขอบของสหภาพยุโรป หรืออียู (European Union – EU) จนบัดนี้ลามเลยมาถึงย่านใจกลางอย่างฝรั่งเศสแล้ว ยังไม่มีใครกล้าฟันธงลงไปว่า นี่คือจุดต่ำสุดของวิกฤตแล้วหรือยัง  สหภาพยุโรปจะสามารถดึงตัวเองออกจากวิกฤตครั้งเลวร้ายนี้ แล้วกลับไปอยู่ในสถานะพลังเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโลกได้ ภายในทศวรรษนี้หรือไม่

ตัวเลขเศรษฐกิจที่ชี้ชัดถึงกำลังซื้อที่หดหายไปของสหภาพยุโรปมากที่สุด คือ สถิติการค้าขายระหว่างประเทศ ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนสิงหาคมปีนี้ ที่เปิดเผยโดยสำนักงานศุลกากรของจีน ซึ่งพบว่าในบรรดากลุ่มประเทศคู่ค้าใหญ่ที่สุด 4 อันดับแรกของจีน คือสหภาพยุโรป หรืออียู สหรัฐอเมริกา อาเซียน และญี่ปุ่นนั้น อียูมีตัวเลขการค้าลดลงร้อยละ 1.9 เลวร้ายยิ่งกว่า ญี่ปุ่นซึ่งมีปัญหาข้อพิพาทเรื่องน่านน้ำกับจีนที่ลดลง ร้อยละ 1.4 ในขณะที่อาเซียนและสหรัฐฯ มีปริมาณการค้ากับจีนเพิ่มขึ้น

ดังนั้น จึงไม่ต้องแปลกใจเลยว่า ความเคลื่อนไหวด้านการเจรจาการค้าการลงทุนของสหภาพยุโรปในขณะนี้ จึงเป็นไปเพื่อ “การเปิดตลาดใหม่ๆ” ให้กับธุรกิจของตัวเอง หรือ อาจมีนักวิเคราะห์หลายคนมองว่า สหภาพยุโรปกำลัง “หาเสื้อชูชีพ”  เพื่อพยุงฐานะทางเศรษฐกิจไม่ให้จมหายไปกับสายน้ำแห่งวิกฤตหนี้สาธารณะอันเชี่ยวกราก

1.เอฟทีเอ ไทย-สหภาพยุโรป “เสื้อชูชีพ” ตัวใหม่?

ประเทศไทยร่วมกับอาเซียนเริ่มเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) หรือเอฟทีเอกับสหภาพยุโรป ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 ก่อนหน้าที่วิกฤตยูโรโซนจะเริ่มเด่นชัด ในขณะนั้น สหภาพยุโรปไม่ได้ดำเนินนโยบายการเจรจาการค้าระดับทวิภาคีเหมือนกับสหรัฐฯ ในสมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช แต่เลือกที่จะทำความตกลงระหว่างภูมิภาคคือระหว่างอียูกับอาเซียน

ความตกลงดังกล่าว มีสาระสำคัญครอบคลุมการเปิดตลาดสินค้า การค้าภาคบริการ และการลงทุน รวมทั้งความร่วมมือในด้านต่างๆ การเจรจาดำเนินไปถึง 7 รอบ แต่ไม่สามารถหาข้อยุติได้ ยังคงติดขัดในเรื่องระดับการเปิดตลาดสินค้าและบริการ การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ และนโยบายการแข่งขันทางการค้า โดยเฉพาะเรื่อง ทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งครั้งนั้น อาเซียนมีเสียงเป็นเอกฉันท์ไม่รับข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรปที่ต้องการให้อาเซียนปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาเกินกว่าความตกลงทริปส์ในองค์การการค้าโลก ซึ่งก็คือการไม่ยอมรับทริปส์พลัส (TRIPS-plus) นั่นเอง

มีนาคม พ.ศ. 2552 ทั้งสองฝ่ายได้ประกาศพักการเจรจา โดยสหภาพยุโรปอ้างว่า ไม่ได้รับ mandate ให้เจรจากับพม่าซึ่ง ณ ขณะนั้นยังไม่มีวี่แววความเป็นประชาธิปไตย  จากนั้นสหภาพยุโรปได้เปลี่ยนแนวทางการเจรจา  เดินตามรอยเท้าสหรัฐฯ ในการเจรจาแบบทวิภาคีกับประเทศที่พร้อมก่อน เริ่มที่สิงคโปร์ ตั้งแต่มี.ค.2553 และที่ตามมาติดๆ คือ มาเลเซีย เวียดนาม และไทย

การดำเนินการในไทย

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้จัดรับฟังความคิดเห็นต่อการเจรจาเอฟทีเอ ไทย-สหภาพยุโรปหลายครั้ง ส่วนหนึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2553 ที่ได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อรับฟังความคิดเห็น ซึ่งมีภารกิจหลักในการรวบรวมข้อมูล ความเห็นเกี่ยวกับความเป็นไปได้ ผลดี ผลเสีย  ในการจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรปเพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ภารกิจของคณะกรรมการจะสิ้นสุดเมื่อได้เสนอความเห็นดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรี

คณะกรรมการฯ มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการรับฟังความเห็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มภาครัฐ  กลุ่มภาคการเกษตร  กลุ่มธุรกิจเอกชน  และกลุ่มภาคประชาสังคม เพื่อจัดการรับฟังความคิดเห็นทั่วไปประเทศ  แต่จนถึงขณะนี้ความเห็นของคณะกรรมการชุดดังกล่าว ตลอดจนข้อเสนอแนะที่รอบคอบ รอบด้าน ไม่รู้ว่าถูกนำไปซุกอยู่ ณ มุมใดในกระทรวงพาณิชย์  รู้แต่ว่าจนบัดนี้ มันไม่เคยถูกส่งกลับไปให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเลย ในขณะที่มีความพยายามเร่งเร้า เร่งรีบเปิดการเจรจาเอฟทีเอ ไทย-สหภาพยุโรป อย่างไม่ลดละ แน่นอนว่า ข้อคิดเห็นสาธารณะและข้อเสนอแนะดังกล่าว ไม่เคยถูกนำไปพิจารณาประกอบ (ดูรายละเอียด ความเห็นของคณะกรรมการและข้อคิดเห็นจากการรับฟัง ในภาคผนวก)

2555 รื้อฟื้นการเจรจาใหม่

นับตั้งแต่กลางปี 2555 เป็นต้นมา มีความเคลื่อนไหวจากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งเปิดการเจรจา  ในเดือนกรกฎาคม นางศรีรัตน์ ฐาปานะ อธิบดีกรมเจรจาฯ ในขณะนั้น ได้นำทีมข้าราชการเดินทางไปทำ scoping exercise กับสหภาพยุโรป   ณ กรุงบรัสเซล ประเทศเบลเยี่ยม ซึ่งขณะนี้ยังคงเป็นความลับที่ไม่มีการเปิดเผยว่าไปทำอะไรกันมา   แม้จะอ้างว่า เป็นการหารือทั่วไป แต่ก็น่าแปลกใจว่าเมื่อกลับมาถึง ก็ได้มีการนัดประชุมระดับสูงเพื่อพิจารณาเตรียมการเปิดการเจรจาการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรปทันที

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี  ประธานในที่ประชุม ให้สัมภาษณ์ว่า จะนำร่างกรอบการเจรจาเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาตามมาตรการ 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 โดยไม่มีการจัดประชาพิจารณ์ร่างกรอบฯ อีก

มีการเปิดเผยถึงประเด็นที่มีความอ่อนไหวในการเจรจาว่าประกอบไปด้วย เรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์-บุหรี่, ทรัพย์สินทางปัญญา, การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ, นโยบายการแข่งขันทางการค้า และการเปิดตลาดสินค้าบริการ แต่ความเห็นของกรมเจรจาฯในฐานะฝ่ายเลขาที่ปรากฏอยู่ใน “เอกสารที่หลุดรอด” ออกมา สร้างความกระอักกระอ่วนใจแก่ทุกฝ่ายเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่เสนอให้ไทยมีท่าทียืดหยุ่นและอาจยอมรับข้อเรียกร้องที่มีลักษณะทริปส์พลัสของสหภาพยุโรป โดยให้เหตุผลสั้นๆ ว่าไม่มีผลกระทบ ในขณะที่ประเด็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์-บุหรี่  ได้เสนอให้ทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อเดือน กรกฎาคม พ.ศ. 2553 ที่ว่าด้วยยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เพื่อเปิดทางให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ เป็นสินค้าที่ต้องเจรจาการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป

ท่าทีในแบบ “ลึกลับ-ปิดลับ” เช่นนี้ ทำให้ภาคประชาสังคมเฝ้าจับตาความเคลื่อนไหวนี้อย่างกัดไม่ปล่อยมากยิ่งขึ้น

2.ทำไมจึงไม่ปฏิบัติตามขั้นตอน มาตรา 190

นอกเหนือจากประเด็นเนื้อหาที่มีความน่ากังวลห่วงใยแล้ว ประเด็นการปฏิบัติตามขั้นตอนมาตรา 190 ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน ซึ่งนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการอย่างรอบคอบมาโดยตลอดและไม่เป็นอุปสรรคใดๆต่อการเจรจาเอฟทีเอต่างๆ ที่ผ่านมา แต่ในกรณีของเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป กลับพบว่ากรมเจรจาฯจะไม่ดำเนินตามขั้นตอนที่เคยปฏิบัติมาก่อน

จากเอกสารของกรมเจรจาฯ ที่แจกแก่สื่อมวลชนในวันที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประกาศเจตนารมย์เข้าร่วมเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ภาคพื้นแปซิฟิค (TPP) กับนายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่มาเยือนประเทศไทยในขณะนั้น ได้ระบุถึง

“ขั้นตอนก่อนการเสนอตามมาตรา 190 ต้องใช้เวลาในการเจรจา ซึ่งมีขั้นตอนรายละเอียด สรุปได้ดังนี้

ก่อนเสนอตามมาตรา 190

1. ศึกษาผลประโยชน์และผลกระทบในการเข้าร่วมเจรจา

2. รับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน

3. จัดทำร่างกรอบการเจรจาความตกลงเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี และรัฐสภาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550

หลังผ่านมาตรา 190

4. หลังจากรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ไทยต้องแจ้งความจำนงการเข้าร่วมการเจรจา และรอฉันทามติจากประเทศสมาชิก TPP 11 ประเทศ

5. จึงจะมีการประกาศการเข้าร่วมการเจรจาอย่างเป็นทางการ หลังจากนั้น คณะรัฐมนตรี จะแต่งตั้งหัวหน้าคณะเจรจา

6. กำหนดกลยุทธ์ท่าทีในการเจรจา และการเตรียมความพร้อมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง”

หากย้อนกลับไปดูการปฏิบัติของกรมเจรจาฯ ที่ผ่านๆ มา โดยเฉพาะการเริ่มเจรจาเอฟทีเอระหว่างอาเซียนและสหภาพยุโรปจะพบว่ามีขั้นตอนแตกต่างไปจากที่ระบุในเอกสารข้างต้น

นายจักรชัย โฉมทองดี ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA WATCH) หรือเอฟทีเอ วอทช์ ชี้ว่า มีความพยายามโกหกใน 2 ขั้นตอน

“ขั้นตอนที่กรมเจรจาฯได้ชี้แจงเมื่อวานนี้ พยายามโกหกใน 2 ขั้นตอน คือ ไม่ยอมนำร่างกรอบการเจรจามารับฟังความคิดเห็นประชาชนและศึกษาผลกระทบโดยหน่วยงานที่เป็นกลางก่อนการเสนอขอความเห็นชอบจากรัฐสภา ทั้งๆ ที่เคยปฏิบัติมาในรัฐบาลก่อนๆ นอกจากนี้สิ่งที่ ฝ่ายเจรจาควรทำคือ ให้มีการหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง พร้อมให้ข้อมูลกับฝ่ายนิติบัญญัติระหว่างการเจรจา หลังจากนั้น ต้องนำผลการเจรจา (ร่างความตกลง) มาจัดรับฟังความเห็นประชาชนและศึกษาผลกระทบโดย หน่วยงานที่เป็นกลางก่อนการ เสนอข้อความเห็นชอบจากรัฐสภาเพื่อแสดงเจตนาผูกพันธ์”

คำถามสำคัญจึงมีว่า เหตุใดกรมเจรจาฯ และรัฐบาล จึงไม่ต้องการนำ ร่าง กรอบการเจรจาฯเอฟทีเอ ไทย-สหภาพยุโรป ไปรับฟังความคิดเห็นดังเช่นที่เคยปฏิบัติมา แม้แต่ในช่วงรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งมาจากการปฏิวัติรัฐประหาร ก็ยังเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่างๆได้มีส่วนร่วมในการพิจารณาความตกลงระหว่างประเทศที่จะส่งผลกระทบทั้งต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ทางสังคม และกระทบต่อประชาชนทั้งประเทศอย่างกว้างขวาง

เหตุใด การเจรจาเอฟทีเอ จึงเป็นไปเพื่อกลุ่มผลประโยชน์เดิมๆ ขณะที่ผลเสียจะกระจายไปทั้งแผ่นดิน

เมื่อรัฐบาลส่งสัญญาณเร่งการเจรจา สิ่งที่เกิดขึ้น คือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามหลีกเลี่ยงการให้ความเห็น กรมทรัพย์สินทางปัญญาท่องคาถาบทเดียวว่า "กรมฯ พร้อมปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาล หากเป็นเช่นนี้ก็ต้องแก้กฏหมาย" ขณะที่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หลังจากได้รัฐมนตรีสาธารณสุขคนใหม่ เลขาฯ อย. คนใหม่ ก็เดินหน้าถามความเห็นทุกฝ่ายว่า "หากรับทริปส์พลัส จะเยียวยาเช่นไร"

ไม่มีจุดยืนทางวิชาการที่เคยแข็งแกร่งอีกต่อไป  ขณะที่ไม่มีการเปิดเผย ร่างกรอบการเจรจาฯ ทั้งฉบับที่จะเข้าสู่การพิจารณาของ คณะรัฐมนตรี และไม่เคยนำไปรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชน

3.ความเร่งรีบส่งท้ายปี

แล้วความห่วงใยของสังคมก็เป็นจริง 4 ธันวาคม พ.ศ. 2555 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ ร่างกรอบการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย – สหภาพยุโรป โดยเนื้อหามติ คณะรัฐมนตรี มีดังนี้

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกรอบการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย – สหภาพยุโรป ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ และให้นำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาตามมาตรา 190 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

กรอบการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย -สหภาพยุโรปจะใช้ในการเจรจา เพื่อจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป ซึ่งครอบคลุมถึงความตกลงด้านการค้าสินค้า การค้า บริการ การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ซึ่งการเจรจาอาจเจรจาแยกเป็นรายฉบับ รวมทั้งภาคผนวกและเอกสารแนบท้าย ที่จะมีการเจรจาเพิ่มเติมในภายหน้า

สาระสำคัญของกรอบการเจรจาจะครอบคลุม 17 ประเด็น ได้แก่ 1. การค้าสินค้า  2. พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า  3. กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า  4. มาตรการเยียวยาทางการค้า   5. มาตรการปกป้องด้านดุลการซำระเงิน     6. มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช  7. อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า  8. การค้าบริการ 9. การลงทุน 10. การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐ  11. ทรัพย์สินทางปัญญา 12. การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ 13. ความโปร่งใส  14. การแข่งขัน 15. การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน 16. ความร่วมมือ และ 17.  เรื่องอื่น ๆ

แม้ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี จะพูดถึงประเด็นที่เป็นห่วง 3 เรื่องอยู่บ้าง คือ การมีข้อผูกพันทางด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่อาจก่อให้เกิดการผูกขาดทางการ เกษตรอย่างครบวงจร รวมถึงอุปสรรคต่อการใช้มาตรการสิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (CL) และการเข้าถึงยาที่จำเป็นของประชาชน ,การเปิดเสรีสินค้าแอลกอฮอล์และบุหรี่ ที่อาจส่งเสริมให้เกิดการบริโภคมากขึ้น และการสูญเสียฐานทรัพยากรของประเทศ รวมถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม  แต่ก็ยังคงไม่มีการเปิดเผยเนื้อหาร่างกรอบเจรจาอีกเช่นเคย ไม่มีใครแน่ใจว่า จะมีเนื้อความใดที่จะเป็นการป้องกันข้อห่วงกังวลเหล่านี้ไม่ให้เกิดขึ้นจากการทำเอฟทีเอกับสหภาพยุโรป

ยิ่งไปกว่านั้น มีข้อน่าสังเกตว่า เหตุใดใน 17 ประเด็นที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ครอบคลุมในการเจรจาจึงไม่มีเรื่องแรงงานและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่สหภาพยุโรปต้องการเจรจามาโดยตลอดเพื่อต้องการให้อุตสาหกรรมไทยยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองแรงงานและการรักษาสิ่งแวดล้อมในการผลิต แต่ภาคธุรกิจไทยไม่ต้องการให้เจรจาในประเด็นนี้

ดังนั้น เป็นไปได้หรือไม่ว่าที่ไม่มีเรื่องแรงงานและสิ่งแวดล้อมดังที่เคยมีในกรอบเจรจาอาเซียน-อียู  เพราะนักธุรกิจไม่ยอมเจรจาประเด็นเหล่านี้  กระทรวงพาณิชย์จึงยอมตัดออกไป ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง แล้วเหตุใดประเด็นที่ประชาชนและภาคประชาสังคมห่วงใย ซึ่งจะมีผลกระทบร้ายแรงยาวนานชั่วลูกชั่วหลาน เช่น การยอมรับทริปส์พลัส การผูกขาดทรัพย์สินทางปัญญาทั้งเรื่องสิทธิบัตรยา เมล็ดพันธุ์  ทรัพยากรชีวภาพ กลไกระงับข้อพิพาท ฯลฯ  จึงไม่ถูกตัดออกไปบ้าง

ในที่สุด ร่างกรอบการเจรจาดังกล่าวถูกนำไปรับฟังความคิดเห็น “พอเป็นพิธี” ก่อนเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเพียง 1-2 วัน ในขณะที่สมาชิกรัฐสภามีเวลาศึกษาเอกสารหนาเป็นปึกๆ แถมยังเป็นเรื่องยาก เรื่องสำคัญต่อผลประโยชน์ของประเทศชาติประชาชนเพียงไม่กี่วัน ก่อนจะมีมติให้ความเห็นชอบอย่างรวดเร็ว

4.วิเคราะห์ร่างกรอบการเจรจาฯ

ร่างกรอบการเจรจาฯ ทั่วไป จะเริ่มต้นด้วยแนวนโยบายของรัฐบาล กรมเจรจาฯได้อ้างถึงการแถลงนโยบายเศรษฐกิจที่รัฐบาลมีต่อรัฐสภาว่า “มีนโยบายขยายความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจการค้า การลงทุน และการตลาดภายใต้กรอบความร่วมมือและข้อตกลงการค้าเสรีในระบบพหุภาคีและทวิภาคี โดยเร่งรัดการใช้ประโยชน์จากความตกลงที่มีผลบังคับใช้แล้ว”

น่าแปลกที่กรมเจรจาฯ อ้างอิงนโยบายรัฐบาลเพียงแค่นั้น ขณะที่ เนื้อหาที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมตรี แถลงตามอีก 2 ประโยคถัดมามีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน นั่นคือ พร้อมทั้งวางแนวทางป้องกันผลเสียที่จะเกิดขึ้น กำหนดมาตรการในการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ และสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจเพื่อเตรียมพร้อมในการพัฒนาสินค้าและบริการให้สอดคล้องกับกฎ ระเบียบ และมาตรฐานต่าง ๆ”

คำถามคือ กรมเจรจาฯ ลืม หรือ จงใจละเลย ซึ่งน่าจะเป็นประการหลังมากกว่า เพราะสิ่งที่ปรากฏอยู่ในเอกสารคือ การเพิกเฉยต่อผลเสียที่จะเกิดขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การไร้แนวป้องกัน และไม่มีการเตรียมมาตรการใดๆ รองรับให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ

เอกสารของกรมเจรจาฯ ให้น้ำหนักมากกับอำนาจทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป แต่ไม่มีบทวิเคราะห์ที่เป็นปัจจุบันเกี่ยวกับวิกฤตหนี้สาธารณะในยูโรโซนที่เกิดขึ้นในขณะนี้ แต่กลับกล่าวอ้างว่า การประสบปัญหาของยูโรโซนจะทำให้ไทยมีอำนาจต่อรองมากขึ้น จึงควรเร่งเจรจา ซึ่งเป็นคำกล่าวที่ไม่มีหลักฐานยืนยันใดๆ ในทางตรงกันข้าม สหภาพยุโรปในปัจจุบันมีข้อกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีเข้มงวดกว่าเดิมมาก

ไม่มีหลักฐานหรืองานศึกษาใดยืนยันว่า การทำเอฟทีเอจะเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูดนักลงทุน แต่ในเอกสารกลับสรุปแบบรวบรัดว่า ถ้าไม่ทำเอฟทีเอ นักลงทุนจะย้ายฐาน ซึ่งที่ผ่านมามีเพียงการให้สัมภาษณ์เชิงข่มขู่ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ผู้ส่งออกไก่-กุ้งรายใหญ่ไปสหภาพยุโรปเท่านั้น

เหตุผลสำคัญที่ใช้สนับสนุนการเร่งการเจรจา คือ โอกาสที่ไทยจะถูกตัดสิทธิพิเศษทางศุลกากร (GSP) โดยอ้างตัวเลขในปี พ.ศ. 2554 ว่า สินค้าส่งออกของไทยที่ใช้สิทธิจีเอสพี มีมูลค่ากว่า 2.97 แสนล้านบาท  สินค้าสำคัญที่ใช้สิทธิ์ดังกล่าว ได้แก่ รถยนต์ขนส่ง, เครื่องปรับอากาศ, อาหารทะเลสด, อาหารทะเลแช่แข็ง, สัปปะรดกระป๋อง, ถุงมือยาง เป็นต้น  แต่ไม่มีคำอธิบายว่า การถูกตัดสิทธินั้น เนื่องจากรายได้เฉลี่ยต่อหัวของไทยอยู่ในระดับปานกลางค่อนข้างสูงติดต่อกัน 3 ปีและมีส่วนแบ่งการตลาดเกิน 17.5 เปอร์เซ็นต์ ไปแล้ว และแม้จะถูกตัดสิทธิ จีเอสพี ทั้งหมด ก็จะส่งผลกระทบจากการสูญเสียรายได้เนื่องจากถูกแย่งตลาด ประมาณ 2,562 ล้านเหรียญสหรัฐ(ประมาณ 79,422 ล้านบาท) ไม่ใช่ทั้งหมดของมูลค่าการส่งออก

ยิ่งไปกว่านั้น จากเอกสารของคณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก เรื่องผลกระทบของการปฏิรูประบบ GSP ของหสภาพยุโรปจ่อการส่งออกของไทย ที่นำเสนอเมื่อวันที่ 9 ก.ค.55 ระบุอย่างชัดเจนว่า “ผลกระทบต่อการส่งออกของไทย แบ่งเป็น 2 ช่วงเวลา ได้แก่ 1) ช่วงปี 2557 และ 2) ช่วงปี 2558 เป็นต้นไปนั้น ในช่วงปี 2557 สินค้าที่มีแนวโน้มถูกตัด GSP เพราะมีส่วนแบ่งตลาดเกินเกณฑ์ที่ EU กำหนด จานวน 50 รายการ โดยประเมินผลกระทบเป็นมูลค่าเท่ากับ 77.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และในช่วงที่ 2 คือ ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นไป ที่ไทยมีแนวโน้มถูกตัดสิทธิทั้งประเทศทาให้สินค้าที่เหลือจานวน 723 รายการไม่สามารถใช้สิทธิ GSP มีผลกระทบเป็นมูลค่า 64 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นอกจากนี้ การที่ไทยถูกตัดสิทธิ GSP ยังมีแนวโน้มที่อาจเกิดการเบี่ยงเบนทางการค้าจากสินค้าของไทยไปยังสินค้าของคู่แข่งที่ยังคงรับสิทธิ GSP เป็นมูลค่า 938 ล้านเหรียญสหรัฐฯ”

นั่นหมายความว่า การถูกตัดสิทธิ GSP ของไทยส่งผลกระทบรวมทั้งสิ้น 1,080 ล้านเหรียญฯ หรือประมาณ 34,560 ล้านบาทเท่านั้น

 

การระบุว่าหากไม่จัดทำความตกลงกับสหภาพยุโรป จะทำให้ประเทศไทยขาดประสบการณ์และขาดการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการทำความตกลงการค้าเสรีในอนาคต เป็นข้ออ้างที่รับฟังไม่ได้ เพราะการเตรียมความพร้อมและประสบการณ์อยู่ที่ข้อมูลในการรู้เขา-รู้เรา หากกรมเจรจาฯ เรียนรู้งานวิจัยต่างๆ ที่หน่วยราชการได้จัดจ้างมาแล้วอย่างลึกซึ้งมากกว่านี้ แทนที่จะดูแต่ด้านดี ด้านสนับสนุนการเจรจาโดยไม่สนใจข้อระวัง หรือข้อเสนอแนะเลย เช่นนี้ ไม่แคล้วที่จะต้องตกอยู่ในสภาพที่นายราล์ฟ บอยซ์ อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย เคยรายงานต่อกระทรวงการต่างงประเทศสหรัฐฯ ว่า ทีมเจรจาฝ่ายไทยนั้น Lack of adequate preparation in Thailand for FTA Talk

เมื่อพิจารณา วัตถุประสงค์และเป้าหมายการเจรจาในภาพรวมกับสหภาพยุโรป จะพบว่า สาระที่พึงเป็นประโยชน์กับไทย ระบุไว้แค่เป็นความร่วมมือ ทั้งๆที่สาขาเหล่านั้นตามที่ระบุในข้อ 4.2.2  เป็นสาขาที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ รวมถึงต้องได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี นวัตกรรมที่ทันสมัย รวมถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตามที่กล่าวอ้างไว้แล้วในข้อ 3.3

น่าแปลกว่าเป้าหมายการเจรจา 2 ข้อที่เคยปรากฏอยู่ในร่างกรอบการเจรจาเอฟทีเอ อียู-อาเซียน กลับหายไปอย่างไร้ร่องรอยในร่างกรอบการเจรจานี้ กล่าวคือ

- คำนึงถึงระดับการพัฒนา หลักการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน มีภูมิคุ้มกัน และความพร้อมของกฎหมายภายใน

- มีระยะเวลาในการปรับตัวและมาตรการรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น

คงเป็นเพราะถูกตั้งข้อสังเกตว่า ไม่ยอมรับฟังความคิดเห็น กรมเจรจาฯ จึงได้ไล่เรียงการรับฟังความคิดเห็นอย่างละเอียด ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552  จนถึงการจัดการรับฟังของคณะกรรมการรับฟังความคิดเห็น ตามมติคณะรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และการจัด focus group ในเดือนกันยายน ข้อสังเกตที่สำคัญคือ การจัดรับฟังความเห็นทั้งหมด ไม่ได้เป็นการนำร่างกรอบการเจรจาฯ ทั้งฉบับไปรับฟังความคิดเห็น เป็นเพียงการรวบรวมข้อคิดเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาความเป็นไปได้ในการเจรจาเท่านั้น ซึ่งไม่ตรงกับมาตรา 190 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติว่าคณะรัฐมนตรีต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น

ในเอกสารของกรมเจรจาฯ ระบุว่า  จากการรวบรวมข้อคิดเห็นทั่วประเทศของคณะกรรมการรับฟังความคิดเห็น ที่ตั้งตามมติคณะรัฐมนตรี  มีข้อห่วงกังวลที่เด่นชัดคือ การมีข้อผูกพันเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเกินไปกว่าที่ตกลงไว้แล้วในองค์การการค้าโลก (ทริปส์พลัส) ซึ่งจะทำให้เกิดการผูกขาดภาคเกษตรกรรมครบวงจร กระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และวิถีชีวิตของชุมชนและเกษตรรายย่อย รวมถึงเป็นอุปสรรคต่อการใช้มาตรการสิทธิเหนือสิทธิบัตรยา และการเข้าถึงยาจำเป็นของประชาชน, การเปิดเสรีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และบุหรี่ จะทำให้มีการบริโภคมากขึ้นซึ่งส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างกว้างขวาง รวมถึงการสูญเสียทรัพยากรของประเทศและสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

จากข้อห่วงกังวลดังกล่าว  คณะกรรมการรับฟังความคิดเห็น ได้มีข้อเสนอแนะในหลายเรื่องสำคัญ อาทิ  การเจรจาเรื่องระดับความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาต้องไม่เกินไปกว่าที่ผูกพันในองค์การการค้าโลก (ทริปส์พลัส) และควรให้สหภาพยุโรปถ่ายทอดเทคโนโลยีและความร่วมมือเพื่อพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาของไทย, การเจรจาต้องไม่มีผลให้มีการนำข้อพิพาทที่เกี่ยวกับการลงทุนสาธารณะเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ และสินค้าที่มีความละเอียดอ่อนและอ่อนไหวทางสังคมสูง ได้แก่ ยา สุรา บุหรี่ ต้องเจรจาอย่างรอบคอบและระมัดระวัง

อย่างไรก็ตาม ข้อห่วงกังวล และข้อแนะนำ โดยเฉพาะประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นไปในทิศทางเดียวกับงานศึกษาของสถาบันทีดีอาร์ไอที่กรมเจรจาฯ  จัดจ้างว่า    ต้องไม่ยอมรับทริปส์พลัส กลับไม่สะท้อนอยู่ในร่างกรอบเจรจาฯ ที่ผ่านคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2555  ซึ่งแตกต่างจากร่างกรอบเจรจาฯ ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะอนุกรรมการกำกับดูแลความตกลงการค้าเสรี ที่มีนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเป็นประธาน ที่ระบุอย่างชัดเจนว่า  “ให้ระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาต้องไม่เกินไปกว่าที่ผูกพันไว้ในความตกลงขององค์การการค้าโลก กฎหมายไทย หรือความตกลงใดๆ ที่ไทยเป็นภาคี”

ข้อสังเกตอีกประการ คือ    การรายงานผลการประชุม focus group ในกลุ่มสินค้ายาเมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2555  ที่อ้างคร่าวๆ  ว่า กลุ่มหนึ่งสนับสนุนการเจรจาที่อาจครอบคลุมไปมากกว่าทริปส์  ส่วนอีกกลุ่ม ซึ่งประกอบด้วยกระทรวงสาธารณสุขและภาคประชาสังคมเห็นว่าต้องจำกัด เนื่องจากเกรงผลกระทบต่อการเข้าถึงยาของประชาชน โดยสองฝ่ายมีเหตุผลสนับสนุนอย่างแข็งขัน แต่ไม่มีการให้รายละเอียดว่า กลุ่มใดที่ให้การสนับสนุนทริปส์พลัส

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณารายงานข่าวในช่วงดังกล่าวจะพบว่า กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการยอมรับทริปส์พลัส ประกอบด้วย ตัวแทนจากกระทรวงสาธารณสุข ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และ อุตสาหกรรมยาในประเทศ ขณะที่กลุ่มที่เห็นด้วยกับการยอมรับทริปส์พลัส คือ นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ในฐานะตัวแทนสภาหอการค้าไทย และที่ปรึกษาอาวุโส กลุ่มธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์  (ซีพี)       ซึ่งจะได้ประโยชน์โดยตรงกับการคงสิทธิ จีเอสพี แบบถาวร และนางอำพร เจริญสมศักดิ์ ตัวแทนสมาคมพรีม่า ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทยาข้ามชาติที่งานศึกษาของทีดีอาร์ไอระบุว่า จะได้ประโยชน์เต็มๆ จากการยอมรับทริปส์พลัสขณะที่ประเทศไทยจะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย

หากพิเคราะห์ร่างกรอบเจรจาฯ โดยตลอดจะพบว่า สาระที่เกี่ยวกับความต้องการของภาคธุรกิจไทย จะได้รับการคุ้มครองป้องกันอย่างหนักแน่น เช่น ประเด็นแรงงานและสิ่งแวดล้อม ที่ยืนหยัดให้ใช้กฎหมายและระเบียบภายในประเทศที่มีอยู่ และเน้นเรื่องความร่วมมือมากกว่าการบังคับ เป็นต้น

จากที่กล่าวมาทั้งหมด...จึงย้อนกลับไปสู่ตอนเริ่มต้นของเอกสารว่า น่าจะเป็นความจงใจที่เน้นการวัดเป็นตัวเลขที่จะสูญเสียหากไม่มีการเจรจาให้เกินจริง เน้นผลประโยชน์ที่จะได้มากกว่าให้น้ำหนักที่เท่าเทียมกับผลเสียที่จะเกิดขึ้น ตอบสนองความต้องการของทุนใหญ่ โดยละเลยสิ่งที่เคยให้สัญญาประชาคมไว้ในนโยบายรัฐบาลที่ว่าจะ “วางแนวทางป้องกันผลเสียที่จะเกิดขึ้น กำหนดมาตรการในการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ”           

 

5.จากยกหนึ่ง... ถึงยกสอง...ไทย “เผาป่าล่าเสือ”       

การเจรจาเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป รอบแรกมีขึ้นเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2556  ณ กรุงบรัสเซล ประเทศเบลเยี่ยม สำหรับการเจรจารอบ 2 จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 16-20 กันยายนนี้ ที่จังหวัดเชียงใหม่

การเจรจาครั้งนี้แตกต่างจากการเจรจาเอฟทีเอที่ผ่านมาๆ  เพราะฝ่ายไทยต้องการเจรจาอย่างรวบรัดให้เสร็จสิ้นภายใน 2 ปี เพื่อให้ทันกับการต่อสิทธิพิเศษทางการค้าหรือ จีเอสพีให้กับสินค้าส่งออกบางชนิด ดังนั้น ประเด็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งมักจะถูกหยิบยกขึ้นมาถกกันในช่วงกลางของการเจรจา จึงถูกหยิบขึ้นมาพิจารณาในการเจรจารอบแรกทันที

การเร่งรีบ รวบรัด โดยสร้าง “กรอบเวลา 2 ปี” ไว้เป็นเงื่อนรัดคอตัวเองไว้เช่นนี้ จะทำให้ขาดความละเอียด รอบคอบ ขาดการคิดค้นยุทธวิธีต่อรองไปมา ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นในการเจรจาระหว่างประเทศ ไม่ว่าความเมืองหรือการค้าก็ตาม ทั้งหมดนี้ย่อมทำให้การเจรจาด้อยประสิทธิภาพและฝ่ายไทยจะสูญเสียอำนาจต่อรองอย่างมาก เพราะหากดูประสบการณ์การเจรจาของอินเดียซึ่งเป็นประเทศที่ใหญ่กว่าไทย เจรจากับสหภาพยุโรปมาแล้วกว่า 5 ปี ก็ยังไม่ยุติ มิหนำซ้ำยังสามารถทำให้สหภาพยุโรปยอมที่จะไม่กดดันให้อินเดียต้องแก้ไขกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับยา กระทั่งสิงคโปร์ที่เล็กกว่าไทย ก็ยังต้องใช้เวลาเจรถึง 3 ปี จึงใกล้จะได้ข้อยุติ

ว่าไปแล้ว การเจรจาเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป ที่มีการ “ตั้งธง” ไว้แล้วว่าให้ค่ากับการได้ต่อสิทธิพิเศษจีเอสพีมากกว่าทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งเรื่องสิทธิบัตรยา การผูกขาดเมล็ดพันธุ์ สิทธิบัตรจุลินทรีย์ กลไกการระงับข้อพิพาทที่แทบทุกประเทศ “ส่ายหน้า” ว่าไม่เอา ฯลฯ ก็ไม่ผิดอะไรกับสุภาษิต-คำพังเพยเก่าแก่ที่ว่า “เผาป่าล่าเสือ” นั่นเอง

ข้อมูลด้านล่างนี้คือประเด็นที่หลายภาคส่วนเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ มีผลกระทบสูง แต่ดูเหมือนคณะเจรจาฯ จะให้ค่าน้อยกว่าการได้สิทธิจีเอสพี ทบทวนกันอีกสักครั้งว่ามีความสำคัญและน่าห่วงใยเพียงใด

6.ประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาเกี่ยวกับยา

4 กันยายน พ.ศ. 2555 นักวิชาการด้านเภสัชศาสตร์ การแพทย์ การสาธารณสุข การพัฒนาสังคม การคุ้มครองผู้บริโภค และการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 84 คนได้ทำหนังสือถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ระบุว่า  ข้อสรุปของกรมเจรจาฯ เป็นการสรุปที่บิดเบือนจากความเป็นจริง และไม่ได้มีการใช้องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องที่มีอยู่   ซึ่งจะชี้นำทิศทางที่ผิดพลาดให้แก่ผู้กำหนดนโยบาย โดยเฉพาะกับรัฐบาลของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ที่มีนโยบายสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพ

“การคุ้มครองข้อมูลทดสอบยาหรืออีกนัยหนึ่งคือ การผูกขาดข้อมูลการขึ้นทะเบียนตำรับยา (data exclusivity) ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรป เป็นการสร้างระบบการผูกขาดทางการตลาดยาขึ้นใหม่ ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็น “สิทธิบัตรอำพราง” เพื่อเพิ่มการผูกขาดของสิทธิบัตรที่มีอยู่เดิม โดยอาจมีระยะเวลาการผูกขาดเพิ่มมากขึ้นถึง 10 ปี  และจากประสบการณ์ในหลายประเทศ เช่น โคลัมเบีย หลังจากที่สหภาพยุโรปบังคับให้มีการผูกขาดข้อมูลยา 10 ปี ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศเพิ่มขึ้นถึง 340 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (10,200 ล้านบาท) ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิจัยในไทย ที่พบว่า ถ้าปล่อยให้มีการผูกขาดข้อมูลการขึ้นทะเบียนตำรับยาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 (ซึ่งเป็นปีที่ทำการศึกษา) ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านยาของไทยในอีกห้าปีข้างหน้า (พ.ศ. 2556)  จะสูงถึง 81,356 ล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้ คณะนักวิชาการทั้ง 84 คนเสนอให้ รอผลการประเมินทางสุขภาพกรณีศึกษาผลกระทบจากความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรปต่อการเข้าถึงยา ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ซึ่งเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบด้านสาธารณสุขของประเทศโดยตรงกำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งจะแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2556  เพื่อให้ผู้มีอำนาจในการเจรจานำไปใช้เป็นข้อมูลในการต่อรองให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ

เช่นเดียวกับความเห็นของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ปลายเดือนสิงหาคม กระทรวงสาธารณสุขได้ทำหนังสือถึงกระทรวงพาณิชย์ แสดงความห่วงใยอย่างยิ่งต่อประเด็นข้อเรียกร้องการเปิดการเจรจาการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป “ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงอย่างรุนแรงต่อการบริหารจัดการยาและเวชภัณฑ์ภาครัฐ อันเกี่ยวพันโดยตรงถึงชีวิตและสุขภาพของประชาชน”

กระทรวงสาธารณสุขได้ชี้ให้ เห็นถึงปัญหาโดยกรณี พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2535 ที่มีการแก้ไขขยายอายุการคุ้มครองสิทธิบัตรจาก 15 ปี เป็น 20 ปีและการเพิ่มความคุ้มครองสิทธิบัตรยา ส่งผลให้เกิดความพลิกผันของมูลค่าการใช้จ่ายยาในประเทศ ระหว่างยานำเข้าที่มีสิทธิบัตรกับยาผลิตในประเทศ จากเดิมที่มูลค่าการใช้ยานำเข้าอยู่ที่ 34 เปอร์เซ็นต์  และมูลค่าการใช้ยาผลิตในประเทศอยู่ที่ 66 เปอร์เซ็นต์ ของมูลค่าการใช้ยาทั้งประเทศ แต่ปัจจุบันมูลค่าการใช้ยานำเข้าอยู่ที่ 77 เปอร์เซ็นต์  ขณะที่มูลค่าการใช้ยาที่ผลิตในประเทศเหลือเพียงแค่ 23 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น จากมูลค่ายาของทั้งประเทศอยู่ที่ 1.4 แสนล้านบาท (ข้อมูลปี พ.ศ. 2554) ทั้งนี้เนื่องมาจากการนำเข้ายามีสิทธิบัตรเพิ่มมากขึ้น ส่งผลต่องบประมาณภาครัฐ ความยั่งยืนในการบริหารจัดการยาและเวชภัณฑ์ นอก จากนี้ยังส่งผลกระทบต่อการเติบโตและการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมยาภายในประเทศอย่างมาก เกิดการชะลอการผลิตยาสามัญใหม่ๆ ทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้

“ประเด็นข้อเรียกร้องสำคัญจากฝ่ายอียูที่จะส่งผลกระทบอย่างมากโดยตรงต่อการบริหารจัดการยาและเวชภัณฑ์ภาครัฐซึ่งจะเกี่ยวพันกับปัญหาอุปสรรคการเข้าถึงยาของประชาชน ประกอบไปด้วย  ๑) การขยายอายุการคุ้มครองสิทธิบัตรอย่างน้อย 5 ปี;  ๒) การคุ้มครองข้อมูลในรูปแบบการได้รับสิทธิพิเศษเพียงผู้เดียวเหนือข้อมูลที่ยื่นทะเบียนยาครั้งแรกและครั้งต่อๆไป อย่างน้อย 5 ปี หรือ data exclusivity ซึ่งอยู่ในหมวดการเจรจาด้านทรัพย์สินทางปัญญา; ๓) การจับ ยึด อายัด หรือทำลายสินค้ายาและเวชภัณฑ์ที่สงสัยว่า อาจจะละเมิดสิทธิบัตรหรือทรัพย์สินทางปัญญาประเภทอื่นๆ ณ จุดผ่านแดน ซึ่งอยู่ในหมวดการเจรจาด้านมาตรการ ณ จุดผ่านแดน (Border Measure)”

ทางด้านนางปัจฉิมา ธนสมบัติ อธิบดีกรมกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้กล่าวถึงความพยายามของกรมเจรจาฯ ที่เร่งให้มีการเริ่มเจรจาเอฟทีเอกับสหภาพยุโรปว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ต้องทำอย่างรอบคอบ และหากไทยไปยอมรับความตกลงที่เกินไปกว่าทริปส์ตามที่สหภาพยุโรปต้องการ จะนำไปสู่การแก้กฎหมายซึ่งประเทศสมาชิกอื่นๆ ขององค์การการค้าโลกจะมาเรียกร้องขอใช้ประโยชน์ด้วย อย่างไรก็ตาม จากนั้นไม่นาน หน่วยงานเหล่านี้ก็พยายามหลีกเลี่ยงการให้ความคิดเห็นหรือแสดงจุดยืนทางวิชาการในเรื่องดังกล่าวต่อสาธารณะ

หลังจากที่ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ทั้งสื่อกระแสหลักและโซเซียลเน็ตเวิร์ค กรมเจรจาฯ ต้องจัดการประชุมกลุ่มย่อยใน 7 ประเด็น โดยกรมเจรจาฯได้นำเสนอส่วนหนึ่งของ (ร่าง) กรอบการเจรจาฉบับใหม่ ด้วยข้อความที่แตกต่างไปจากที่เคยเสนอคณะอนุเอฟทีเอในคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2553  ที่ระบุว่า “ให้ระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาสอดคล้องกับระดับการคุ้มครองตามความตกลงขององค์การการค้าโลก และ/หรือความตกลงใด ๆ ที่ไทยเป็นภาคี”

กรมเจรจาฯ ให้เหตุผลว่า เป็นไปตามกรอบการเจรจาอาเซียน-สหภาพยุโรปที่เคยผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว  แต่ในการขยายความระหว่างการประชุม อธิบดีกรมเจรจาฯ ระบุว่า (ร่าง) กรอบการเจรจาดังกล่าวอนุญาตให้เจรจาความตกลงที่เกินไปกว่าความตกลงทริปส์ได้ เพราะในความตกลงทริปส์ขององค์การการค้าโลกเป็นมาตรการขั้นต่ำ จึงนับเป็นความสอดคล้อง ซึ่งตัวแทนอย. ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และ อุตสาหกรรมยาในประเทศไม่เห็นด้วย มีเพียงนายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ที่ปรึกษาอาวุโส กลุ่มธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี)ในฐานะตัวแทนสภาหอการค้าไทย และนางอำพร เจริญสมศักดิ์ ตัวแทนสมาคมพรีม่าซึ่งเป็นบริษัทยาข้ามชาติที่สนับสนุนเต็มตัว

ความเคลื่อนไหวของตัวแทนซีพีที่ใช้ฐานะสภาหอการค้าไทย และพรีม่า น่าสนใจยิ่ง เพราะจากนั้นไม่นานทั้งสองหน่วยงานนี้ ได้จับมือกับกรมเจรจาฯ ขอหารือกับสมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน (TPMA) เพื่อให้ยอมรับการเยียวยาหากต้องยอมรับทริปส์พลัส

อย่างไรก็ตาม หลังการประชุมเสร็จสิ้นไม่นาน สมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน (TPMA) ซึ่งเป็นผู้ผลิตยาชื่อสามัญในประเทศ ได้ทำหนังสือที่ ท.032/2555 ลงวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ถึงอธิบดีกรมเจรจาฯ เพื่อแสดงจุดยืนของสมาคมต่อการเปิดเขตการค้าเสรี ไทย-สหภาพยุโรป และไทย-สมาคมการค้ายุโรป (EFTA) โดยระบุว่า สินค้ายาสำเร็จรูปที่นำมาจำหน่ายในประเทศไทยส่วนใหญ่นำเข้าจากสหภาพยุโรป (EU-EFTA) และ สหรัฐฯ แต่ประเทศหลักที่ไทยส่งยาออกไปไม่ใช่ประเทศเหล่านี้ ดังนั้น ในหมวดสินค้ายาในรูปวัตถุดิบ สินค้ายาสำเร็จรูป และของเสียจากเภสัชภัณฑ์ประเทศไทยจะไม่ได้ประโยชน์จากการเจรจาเอฟทีเอแต่อย่างใด จึงขัดกับหลักการและวัตถุประสงค์ของการเจรจาเอฟทีเอที่ว่าจะส่งเสริมให้การ ค้าระหว่างกันสูงขึ้น ทางสมาคมฯ จึงไม่เห็นด้วยเพราะ นอกจากประเทศไทยจะไม่ได้ประโยชน์อะไรจากความตกลงดังกล่าวแล้ว กลับเป็นการเอื้อประโยชน์ให้สินค้ายาฯ มีปริมาณและมูลค่านำเข้าสูงขึ้น ประกอบกับถ้าหากกรมเจรจาฯ ยอมรับข้อผูกพันที่มากกว่าความตกลงทริปส์ หรือ ทริปส์พลัส ก็จะทำให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงและใหญ่หลวงต่อระบบสาธารณสุขของประเทศ

นายอนันต์ เมืองมูลไชย สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า ถึงแม้ว่า การทำเอฟทีเอกับสหภาพยุโรปจะส่งผลทางบวกต่อจีดีพีของไทยตามรายงานการวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)   อีกทั้งกรมเจรจาฯ ให้เหตุผลที่ต้องเร่งเปิดเจรจาเอฟทีเอกับอียู ก็เพื่อรักษาสิทธิพิเศษทางการค้า (Generalized System of Preferences: GSP) ที่ผู้ส่งออกไทยเคยได้รับอยู่และมีโอกาสจะถูกตัดสิทธินี้ในปลายปีหน้าเพราะเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง 3 ปีติดต่อกัน คิดเป็น 2,562 ล้านเหรียญสหรัฐสหรัฐ (ประมาณ 79,422 ล้านบาท) อีกทั้งเพื่อนบ้านของไทยในอาเซียน อาทิ สิงคโปร์ มาเลเซีย เจรจาใกล้ได้ข้อยุติแล้ว แต่งานวิจัยดังกล่าว ทำก่อนที่อียูจะประสบวิกฤตเศรษฐกิจที่ยังหาทางออกไม่ได้

“หากดูวิกฤตเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปในขณะนี้ ที่อำนาจทางเศรษฐกิจและกำลังซื้อลดลงอย่างมาก และยังไม่ถึงจุดต่ำสุดของวิกฤตเศรษฐกิจ รายงานของทีดีอาร์ไอในเชิงตัวเลขผลได้อาจไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน จึงไม่ควรใช้เป็นข้อมูลประกอบการกำหนดนโยบายที่มีผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้างอย่างรอบคอบและแม่นยำ ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อพิจารณาจากผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการผูกขาดข้อมูลทางยา (Data Exclusivity) ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องที่มากเกินกว่าความตกลงทริปส์ที่สหภาพยุโรปต้องการมากที่สุด เพียงข้อเรียกร้องเดียวก็จะทำให้ ค่าใช้จ่ายด้านยาของไทยจะสูงขึ้นถึง 81,356 ล้านบาท/ปี รัฐบาลของท่านนายกฯ ยิ่งลักษณ์ที่ให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำจึงต้องระมัดระวังในการเจรจาอย่างยิ่ง”

เอกสารของสภาที่ปรึกษาฯ ได้หยิบยกงานศึกษาและประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในต่างประเทศ พบว่า “หลังจากที่จอร์แดนทำเอฟทีเอกับสหรัฐฯ และต้องยอมรับข้อเรียกร้องที่เกินกว่าความตกลงทริปส์ เมื่อปี พ.ศ. 2546 ราคายาได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 และเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ ยาในตลาดร้อยละ 79 ไม่มียาชื่อสามัญเข้ามาแข่งขันได้ ทำให้ต้นทุนการรักษาพยาบาลสูงขึ้นและราคายาแพงกว่าอียิปต์ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านถึง 8 เท่า

ในโคลัมเบียหลังจากที่สหภาพยุโรปบังคับให้มีการผูกขาดข้อมูลยา 10 ปี ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศเพิ่มขึ้น 340 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (10,200 ล้านบาท) /ปี

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่ศึกษาข้อมูลจาก 224 ประเทศระหว่างปี ค.ศ. 2006-2008 พบว่า การเพิ่มความเข้มงวดในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ได้มีผลต่อการวิจัยและพัฒนาแต่มีผลกระทบ อย่างมีนัยสำคัญต่อการเสียชีวิตของทารกในประเทศนั้นๆ

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าหน่วยงานของสหประชาชาติ อาทิ องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO), โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme : UNDP) และโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ (United Nations AIDS : UNAIDS) รวมทั้งการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (United Nations Conference on trade and Development : UNCTAD) ได้ออกเอกสารแนะนำ (Briefing Paper) แก่ประเทศกำลังพัฒนาให้พยายามหลีกเลี่ยงการยอมรับข้อตกลง ด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่เกินไปกว่าความตกลงทริปส์ โดยเฉพาะการผูกขาดข้อมูลยา (Data Exclusivity) และให้คงมาตรการยืดหยุ่นตามความตกลงทริปส์ในกฎหมายของประเทศให้มากที่สุดเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาสาธารณสุข

แม้แต่สภายุโรปก็เคยมีข้อมติห้ามมิให้คณะกรรมาธิการยุโรปไปบีบบังคับให้ประเทศกำลังพัฒนาต้องยอมรับข้อตกลงที่เกินไปกว่าความตกลงทริปส์ เพราะเกรงผลกระทบจะเกิดกับประเทศกำลังพัฒนาในการแก้ปัญหาสาธารณสุขในประเทศ และล่าสุด นายคาเรล เดอ กุช ประธานคณะกรรมาธิการการค้าของสหภาพยุโรปซึ่งกำลังเจรจาการค้าเสรีหรือเอฟทีเอกับอินเดีย แต่เกิดความชะงักงันมากกว่าครึ่งปี สาเหตุจากที่ฝ่ายอินเดียไม่ยอมรับข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรปที่ต้องการให้อินเดียปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาเกินไปกว่าความตกลงทริปส์ในองค์การการค้าโลก ได้เขียนบทความลงนิตยสาร Government Gazette ของอังกฤษ ฉบับเดือนตุลาคม ค.ศ. 2012 ระบุว่า สหภาพยุโรปจะไม่กดดันให้อินเดียต้องแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาในด้านนี้แล้ว เพื่อป้องกันผลกระทบทางลบที่จะเกิดต่อการเข้าถึงยารักษาโรคในราคาที่เหมาะสมทั้งที่อินเดียและที่อื่นๆ ทั่วโลก”

 หรือว่า ไปๆ มาๆ เรื่องของการขยายอายุสิทธิบัตรยา และการผูกขาดข้อมูลทางยา ดูจะไม่ใช่ความมุ่งหมายที่แท้จริงของสหภาพยุโรป เพราะได้ยอมยกธงขาว ยกเลิกข้อเรียกร้องดังกล่าวกับอินเดียไปแล้ว หลังจากที่อินเดียยืนกราน ไม่ยอมรับทริปส์พลัสที่เกินกว่าความตกลงทริปส์ ขององค์การการค้าโลก ถ้าฝ่ายไทยไหวตัวไม่ทัน ยอมตามข้อเรียกร้องนี้ ก็เข้าข่ายเสียค่าโง่

แล้วความมุ่งหมายที่แท้จริงของสหภาพยุโรปอยู่ที่ไหน?....น่าจะอยู่ที่การยกระดับการบังคับใช้กฎหมายให้เข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะในหมวดย่อยว่าด้วยการบังคับให้เป็นไปตามสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา (Enforcement of Intellectual Property Rights) รวมทั้งมาตรการ ณ จุดผ่านแดน (Border Measures) ซึ่งสหภาพยุโรปต้องการให้มีการยึดจับยาที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา อย่างไรก็ตาม ข้อเรียกร้องดังกล่าวอาจนำไปสู่การยึดจับยาชื่อสามัญ และทำลายผู้ผลิตยาชื่อสามัญในประเทศ ด้วยข้อกล่าวหาที่ไม่เป็นธรรมได้

ตัวอย่างข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรป ที่จะขยายการยึดจับอายัดสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่ดูได้ด้วยตาเปล่า นั่นคือ เครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ ให้รวมไปถึงสินค้าที่ถูกกล่าวหาว่า ละเมิดสิทธิบัตร ทั้งที่ดูด้วยตาเปล่าไม่ได้ แม้คดีขึ้นสู่ศาลทรัพย์สินฯก็ยังใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 4-5 ปี และยังเรียกร้องให้สามารถร้องต่อศาลให้ยึดจับและระงับโดยแม้ไม่มีหลักฐานเพียงพอ, ไม่วางเงินประกัน, ไม่ฟังคำชี้แจงอีกฝ่ายหนึ่ง, ไม่กำหนดระยะเวลาการยึด, ให้ระงับทุกกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับสินค้าที่ถูกกล่าวหานั้น เช่นการขนส่ง การจัดหาวัตถุดิบ, ให้ยึดจับแม้อาจยังไม่ได้ละเมิด ฯลฯ ซึ่งนี่จะเป็นการแก้กฎหมายเพื่อเข้าข้างผู้ทรงสิทธิจนละเมิดสิทธิผู้อื่น

ดังนั้น ต้องไม่ยอมรับข้อเรียกร้องดังกล่าว แล้วเสนอเนื้อหาที่สร้างความสมดุลระหว่างการคุ้มครองผู้ทรงสิทธิและสร้างความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหา

สหภาพยุโรปแสดงเจตจำนงค์อย่างชัดเจนที่จะยกเลิกสิทธิบางประการของหน่วยราชการในการจัดหาจัดหายาจำเป็นที่มีคุณภาพ มาตรการด้านราคาและการเบิกจ่ายค่ายา ตลอดจนการเข้าถึงยาเพื่อเป็นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในการเจรจาหัวข้อ Government Procurement และยังมีความต้องการกลไกการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน (Investor-State Dispute Settlement) ให้ครอบคลุมยาและเวชภัณฑ์ด้วย

ในประเด็นนี้ ผศ.ดร.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) ให้ความเห็นว่า “อียูจะอ้างเรื่องความโปร่งใส และลดกฎระเบียบต่างๆที่ภาครัฐเคยดูแลผลิตและจัดหายาและเวชภัณฑ์บางส่วนว่า ต้องให้เอกชนเข้ามาแข่งขันทั้งหมด แต่เรื่องยาไม่เหมือนกับสินค้าทั่วไป ที่ใครใคร่ซื้อ ซื้อ ใครใคร่ขาย ขาย เพราะเมื่อเวลาขาดแคลนหรือเมื่อจำเป็นที่ต้องขึ้นมาจะทำอย่างไร เอกชนเขาก็ต้องมุ่งหวังกำไร  ถึงแม้จะมีกฏระเบียบอยู่  แต่บางอย่างถ้าไม่มีกำไรเอกชนไม่ทำ ยกตัวอย่างง่ายๆ เลยคือยากำพร้า ซึ่งแม้ว่ามันจะไม่มีที่ใช้และเราไม่อยากใช้มากด้วยนั้น  ก็ยังจำเป็นต้องมีเพราะจะมีผู้ป่วย  เช่นเกษตรกรที่ได้รับสารพิษและเกิดอาการเป็นพิษขึ้นมา  ยาไม่แพงนะ แต่ไม่มีคนผลิต อย่างนี้รัฐต้องเข้ามาแทรกแซง จึงเป็นหน้าที่ของรัฐส่วนหนึ่งที่จะต้องคงไว้ซึ่งการมียา การพึ่งตนเองเมื่อยามขาดแคลน รวมทั้งจัดหาเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงยาอย่างครบถ้วน เป็นเรื่องสำคัญมาก” 

ผู้จัดการแผนงาน กพย. ยังระบุอีกว่า ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมยาข้ามชาติและรัฐบาลประเทศพัฒนาแล้วพยายามที่จะผลักดันเรื่อง Government procurement เข้าไปอยู่ตลอดเวลาที่มีการเจรจาการค้าต่างๆ โดยเฉพาะองค์การการค้าโลก ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเป็นเรื่องสำคัญของรัฐบาลที่ต้องทำหน้าที่ดูแลประชาชนที่ประเทศที่กำลังพัฒนาจำเป็นต้องทำ จึงมีความพยายามมาเจรจาในระดับทวิภาคี นี่คือการแทรกแซงการจัดหายาและเวชภัณฑ์ของประเทศ ทำให้ระบบการจัดหายาโดยภาครัฐนั้นด้อยคุณค่าลง หรือในหลายประเทศแปรรูปให้เอกชนจัดการ อย่างที่เกิดขึ้นในมาเลเซีย

“เดิมมาเลเซีย ใช้วิธีการควบคุมโดยรัฐ และพยายามทำระบบหลักประกันสุขภาพต่างๆ  ซึ่งในการจัดหายานั้นแต่เดิมก็จัดการโดยรัฐ  แต่ก็มีการเริ่มแปรรูปให้เอกชนจัดการ (Privatization)ไป มีงานวิจัยออกมาพบว่าราคายาหลังการแปรรูปแล้วนั้นมีราคาสูงขึ้นมหาศาล ซึ่งเกิดจากการที่รัฐไม่ได้เข้าไปจัดการ ปล่อยให้เอกชนจัดการซึ่งเค้าจะทำอย่างไรก็ได้ กลับมาที่ประเทศไทย มีข่าวเรื่องความพยายามจะแปรรูป องค์การเภสัชกรรม ซึ่งก็ไปสอดคล้องกับความต้องการของอียู พอดีประเด็นคือ ถ้าไม่มีรัฐเข้าไปควบคุมในส่วนนี้  จะเป็นความสุ่มเสี่ยงที่ใหญ่มาก ผู้เจรจาฯ ควรตระหนักถึงผลกระทบนี้”

กล่าวโดยสรุปคือ ในประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับยา สหภาพยุโรปต้องการ คือ

·        ขยายอายุการคุ้มครองสิทธิบัตร

·        ผูกขาดข้อมูลทางยา

·        เพิ่มกรอบความคุ้มครองสิทธิบัตร

·        แทรกแซงการจัดซื้อและจัดหายาของประเทศ

·        เพิ่มการบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาและมาตรการผ่านแดนอย่างเข้มงวดและเกินเลย

·        จำกัดการใช้มาตรการยืดหยุ่น ด้วยกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน

 

ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นนอกจากภาระงบประมาณไม่ต่ำกว่าปีละแสนล้านบาทแล้ว ยังเป็นการทำลายอุตสาหกรรมยาชื่อสามัญ และบ่อนทำลายระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศด้วย

ไม่น่าแปลกใจที่การเจรจาเอฟทีเอระหว่างอินเดียและสหภาพยุโรป ประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับยาจะเป็นไปอย่างเข้มข้น ล่าสุด จากเอกสารข้อบทเจรจาที่หลุดรอดออกมา พบว่า สหภาพยุโรป ยอมถอนข้อเรียกร้องเรื่องการขยายอายุการคุ้มครองสิทธิบัตร, การผูกขาดข้อมูลทางยา, การเพิ่มกรอบความคุ้มครองสิทธิบัตร ไปแล้ว รวมทั้งไม่บังคับให้อินเดียต้องไปเป็นภาคีสนธิสัญญายูบอฟ 1991

ขณะที่ยังยืนกรานที่จะให้อินเดียเพิ่มการบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาและมาตรการผ่านแดนอย่างเข้มงวดและเกินเลย และคงกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน เพื่อเป็นเครื่องมือให้นักลงทุนฟ้องร้องล้มนโยบายสาธารณะ ทำให้จนถึงขณะนี้ การเจรจาไม่สามารถตกลงกันได้

 

7.ทรัพย์สินทางปัญญาด้านความหลากหลายทางชีวภาพ

ความตกลงการค้าระหว่างสหภาพยุโรป กับประเทศต่างๆ นั้น ล้วนแล้วแต่มีเงื่อนไขให้ประเทศคู่เจรจาต้องยอมรับระบบทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวด โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับอนุสัญญาและสนธิสัญญา 2 ฉบับ   คือ ต้องเข้าเป็นภาคีอนุสัญญายูปอฟ ฉบับปี ค.ศ. 1991 ( UPOV 1991)   และเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาบูดาเปสต์ (Budapest Treaty) ในบางกรณีถึงกับต้องยอมรับระบบสิทธิบัตรในสิ่งมีชีวิต (Patent on Life) อีกด้วย เช่น EU-South Africa FTA ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อปี ค.ศ. 1999 ประเทศแอฟริกาใต้ต้องให้การคุ้มครองสิทธิบัตรการประดิษฐ์ด้านเทคโนโลยีชีวภาพที่มีประสิทธิภาพในระดับมาตรฐานระหว่างประเทศขั้นสูงสุด

ในระหว่างการดำเนินการเพื่อเริ่มต้นเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างยุโรปและอาเซียนนั้น เอกสารข้อเสนอของฝ่ายยุโรปซึ่งหลุดลอดออกมา ยืนยันว่าข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรปสอดคล้องกับประเด็นที่ได้ผลักดันจนสามารถบรรลุความตกลงกับหลายประเทศ   อาทิ  เม็กซิโก บังคลาเทศ  เกาหลีใต้  อียิปต์  แอลจีเรีย  เลบานอน  ซีเรีย   ดังข้อความที่เรียกร้องประเทศอาเซียนดังนี้   

“ shall comply with

a)       Article 1 through 52 of the Patent Co-operation Treaty (Washington, 1970, last modified in 2001);

b)      Article 1 through 16 of the Patent Law Treaty (Geneva, 2000);

c)       Article 2 through 9 of the Budapest Treaty on the International Recognition of the Deposit of Micro-organisms for the Purposes of Patent Procedure (1977, amended in 1980). ”

และให้การคุ้มครองพันธุ์พืชในระดับที่เคยเรียกร้องต่อคู่เจรจาอื่นๆในอดีตดังรายละเอียดต่อไปนี้ 

The Parties shall co-operate to promote and reinforce the protection of plant varieties based on the International Convention for the Protection of New Varieties of Plants (UPOV) as revised on March 19, 1991, including the optional exception to the breeder’s right as referred to in Article 15(2) of the said Convention. ”

 

1.อนุสัญญายูปอฟ (UPOV) เพิ่มสิทธิผูกขาดพันธุ์พืช

ยูปอฟ (UPOV) หรือ สหภาพเพื่อคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (The International Union for the Protection of New Varieties of Plants (French: Union internationale pour la protection des obtentions végétales) เป็นความตกลงเพื่อให้สิทธิผูกขาดพันธุ์พืชใหม่แก่บริษัทและนักปรับปรุงพันธุ์ ซึ่งประเทศมหาอำนาจตะวันตกทั้งสหรัฐเมริกาและสหภาพยุโรป มีเทคโนโลยีการปรับปรุงพันธุ์ก้าวล้ำนำหน้าประเทศอื่นๆ หลายเท่า อีกทั้งยังมีบรรษัทค้าเมล็ดพันธุ์ยักษ์ใหญ่ระดับโลกหลายแห่ง อนุสัญญายูปอฟบังคับใช้ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1961 และได้มีการปรับปรุงแก้ไขในปี ค.ศ. 1972, 1978  และ 1991

อย่างไรก็ตามประเทศใหม่ที่จะเข้าเป็นภาคี จะต้องเป็นสมาชิก UPOV 1991 ซึ่งมีความเข้มงวดมากกว่าฉบับก่อนๆ หากประเทศไทยยอมรับกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาในการเจรจาความตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป ประเทศไทยต้องแก้ไขกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 เพื่อให้เป็นไปตามอนุสัญญายูปอพ ค.ศ.1991 (UPOV1991) การดำเนินการดังกล่าวจะเกิดผลกระทบต่อเกษตรกร ความหลากหลายทางชีวภาพ และความมั่นคงทางอาหาร ดังต่อไปนี้

การเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญายูปอฟ ฉบับปี ค.ศ. 1991   จะทำให้การคุ้มครองพันธุ์พืชของประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในอาเซียนเป็นไปอย่างเข้มงวดมากยิ่งขึ้น เช่น

- ต้องถูกบังคับให้คุ้มครองพันธุ์พืชทุกชนิดโดยไม่ต้องมีการประกาศชนิดพืชคุ้มครองก่อน ซึ่งในกรณีประเทศไทยนั้น การประกาศรายชื่อชนิดพืชที่จะคุ้มครองต้องอยู่ภายใต้คณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืช ส่วนจะเป็นพืชชนิดใดนั้นต้องพิจารณาว่าเกี่ยวข้องกับผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร  การผูกขาดของบริษัทปรับปรุงพันธุ์ หรือมีทางเลือกให้เกษตรกรหรือไม่ เป็นต้น

- อนุญาตให้มีการคุ้มครองซ้ำซ้อน

- แก้ไขเพิ่มเติมเงื่อนไขเรื่อง “ความใหม่”

- ขยายระยะเวลาการคุ้มครองพันธุ์พืช จากเดิม 15 ปีเป็น 20 ปีสำหรับพืชทั่วไป และเป็น 25 ปีสำหรับไม้ยืนต้นและองุ่น (น่าสังเกตว่าองุ่นคือพืชที่ปลูกกันมากในสหภาพยุโรป เพื่อผลิตไวน์)

- ขยายขอบเขตของสิทธิให้กว้างขึ้น    โดยนักปรับปรุงพันธุ์มีสิทธิเด็ดขาดที่จะกีดกันผู้อื่นมิให้นำเอาส่วนที่ใช้ในการขยายพันธุ์ของพืชไปใช้ประโยชน์ทั้งในทางพาณิชย์ และในการเพาะปลูกทั่วไป รวมทั้งมีสิทธิห้ามการส่งออก นำเข้า หรือเก็บรักษาส่วนที่ใช้ในการขยายพันธุ์ของพืชเพื่อการจำหน่าย หรือเพื่อการเพาะปลูก

- จำกัดข้อยกเว้นเรื่อง “สิทธิพิเศษของเกษตรกร” (Farmers’ exemption) ในการเก็บรักษาและแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ให้แคบลง โดยภาคีสมาชิกอาจไม่ให้การรับรองสิทธิพิเศษของเกษตรกรก็ได้

การคุ้มครองนักปรับปรุงพันธุ์หรือบริษัทธุรกิจเมล็ดพันธุ์พืชเช่นนี้ มีลักษณะคล้ายคลึงกับสิทธิผูกขาดภายใต้กฎหมายสิทธิบัตรนั่นเอง ผลกระทบระยะยาวที่จะเกิดขึ้นคือ

1) ผลกระทบที่มีต่อการวิจัยเรื่องการปรับปรุงพันธุ์ของภาคสาธารณะและการปรับปรุงพันธุ์โดยรวม

การศึกษาในสหรัฐอเมริกาพบว่า ระบบกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชส่งผลกระทบแง่ลบที่ชัดเจนคือ ทำให้ข้อมูลความรู้และเชื้อพันธุ์พืชจากภาคธุรกิจเมล็ดพันธุ์ถ่ายทอดไปสู่สถาบันสาธารณะที่ทำหน้าที่ปรับปรุงพันธุ์พืชน้อยลง ในทางกลับกัน ข้อมูลและความรู้ในการปรับปรุงพันธุ์ของสาธารณะจะถูกบรรษัทเมล็ดพันธุ์ดึงไปใช้เพื่อผลประโยชน์ของตนมากขึ้นกว่าเดิม

ในกรณีประเทศไทย สิ่งเหล่านี้ได้เกิดขึ้นก่อนหน้านี้แล้ว โดยบริษัทธุรกิจเมล็ดพันธุ์ได้ว่าจ้างนักปรับปรุงพันธุ์ของรัฐให้ทำงานให้บริษัทด้วยอัตราเงินเดือนสูงลิบ  แนวโน้มเช่นนี้น่าจะรุนแรงมากขึ้นและอาจส่งผลให้ระบบปรับปรุงพันธุ์ของสาธารณะอ่อนแอในที่สุด

การศึกษาดังกล่าวสอดคล้องกับข้อสรุปของ Charles E Hess นักการเกษตรที่มีชื่อเสียงชาวอเมริกัน  เมื่อปี ค.ศ. 1993 ที่ว่า “ระบบทรัพย์สินทางปัญญาทำให้การแลกเปลี่ยนพันธุกรรมระหว่างกันเป็นไปยากขึ้น ทำให้การแพร่กระจายของเทคโนโลยีช้าลง ทำให้สมดุลระหว่างการวิจัยขั้นพื้นฐานและการวิจัยประยุกต์แย่ลง  และที่สำคัญที่สุดเป็นตัวกัดกร่อนความมั่นคงของวิทยาศาสตร์”

 

2)  ผลกระทบที่มีต่อความหลากหลายทางชีวภาพ

กฎเกณฑ์พื้นฐานของระบบการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ 2 ประการคือ ต้องมีลักษณะสม่ำเสมอประจำพันธุ์ (Uniformity) และความมีเสถียรภาพ (Stability) ของสายพันธุ์ เป็นการส่งเสริมการปลูกพืชเชิงเดี่ยว (monoculture) ในพื้นที่การเกษตรขนาดใหญ่  และจะกระตุ้นให้นักปรับปรุงพันธ์ใช้เฉพาะเชื้อพันธุกรรมชั้น “หัวกะทิ” เท่านั้น  ซึ่งจะทำให้การปรับปรุงพันธุ์ขาดความหลากหลายของฐานพันธุกรรม

ดังงานศึกษาชิ้นหนึ่งของสมาคมปรับปรุงพันธุ์ใหญ่ที่สุดของโลกพบว่า 2 ใน 3 ของเชื้อพันธุ์ได้มาจากธนาคารเชื้อพันธุ์ มีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่ได้มาจากแปลงเกษตรกร และมีจำนวนน้อยมาก (ประมาณ 7 เปอร์เซ็นต์) ที่มาจากฐานพันธุกรรมภายนอกจริงๆ ในขณะที่การปรับปรุงพันธุ์พืชบางชนิด เช่น ข้าวโพด ยิ่งใช้ฐานพันธุกรรมแคบกว่านี้ด้วยซ้ำ

ข้ออ้างที่ว่าการใช้ระบบทรัพย์สินทางปัญญาจะทำให้ได้พันธุ์พืชที่หลากหลาย แต่ผลที่ได้กลับตรงกันข้าม เนื่องจากจะมุ่งเฉพาะการปรับปรุงพันธุ์ที่มีลักษณะสำคัญเพียงไม่กี่อย่าง เช่น อาจเกี่ยวข้องกับยีนที่ควบคุมลักษณะเพียงยีนเดียวเพื่อทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างพันธุ์พืชที่ตนปรับปรุงกับพันธุ์อื่นที่มีอยู่แต่เดิม      

แนวโน้มเช่นนี้เป็นเรื่องอันตรายและบั่นทอนความหลากหลายทางชีวภาพ ที่เป็นเสมือนหลักประกัน “ความยั่งยืน” ของทรัพยากรชีวภาพและจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ในระยะยาว

        

3)  การผูกขาดของบรรษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติ

เบื้องหลังแรงผลักดันเรื่องการคุ้มครองสิทธิของนักปรับปรุงพันธุ์คือ ความพยายามผูกขาดพันธุ์พืชของธุรกิจค้าเมล็ดพันธุ์พืช ทั้งในระดับโลกและในระดับประเทศนั่นเอง

ไม่ว่าจะเป็นการขยายระยะเวลาการผูกขาดพันธุ์พืชใหม่ของบริษัทเมล็ดพันธุ์ให้ยาวนานขึ้น โดยพืชทั่วไปจาก 15 ปี เป็น 20 ปี และ25 ปี สำหรับไม้ยืนต้นและองุ่น อีกทั้งยังเปิดช่องกฎหมายให้บริษัทเอกชนสามารถ “ห้าม” เกษตรกรเก็บพันธุ์พืชไปปลูกในฤดูถัดไป รวมถึงห้ามการแจกจ่ายแลกเปลี่ยนพันธุ์กับเพื่อนบ้านทั้งในหรือนอกชุมชน ทั้งๆ ที่สิ่งเหล่านี้เป็นวัฒนธรรม เป็นวิถีชีวิตของชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ที่มีมาช้านาน ทั้งนี้ก็เพราะเป้าหมายสูงสุดของบริษัทเมล็ดพันธุ์คือการบีบบังคับให้เกษตรกรต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ทุกครั้งที่ต้องการเพาะปลูก  การใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อลดทอนสิทธิของเกษตรกรที่ว่านี้ดำเนินไปพร้อมๆ กับการใช้มาตรการอื่นๆ ด้วย เช่น การทำสัญญากับเกษตรกรเป็นรายๆ การใช้เทคโนโลยีการปรับปรุงพันธุ์เพื่อให้เกษตรกรใช้เมล็ดพันธุ์ได้ครั้งเดียวเพราะไม่สามารถเก็บผลผลิตไปทำพันธุ์ต่อได้  ซึ่งก็คือการทำให้เมล็ดพันธุ์ “เป็นหมัน” นั่นเอง

การเพิ่มสิทธิผูกขาดมากขึ้นและลดทอนสิทธิของเกษตรกรลงเช่นนี้ จะส่งผลให้เกษตรกรต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ในราคาสูงประมาณ 3 เท่าของราคาเมล็ดพันธุ์ทั่วไป ต้นทุนการเพาะปลูกจะแพงขึ้น บรรษัทข้ามชาติและบริษัทอุตสาหกรรมการเกษตรขนาดใหญ่ในประเทศ จะผูกขาดเมล็ดพันธุ์อย่างเบ็ดเสร็จ แน่นอนว่านอกจากจะสร้างผลกระทบกับวิถีชีวิตของเกษตรกรแล้ว ยังส่งผลให้ราคาอาหารสำหรับประชาชนทั่วไปมีราคาแพงขึ้น และสุดท้ายคือกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศ

นอกจากนี้ ยังจะทำให้แม้แต่นักปรับปรุงพันธุ์ทั่วไป ก็เข้าถึงพันธุ์พืชเพื่อนำไปปรับปรุง ผสมพันธุ์ต่อได้ยากขึ้น และแม้จะมีโอกาสทำได้ แต่ผลิตผลที่ได้ก็จะถูกจำกัดการใช้ประโยชน์ คล้ายๆ กับการผูกขาดภายใต้กฎหมายสิทธิบัตรพันธุ์พืชนั่นเอง ซึ่ง

การเพิ่มสิทธิผูกขาดให้แก่บริษัท และนักปรับปรุงพันธุ์อาจส่งผลให้เกิดการไล่จับกุมเกษตรกรราวกับเป็นอาชญากร และเรียกค่าปรับจำนวนมหาศาลดังเช่นที่ปรากฏเป็นตัวอย่างในสหรัฐอเมริกา กล่าวคือ

จากรายงานของศูนย์ความปลอดภัยด้านอาหาร (Center for Food Safety) ระบุว่านับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2005  จนถึงสิ้นปี ค.ศ.2012  มอนซานโต้ ซึ่งเป็นบรรษัทข้ามชาติค้าเมล็ดพันธุ์ระดับโลก ฟ้องละเมิดสิทธิบัตรรวมจำนวน 142 คดี เป็นเกษตรกร 410 คน และ ธุรกิจการเกษตรขนาดเล็ก 56 ราย ครอบคลุมพื้นที่ 27 รัฐ ตัดสินปรับไปทั้งสิ้น 23.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 705 ล้านบาท และประมาณการตัวเลขค่าเสียหายที่มีการยอมความนอกศาลอีกไม่ต่ำว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 3,000 ล้านบาท 

รายงานดังกล่าวอธิบายขั้นตอนของการคุกคามเกษตรกรสหรัฐโดยบรรษัทขนาดยักษ์ ทั้งมอนซานโต้ ดูปองท์ และซินเจนต้า ว่ามี 3 ขั้นตอนคือ การสอบสวน โดยการบุกเข้าไปในฟาร์มตรวจค้น ถ่ายรูป มีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง ไปจนถึงข่มขู่คุกคาม หลายกรณีมีการล่อจับกุมเหมือนล่อซื้อยาบ้า  ขั้นตอนถัดมาคือ ขู่ดำเนินคดีและกล่อมให้ยอมความ ยอมจ่ายค่าเสียหายก่อนจะดำเนินคดีในชั้นศาล หรือเป็นคดีแล้วแต่ยังไม่ถึงขั้นตัดสิน ขั้นสุดท้ายคือการดำเนินคดีจนถึงที่สุด ปฏิบัติการของยักษ์ใหญ่ด้านเมล็ดพันธุ์เหล่านี้คือ ทำให้แน่ใจว่าจะไม่มีเกษตรกรคนใดเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด ถั่วเหลือง ราวด์อัพเรดดี้ จีเอ็มโอ ที่มีสิทธิบัตรไว้ปลูกในรอบต่อไป กล่าวคือ เกษตรกรต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ใหม่ทุกรอบการปลูก ห้ามเก็บ ห้ามทำความสะอาดทั้งสิ้น  บรรดาธุรกิจหรือสหกรณ์ ที่รับจ้างทำความสะอาดเมล็ดพันธุ์ก็โดนก่อกวนอย่างหนัก มีการออกหมายศาลเพื่อตรวจสอบบัญชีธนาคารโดยไม่ให้เจ้าตัวรู้ หารายชื่อลูกค้า แล้วก็ไปสอบสวนก่อกวนลูกค้าที่เป็นเกษตรกรจนไม่มีใครกล้ามาใช้บริการ

คดีล่าสุดที่กลายเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โต คือ     กรณีที่นายเวอร์นอน ฮิวจ์บาวแมน เกษตรกรชาวรัฐอินดีแอนา อายุ 75 ปี ไปซื้อเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองจากโรงเก็บเมล็ดพันธุ์ใกล้ๆ กับฟาร์มของเขา โดยไม่รู้ว่าเมล็ดพันธุ์คละที่เก็บอยู่ในไซโลนั้นเป็นเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองราวด์อัพเรดดี้ หรือไม่ เมื่อปลูกแล้วก็เก็บเมล็ดพันธุ์ไว้แล้วนำไปปลูกต่อรุ่นสองปรากฏว่ามอนซานโต้ไปตรวจแล้วพบว่าผลผลิตรุ่นสองนั้นส่วนใหญ่เป็นถั่วเหลืองราวด์อัพเรดดี้ จึงฟ้องดำเนินคดีนายเวอร์นอนข้อหาละเมิดสิทธิบัตร และในที่สุดมอนซานโต้ก็ชนะคดีนี้ เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม ค.ศ. 2013 ซึ่งหมายความว่ามอนซานโต้ได้ยกระดับการคุ้มครองสิทธิบัตรไปถึงขั้นการคุ้มครองสิ่งประดิษฐ์ที่ให้สิทธิผูกขาดแก่มอนซานโต้ในการเก็บค่าธรรมเนียมการใช้เมล็ดพันธุ์ไปได้ตลอดจนกว่าจะหมดอายุสิทธิบัตร

ภายใต้คำขวัญสวยหรูว่าการผูกขาดเมล็ดพันธุ์นั้นก็เพื่อ “สร้างแรงจูงใจในการปรับปรุงพันธุ์” แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง พิสูจน์แล้วว่าเป็นเรื่องของการสร้างผลกำไรและการขยายอาณาจักรของผลประโยชน์ให้กว้างขวางออกไปมากยิ่งๆ ขึ้นไปอีก ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงบริษัทเมล็ดพันธุ์ยักษ์ใหญ่เหล่านี้  ได้ผูกขาดการผลิตและขายเมล็ดพันธุ์ไว้แล้วเป็นส่วนใหญ่ ดังจะเห็นได้ว่าบริษัทเมล็ดพันธุ์ยักษ์ใหญ่ 10 บริษัทคุมตลาดโลกไว้ถึง 67  เปอร์เซ็นต์  และมีแนวโน้มว่าการผูกขาดนี้จะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับเมื่อสิบปีที่แล้ว การผูกขาดเพิ่มขึ้นถึง 27 เปอร์เซ็นต์

ในกรณีของไทย จากการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2539 ตลาดเมล็ดพันธุ์แทบทั้งหมด ตกอยู่ในมือของบรรษัทข้ามชาติและบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี ยักษ์ใหญ่การเกษตรของประเทศ ที่ร่วมทุนกับต่างชาติ ยกเว้นเพียงเมล็ดพันธุ์ผสมเปิดของรัฐ ในขณะที่บริษัทเมล็ดพันธุ์ขนาดเล็กอื่นๆ มีส่วนแบ่งตลาดน้อยมาก ปัจจุบันบริษัทเหล่านี้ครอบครองตลาดเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด และเมล็ดพันธ์ผักเอาไว้ได้แล้วแทบสิ้นเชิง การให้อำนาจผูกขาดผ่านสนธิสัญญา UPOV 1991 จะเปิดโอกาสให้สามารถขยายการผูกขาดไปยังพืชอื่นๆ เช่น ข้าว ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ฯลฯ และจะส่งผลให้ราคาเมล็ดพันธุ์ที่เกษตรกรต้องซื้อมีราคาเพิ่มสูงขึ้นอย่างน้อย 3-5 เท่าตัว

อันที่จริงการขยายตลาดของภาคเอกชนไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอะไรนัก หากไม่มีการผูกขาด แต่การส่งเสริมระบบทรัพย์สินทางปัญญาเรื่องพันธุ์พืชตามข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรป เป็นเหมือนการยื่นเครื่องมือทางธุรกิจให้บรรษัทขนาดใหญ่เหล่านี้ครอบครองตลาดและผูกขาดได้มากยิ่งขึ้นไปอีกนั่นเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้

 

ที่มา : สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย 2552

4)    การทำลายหลักการแบ่งปันผลประโยชน์ของเจ้าของทรัพยากรชีวภาพ

ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity: CBD) ซึ่งแทบทุกประเทศในอาเซียนเป็นภาคีอยู่ด้วยนั้น กำหนดให้แต่ละประเทศมีอธิปไตยเหนือทรัพยากรชีวภาพ  การนำพันธุกรรมไปใช้ประโยชน์ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า (Prior Informed Consent) และต้องแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเท่าเทียมและยุติธรรม (Equitable Benefit Sharing) ในประเทศไทย หลักการของเรื่องนี้ได้ถูกนำมาใช้อย่างเป็นรูปธรรม โดยบรรจุอยู่ในพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 โดยที่การให้การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่นั้นต้องระบุที่มาของฐานพันธุกรรมที่ใช้ และต้องแบ่งปันผลประโยชน์ให้รัฐและชุมชนตามที่กฎหมายบัญญัติ นอกจากนี้ยังมีหลักการและแนวปฏิบัติคล้ายคลึงกับอนุสัญญา UPOV ฉบับปี ค.ศ. 1978 และยังได้ผนวกหลักอธิปไตยของประเทศเหนือทรัพยากรชีวภาพและและการแบ่งปันผลประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมของชุมชนเอาไว้ด้วย

กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชดังกล่าว เป็นเหมือน “ปราการสำคัญ” ที่คุ้มครองดูแลสิทธิของเกษตรกร และรักษาฐานทรัพยากรชีวภาพของชาติ จึงไม่น่าแปลกใจที่อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ทั้งในและนอกประเทศจะผนึกกำลังกันผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ในประเด็นสำคัญๆ อาทิ ให้แยกส่วนที่ว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชท้องถิ่นออกไป เพื่อจะได้สิทธิผูกขาดโดยง่าย  และตัดหลักการขออนุญาตและแบ่งปันผลประโยชน์จากพันธุ์พืชออกไป ซึ่งจะทำให้ไม่ต้องขออนุญาต และแบ่งปันผลประโยชน์เมื่อมีการนำพืชป่า พันธุ์พืชทั่วไป และพันธุ์พืชท้องถิ่นไปใช้ประโยชน์  โดยวิธีนี้จะทำให้บรรษัทข้ามชาติสามารถเข้ามาขอรับการคุ้มครองพันธุ์พืชเพื่อผูกขาดพันธุ์พืชใหม่ได้ง่ายขึ้น และเข้ามายึดครองทรัพยากรชีวภาพได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงสิทธิอธิปไตยของประเทศ ซึ่งเป็นหลักการภายในอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ

นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เคยแถลงว่าการแก้ไขดังกล่าวเป็นความต้องการของสมาคมเมล็ดพันธุ์ เพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของอนุสัญญายูปอฟ ฉบับ ปี ค.ศ. 1991 ร่างแก้ไขดังกล่าวได้ผ่านมติคณะรัฐมนตรีเป็นที่เรียบร้อย แต่เมื่อไปถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 3 แห่ง คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมวิชาการเกษตร และกรมทรัพย์สินทางปัญญา เข้าให้ข้อมูล แต่ปรากฏว่า ทั้ง 3 หน่วยงานไม่สามารถให้ข้อเท็จจริงที่ชี้ได้ว่า การใช้กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 มีปัญหา ทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจึงเห็นว่าไม่ควรแก้

เมื่อการแก้ไขกฎหมายมีอุปสรรค ความพยายามครั้งล่าสุดคือการร่างใหม่ทั้งฉบับ โดยในเดือนกุมภาพันธ์  พ.ศ.2556 ปรากฏความเคลื่อนไหวของกรมวิชาการเกษตร นักวิชาการ นักปรับปรุงพันธุ์ ร่วมมือกันร่างกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชฉบับใหม่โดยมีเนื้อหาเหมือนกับข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรปในการเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-อียู แทบทุกประการ อีกทั้งยังให้ยกเลิกกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืชซึ่งมีที่มาจากการคัดสรรกันเองของเกษตรกร นักวิชาการ และองค์กรสาธารณประโยชน์ ตามกฎหมายเดิม มาเป็นการแต่งตั้งแทน  มีรายงานด้วยว่าแกนนำในการร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นหนึ่งในคณะตัวแทนเจรจาเอฟทีเอ ไทย-อียูนั่นเอง

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี สรุปว่า หากกฎหมายคุ้มครองพัน์พืชฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ ผลที่ตามมาคือ “การเปลี่ยนพันธุ์พืชจากพันธุ์เดิมเป็นพันธุ์ใหม่จะเกิดขึ้นง่ายมาก พันธุ์ท้องถิ่นพร้อมจะหายไปตลอดเวลา เมื่อใดที่กรมการข้าว กระทรวงเกษตรฯ เลิกปรับปรุงพันธุ์ข้าว ปล่อยให้บริษัทเอกชนดำเนินการเอง   อีกไม่นาน พันธุ์พืชท้องถิ่นจะหายไป พันธุ์พืชใหม่จะเข้ามาแทนที่ จะเกิดปัญหาในอนาคตตามมามากมาย  นี่คือกระบวนการแปรรูปทรัพยากรสาธารณะให้เป็นของบรรษัท”

การลงนามในความตกลงการค้าเสรีไทย-อียู ซึ่งจะเป็นการยอมรับระบบกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาของอุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ จึงเป็นการทำลายหรือทำให้หลักการของกฎหมายระหว่างประเทศในการคุ้มครองสิทธิเกษตรกร ชุมชน และอธิปไตยของประเทศเหนือทรัพยากรชีวภาพอ่อนแอลงอย่างมาก จึงไม่ผิดไปนักที่จะบอกว่าเป็นการ “ลงนามเพื่อความล่มสลาย” อย่างแท้จริง

2.สนธิสัญญาบูดาเปสต์ (Budapest Treaty) กับการจดสิทธิบัตรจุลินทรีย์

จุลินทรีย์ หรือจุลชีพ (microorganism) คือสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่ไม่อาจมองเห็นด้วยตาเปล่า ที่รู้จักกันดี เช่น แบคทีเรีย อาร์เคีย รา ยีสต์ เป็นต้น จุลินทรีย์ มีความสำคัญต่อระบบนิเวศของโลก  และมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์  มีผลิตภัณฑ์หลากหลายที่ได้จากจุลินทรีย์ และมีมูลค่าทางธุรกิจมหาศาล อาทิ อาหาร วิตามิน อาหารเสริม มีมูลค่า 86 พันล้านเหรียญสหรัฐ, ยาและผลิตภัณฑ์การแพทย์ มูลค่า 32 พันล้านเหรียญสหรัฐ, เอนไซม์ที่ใช้ในการหมัก การย่อยสลาย มูลค่า 1.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ , ปุ๋ยชีวภาพและสารชีวภาพควบคุมแมลง มูลค่า 380ล้านเหรียญสหรัฐ ฯลฯ

ด้วยความสำคัญเช่นนี้ ประเทศอุตสาหกรรมตะวันตก ที่มีขีดความสามารถในการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพสูงกว่าประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย จึงผลักดันให้เกิด “สนธิสัญญาบูดาเปสต์” หรือชื่อเต็มว่า “Budapest Treaty on the International Recognition of the Deposit of Microorganisms for the Purposes of Patent Procedure, or Budapest Treaty” เพื่อสร้างกระบวนการรองรับขั้นตอนการจดสิทธิบัตรจุลินทรีย์ในระดับระหว่างประเทศ ลงนามกันครั้งแรกที่กรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี เมื่อ 28 เมษายน ค.ศ. 1977 อยู่ภายใต้การบริหารขององค์กรทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization -WIPO) ปัจจุบันมีสมาชิกรวม 77 ประเทศ

เหตุที่ต้องมีสนธิสัญญาฉบับนี้ เนื่องจากการประดิษฐ์ที่เกี่ยวข้องกับจุลชีพเพื่อสร้างจุลชีพที่มีความใหม่ แตกต่างไปจากสิ่งที่มีอยู่เดิมนั้น ไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลของนวัตกรรมได้อย่างชัดเจน หรือแทบเป็นไปไม่ได้เลยเมื่อเปรียบเทียบกับการประดิษฐ์ทางอุตสาหกรรมอื่นๆ  ประเทศที่ประสงค์จะให้การคุ้มครองสิทธิบัตรในจุลชีพจึงต้องสร้างระบบการรับฝากสารชีวภาพที่เรียกว่า “องค์กรรับฝาก (สารชีวภาพ) ระหว่างประเทศ (International Depositary Authority - IDA) ทั้งนี้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการประดิษฐ์ได้อย่างเพียงพอซึ่งเป็นหลักพื้นฐานของการคุ้มครองตามกฎหมายสิทธิบัตร และอำนวยสะดวกให้ผู้วิจัยได้ใช้ประโยชน์จากสิทธิบัตรจุลชีพ ได้ง่ายขึ้น ปัจจุบันมี IDA จำนวน 37 แห่ง อยู่ใน 20 ประเทศทั่วโลก โดยส่วนใหญ่เป็นประเทศอุตสาหกรรม  หากประเทศภาคีสมาชิกใดต้องการจดสิทธิบัตรจุลชีพ ก็สามารถนำตัวอย่างมาฝากที่องค์กรรับฝากใดก็ได้เพียงแห่งเดียว ก็จะได้รับการคุ้มครองสิทธิบัตรในทุกประเทศที่เป็นสมาชิก

การเป็นภาคีในสนธิสัญญานี้ให้ประโยชน์แก่นักวิจัยหรือบริษัทไทยที่มีศักยภาพในการนำ เทคโนโลยีและผลการวิจัยไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ในตลาดต่างประเทศ  และสามารถลดการนำเชื้อจุลินทรีย์ไปเก็บไว้ที่ IDA ในต่างประเทศ หากประเทศไทยได้จัดตั้ง IDA ให้เป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานและข้อกำหนดที่วางไว้

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบของการเข้าเป็นภาคีนั้นมากกว่าประโยชน์ที่ได้รับ ที่เป็นปัญหาอยู่ขณะนี้คือสนธิสัญญาดังกล่าว “ห้ามเปิดเผยแหล่งที่มา” ในการจดสิทธิบัตรจุลชีพ ทำให้ไม่สามารถทราบได้ว่าในการจดสิทธิบัตรจุลชีพนั้น มีการลักลอบนำของประเทศไทยไป พัฒนาหรือไม่ และเมื่อไม่มีการเปิดเผยแหล่งที่มาของทรัพยากร การแบ่งปันผลประโยชน์ตามหลักการในอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพก็จะไม่สามารถทำได้  สำหรับอีกหนึ่งประเด็นปัญหาสำคัญคือ สนธิสัญญาไม่ได้กำหนดขอบเขตของคำว่า “จุลชีพ” ซึ่งอาจทำให้แนวทางปฏิบัติและนโยบายการคุ้มครองสิทธิบัตรต้องขยายไปถึงการยอมรับการจดสิทธิบัตรในสิ่งมีชีวิตอื่นๆ

ทั้งสองประเด็นปัญหาดังกล่าว จะสร้างปัญหาตามมาอีกหลายประการ อาทิ  

-บริษัทข้ามชาติและประเทศอุตสาหกรรมจะใช้ความได้เปรียบด้านเทคโนโลยีชีวภาพที่เหนือกว่าเข้าครอบครองทรัพยากรชีวภาพของประเทศ

-ให้สิทธิผูกขาดแก่ผู้ได้รับสิทธิบัตรในระดับสูงตั้งแต่ส่วนขยายพันธุ์ ไปจนถึงผลผลิต ซึ่งอาจรวมไปถึงขั้นตอนการนำผลผลิตไปใช้ประโยชน์ต่างๆได้ด้วย

-ละเมิดสิทธิของเกษตรกรในการเข้าถึงทรัพยากรชีวภาพ การนำไปปลูกต่อ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนพันธุกรรมระหว่างเกษตรกรและชุมชน

-นักปรับปรุงพันธุ์พืช และสัตว์คนไทยจะสูญเสียศักยภาพในการเข้าถึงฐานพันธุกรรม เนื่องจากความเป็นเจ้าของในพันธุกรรมอยู่กับภาคเอกชน

ผู้ที่ได้ประโยชน์จากสนธิสัญญาบูดาเปสต์ไปแบบเต็มๆ เนื้อๆ คือบริษัทขนาดใหญ่ในประเทศอุตสาหกรรมที่สามารถจดสิทธิบัตรจุลชีพได้โดยง่าย  เพราะมีเทคโนโลยีด้านชีวภาพที่เหนือกว่า แต่นักวิจัยไทยซึ่งมีศักยภาพและขีดความสามารถน้อยกว่ามากนั้น จะต้องประสบปัญหาเข้าถึงตัวอย่างจุลชีพได้ยากขึ้น ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการวิจัยและพัฒนาของประเทศในสาขานี้ในระยะยาว

งานวิจัยของ เริงชัย ตันสกุล และวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เมื่อ ปี พ.ศ. 2553 ซึ่งสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย เสนอแนะให้ไทยชะลอการเข้าเป็นภาคีในสนธิสัญญาบูดาเปสต์ไว้ก่อน เพื่อใช้เวลาในการเตรียมความพร้อมอย่างน้อย 5 ประการ คือ

1) นักวิจัยและผู้ประกอบการท้องถิ่นคนไทยสามารถพัฒนาศักยภาพในการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพที่เกี่ยวกับจุลินทรีย์ในระดับที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ทางอุตสาหกรรมและมีระดับของนวัตกรรมที่สามารถแข่งขันได้หรือใกล้เคียงกับต่างประเทศ

2)  ปรับปรุงกฎหมายสิทธิบัตรหรือประกาศกระทรวงที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการเปิดเผยที่มาของทรัพยากรชีวภาพและจุลชีพในคำขอสิทธิบัตร

3) แก้ไขประกาศกรมทรัพย์สินทางปัญญา ฉบับวันที่ ลงวันที่ 27 กันยายน 2542 ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.  2522 ซึ่งเป็นการเอื้ออำนวยประโยชน์ฝ่ายเดียวให้ต่างชาติสามารถขอรับการจดสิทธิบัตรในจุลชีพได้สะดวก โดยไม่ต้องฝากจุลชีพกับสถาบันในประเทศ

4)  เตรียมการเพื่อจัดตั้งหน่วยงานและสถาบันภายในประเทศที่มีมาตรฐานเพื่อรองรับการเป็น “องค์กรรับฝากจุลชีพระหว่างประเทศ”

5) สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ พัฒนา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรจุลินทรีย์ ให้มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายด้านนี้ของประเทศ

ในการเตรียมการเจรจาความตกลงเปิดเสรีทางการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา และไทยกับอียูนั้น มีข้อเสนอทางเลือกในการเจรจา 3 ข้อต่อรัฐบาลไทยคือ

1) ยืนยันที่จะไม่เข้าเป็นภาคีในสนธิสัญญาบูดาเปสต์ในระยะเวลาอันใกล้ หากประเทศไทยยังไม่สามารถพัฒนาศักยภาพในการวิจัยและใช้ประโยชน์จากจุลชีพในระดับที่น่าพอใจ (วัดจากการได้รับสิทธิบัตรในระดับสาขาของเทคโนโลยีชีวภาพประเภทเดียวกันของนักวิจัยไทยและต่างชาติให้มีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ  1 : 1)   รวมถึงการขาดกฎหมายภายในที่คุ้มครองทรัพยากรชีวภาพ และไม่มีสถาบันรับฝากจุลชีพที่มีมาตรฐานในประเทศ

2) ไม่เป็นภาคีในสนธิสัญญาบูดาเปสต์ แต่ยอมรับการเอื้ออำนวยความสะดวกให้มีการจดสิทธิบัตรจุลินทรีย์ได้ โดยอนุญาตให้มีการรับฝากจุลชีพในประเทศที่ยื่นคำขอสิทธิบัตรได้ ภายใต้เงื่อนไขที่ประเทศไทยต้องมีการปรับปรุงกฎหมายภายในให้ระบุที่มาของทรัพยากรชีวภาพและการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เป็นธรรม

3) เข้าเป็นภาคีในสนธิสัญญา หากมีความเป็นไปได้ว่าจะมีการปรับปรุงสนธิสัญญาที่ยอมรับให้มีกลไกการรับฝากจุลชีพที่ต้องแสดงที่มาของสารชีวภาพเพื่อรองรับการแบ่งปันผลประโยชน์ตามหลักการในอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ

ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับว่ามีความหลากหลายทางชีวภาพอยู่ในลำดับต้นๆ ของโลก เป็นแหล่งรวมของจุลินทรีย์ ทั้งประเภทสาหร่าย แบคทีเรีย เห็ด รา ยีสต์ กว่า 200,000 ชนิด มีสายพันธุ์ราแมลงที่หลากหลายที่สุดในโลก นับว่าเป็นฐานทรัพยกรธรรมชาติสำคัญของประเทศ ขีดความสามารถและโอกาสในการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพก็มีแนวโน้มสดใส หากพิจารณาจากข้อมูลที่ว่าการเก็บตัวอยางจุลินทรียของประเทศไทยเปรียบเทียบกับประเทศตางๆ ในเอเชีย พบว่าห้องปฏิบัติการและสถาบันในประเทศมีขีดความสามารถในการเก็บรักษาจุลินทรียสูงเปนอันดับที่ 3 เปนรองเฉพาะญี่ปุน จีนและเกาหลีใต้เทานั้น ในขณะที่หองปฏิบัติการของมหาวิทยาลัยและสถาบันตางๆ ของไทยสมัครเขาเปนสมาชิกเครือข่ายสหพันธ์จุลินทรียโลกถึง 58 แห่ง ถือวามากที่สุดในโลก

ดังนั้น การเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมเป็นภาคีสนธิสัญญาบูดาเบสต์ที่พ่วงติดมากับการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-อียู จึงต้องละเอียดรอบคอบ โปร่งใส มองไกลๆ มองไปในระยะยาว เพราะงานนี้มีฐานทรัพยากรสำคัญที่หลายๆ ประเทศในโลกไม่มีเป็นเดิมพัน

8.อนุญาโตตุลาการ-กลไกระงับข้อพิพาท-นโยบายสาธารณะในกำมือ “มาเฟียวงใน”

อีกหนึ่งประเด็นที่หลายประเทศทั่วโลกที่กำลังเจรจาเอฟทีเอแสดงความกังวล ไปจนถึงขอยกเว้น ไม่เจรจา คือ ประเด็นของ “กลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน” (Investor State Dispute Settlement – ISDS) ในข้อบทว่าด้วยการลงทุน ที่เปิดโอกาสให้สามารถใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศเป็นทางเลือกหนึ่งในการระงับข้อพิพาท เนื่องจากได้เห็น ได้เรียนรู้ประสบการณ์ของประเทศในความตกลง  NAFTA ที่ถูกนักลงทุนต่างชาติใช้กลไกดังกล่าวฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายและล้มนโยบายสาธารณะมานักต่อนักแล้ว แต่ในร่างกรอบเจรจาฯ เอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรปกลับเปิดทางสว่างโร่

การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน (Investor-State Dispute Settlement-ISDS) ถูกคิดค้นขึ้นมาเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว เริ่มใช้ครั้งแรกในมาตรา 11 ของ NAFTA หรือเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (สหรัฐฯ-แคนาดา-เม็กซิโก) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 โดยอ้างเหตุผลว่า เพื่อให้นักลงทุนต่างชาติมั่นใจว่า การลงทุนของตนจะได้รับความคุ้มครองจากรัฐบาลของประเทศผู้รับการลงทุน โดยจะได้รับการชดเชย ได้รับความคุ้มครองการการเวนคืน ได้รับสิทธิปฏิบัติเยี่ยงคนชาติ และชาติที่ได้รับอนุเคราะห์ยิ่ง รวมทั้งได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมกันกับการลงทุนในประเทศผู้รับการลงทุนอื่นๆ และสามารถทำธุรกรรมการโอนได้อย่างเสรี … ทั้งนี้ หากเกิดปัญหาใดๆ ขึ้น นักลงทุนจะสามารถฟ้องร้องรัฐบาลของประเทศผู้รับการลงทุนผ่านกลไกการอนุญาโตตุลาการได้  โดยจะคุ้มครองเฉพาะผลกระทบจาก “มาตรการที่ออกโดยรัฐ” เท่านั้น แต่ไม่คุ้มครองความเสี่ยงที่เกิดจากการประกอบธุรกิจตามปกติของนักลงทุนเอกชน

หากการยึดทรัพย์นักลงทุนเอกชนจากการเกิดข้อพิพาท เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา ก็สมควรอยู่ที่จะมีการชดเชยให้  แต่ในความตกลง NAFTA นับเป็นครั้งแรกที่มีการระบุถึง “การยึดทรัพย์ทางอ้อม” (Indirect Expropriation) ซึ่งไม่มีนิยามที่ชัดเจนว่ามันคืออะไร ฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นอะไร เอกชนก็นำไปฟ้องรัฐได้ และไม่ใช่การฟ้องผ่านศาลยุติธรรม แต่ผ่านระบบที่เรียกว่าอนุญาโตตุลาการ (เป็นการพิจารณากรณีพิพาทของเอกชนกับรัฐ ที่ให้คน 3 คน ซึ่งคู่กรณี 2 ฝ่ายเลือกตัวแทนข้างละ 1 คน และเห็นชอบร่วมกันเลือกอีก 1 คนมาเป็นผู้พิจารณา)

ประสบการณ์จากกลไก ISDS ที่ว่านี้ นักลงทุนจึง “ได้” ทั้งค่าชดเชยที่มาจากภาษีประชาชน และ “ได้” ทั้งการล้มนโยบายสาธารณะ ไม่ว่านโยบายนั้นจะออกมาเพื่อคุ้มครองสิ่งแวดล้อม สังคม หรือประชาชนในประเทศก็ตาม มีบางกรณีแค่นักลงทุนขู่ว่าจะฟ้อง นโยบายสาธารณะที่เป็นประโยชน์กับประชาชนในประเทศนั้นๆ  ก็ต้องถูกพับไป ไม่ได้ผุดไม่ได้เกิด

รายงาน “Profiting from Injustice: How law firms, arbitrator and financiers are fuelling an investment arbitration boom” ขององค์กรพัฒนาเอกชน สองแห่งในสหภาพยุโรป คือ TNI และ CEO ซึ่งทำการสำรวจความตกลงการค้าที่มีกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน ที่ขณะนี้มีมากกว่า 3,000 ฉบับทั่วโลก พบว่ามีแรงกระตุ้นอย่างผิดปกติให้นักลงทุนฟ้องรัฐ ซึ่งเกือบทั้งหมดมาจากการยุแยงของบรรดาบริษัทที่ปรึกษากฎหมาย (Law Firms)

ตัวอย่างรูปธรรมหนึ่งในรายงานฯ คือ กรณีอนุญาโตตุลาการของธนาคารโลก (ICSID) ปรากฏว่าในปี พ.ศ. 2536 มีคดีเข้าสู่กระบวนการแค่เพียง 38 กรณี แต่เฉพาะปี พ.ศ. 2554 ปีเดียว พุ่งพรวดไปถึง 450 กรณี โดยเกือบทั้งหมดเป็นคดีที่บรรษัทข้ามชาติซึ่งมีฐานอยู่ในประเทศอุตสาหกรรมพัฒนาแล้วในซีกโลกเหนือฟ้องร้องประเทศกำลังพัฒนาในซีกโลกใต้           

แต่ข้อมูลที่น่าตื่นตกใจไปกว่านั้นก็คือ มีถึง 130 กรณี จาก 450 กรณี ที่ตกอยู่ในกำมือของ บริษัทที่ปรึกษากฎหมายชั้นนำ เพียงแค่ 3 บริษัท คือ Freshfields Bruckhaus Deringer (สหราชอาณาจักร), White & Case (สหรัฐฯ) และ  King & Spalding (สหรัฐฯ) อนุญาโตตุลาการ จำนวนแค่ 15 คน ต้องวิ่งรอกรับพิจารณาคดีกว่าครึ่งของกรณีพิพาททั้งหมด พวกนี้จึงได้รับฉายาว่า “มาเฟียวงใน”

บริษัทที่ปรึกษากฎหมายชั้นนำเหล่านี้ ฟันกำไรหลายต่อ ในหลากหลายช่องทาง เช่น ค่าให้คำปรึกษาคู่กรณีชั่วโมงละ 1,000 เหรียญสหรัฐ ค่าเดินทาง ค่าใช้จ่าย และค่าที่พักสุดหรู วันละ 3,000 เหรียญสหรัฐ แล้วนักกฎหมายเหล่านี้ก็ยังรับงานเด้งสองไปเป็นอนุญาโตตุลาการ (Arbitrator) ที่รับค่าเหนื่อยราวๆ 375-700 เหรียญสหรัฐต่อชั่วโมง ในรายงานฯ มีการประเมินว่า หากกรณีพิพาทมีมูลค่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ อนุญาโตตุลาการจะได้เงินไม่ต่ำกว่า 350,000 เหรียญสหรัฐ จึงไม่แปลกที่ “มาเฟียวงใน” จะกางขาพิจารณากรณีพิพาทกันคนละมากกว่า 10 กรณี เรียกได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมปั่นกรณีพิพาทระหว่างรัฐและเอกชนก็ว่าได้ แถมยังมีบรรดากองทุนต่างๆ เสนอประกันความเสี่ยงวงเงินเยียวยา ซึ่งจะได้กำไรไม่ต่ำกว่า 30 เปอร์เซ็นต์

ดังนั้น การเพิ่มจำนวนความตกลงการค้าต่างๆ ที่มีการรับรอง กลไก ISDS ไปทั่วทุกมุมโลก จึงเป็นการขยายธุรกิจของพวกมาเฟียวงในให้อู้ฟู้ได้อย่างยั่งยืน ยาวนานสุดๆ ท่ามกลางความยับเยินของประชาชนของประเทศผู้แพ้คดี

ขณะนี้มีหลายประเทศที่ออกมาคัดค้านกลไกอนุญาโตตุลาการดังกล่าวอย่างชัดเจน อาทิ รัฐบาลออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ประกาศไม่ยอมรับข้อบทนี้ในการเจรจา ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เอเชีย-แปซิฟิก (TPP)  พรรค LDP ของญี่ปุ่นได้ออกมาแสดงท่าทีว่า จะไม่รับข้อบทนี้ใน TPP เช่นเดียวกัน แม้จะไม่แข็งขันมากนักก็ตาม โบลิเวีย เวเนซุเอลา และ เอกวาดอว์ ประกาศยกเลิกข้อตกลงลักษณะดังกล่าว และถอนตัวจากการเป็นภาคีของอนุญาโตตุลาการของธนาคารโลก และอีกไม่นาน อาร์เจนตินาก็จะถอนตัวตามมาติดๆ

               

ตัวอย่างคดีที่เกิดจากกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน ในข้อบทว่าด้วยการลงทุน

(Investor-State Dispute Settlement – ISDS)

 

                กรณีที่ 1 เม็กซิโก

                บริษัทโคทริน สัญชาติเม็กซิกัน ได้ทิ้งขยะสารพิษกว่า 20,000 ตันอย่างเปิดเผย โดยไม่มีการฝังกลบหรือจัดการใดๆ ในพื้นที่แหล่งต้นน้ำ  ในเวลาต่อมา Metalclad บริษัทอเมริกัน ซึ่งไม่มีประสบการณ์ด้านกำจัดขยะพิษเลย แต่เห็นช่องทางทำกำไรจึงรับซื้อบริษัทโคทรินและดำเนินการก่อสร้างขยายโรงงานกำจัดสารพิษและที่กลบฝังจนแล้วเสร็จ ทั้งๆที่เทศบาลกัวดัลคาซาร์ ไม่ออกใบอนุญาติให้ก่อสร้าง  และสั่งให้ยุติการก่อสร้าง แต่ทางบริษัทอ้างว่าได้รับใบอนุญาตก่อสร้างจากรัฐบาลกลางแล้ว   

ในปี ค.ศ. 1993 ชาวบ้านที่อาศัยอยู่แถบนั้นไม่ต้องการให้มีการทิ้งขยะพิษเพิ่มอีก จนกว่าจะมีการทำความสะอาดและฟื้นฟูอย่างถูกวิธี เพราะพวกเขาต้องเผชิญกับอัตราการเป็นมะเร็งสูงผิดปกติกว่าที่อื่น  ปี ค.ศ. 1997 ผู้ว่าการรัฐซานหลุยส์โพโตซี ออกประกาศให้พื้นที่ก่อตั้งโรงงานเป็นพื้นที่นิเวศน์พิเศษ เพื่อปกป้องพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพและพันธุกรรมหายาก ในขณะที่เทศบาลกัวดัลคาซาร์ยังคงไม่ออกใบอนุญาตให้โรงงานเปิดดำเนินการ

                Metal clad จึงฟ้องรัฐบาลเม็กซิโก ด้วยบทที่ 11 ของ NAFTA ที่ว่าด้วย ISDS โดยอ้างว่าพฤติกรรมของเทศบาลกัวดัลคาซาร์ คือการยึดทรัพย์เอกชนโดยไม่ชดเชยค่าเสียหาย และจ้างบริษัทที่ปรึกษาด้านกฎหมายระหว่างประเทศของ เอ็ดวิน วิลเลียมสัน ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งที่ปรึกษากฎหมายของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ในช่วงการเจรจา NAFTA มาช่วยทำคดี

                25 ตุลาคม ค.ศ.2001 คณะอนุญาโตตุลาการ มีคำสั่งให้รัฐบาลเม็กซิโกชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ Metal clad เป็นเงิน 16,002,443 เหรียญสหรัฐ มากเสียยิ่งกว่ารายได้ของประชาชนทั้งรัฐซานหลุยส์โพโตซี รวมกัน

               

กรณีที่ 2 อาร์เจนตินา

วิกฤตเศรษฐกิจในอาร์เจนตินา ระหว่างปี ค.ศ. 2001-2002 ทำให้รัฐบาลในขณะนั้นต้องลดค่าเงินและหยุดการขึ้นค่าสาธารณูปโภค เพื่อช่วยค่าครองชีพของประชาชน ปรากฏว่า รัฐบาลอาร์เจนตินา ถูกนักลงทุนต่างชาติยักษ์ใหญ่หลายบริษัท อาทิ ด้านพลังงาน CMS Energy (สหรัฐฯ), เรื่องการแปรรูปน้ำ Suez and Vivendi (ฝรั่งเศส), Anglian Water (สหราชอาณาจักร) เจ้าแห่งการแปรรูปน้ำเช่นกัน และอีกเจ้าคือ Aguas de Barcelona (สเปน) ฟ้องผ่านอนุญาโตตุลาการกราวรูดกว่า 40 คดีเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากกำไรที่คาดว่าจะได้รับแต่ต้องสูญเสียไปจากนโยบายรัฐดังกล่าว แต่จนถึงทุกวันนี้รัฐบาลอาร์เจนตินายังคงยืนกรานที่จะไม่จ่ายค่าเสียหายจำนวน 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐนั้น

กรณีที่ 3 แอฟริกาใต้      

ปี ค.ศ. 2007 นักลงทุนอิตาเลียนฟ้องรัฐบาลแอฟริกาใต้ ฐานที่ออกกฎหมายเพิ่มอำนาจทางเศรษฐกิจให้แก่คนผิวดำ (Black Economic Empowerment Act) กฎหมายนี้ออกมาเพื่อแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมที่ตกทอดมาจากยุครัฐบาลเหยียดผิว โดยกำหนดให้บริษัททำเหมืองต้องแบ่งการถือหุ้นให้แก่นักลงทุนผิวดำ คดีนี้สิ้นสุดเมื่อปี ค.ศ. 2010 โดยที่นักลงทุนอิตาลียังคงได้สัมปทานรอบใหม่ต่อเนื่อง แถมยังได้ลดสัดส่วนหุ้นที่จะต้องแบ่งให้นักลงทุนผิวดำอีกด้วย

 

กรณีที่ 4 เยอรมนี           

ปี ค.ศ. 2009 Vattenfall บริษัทพลังงานจากสวีเดนฟ้องรัฐบาลเยอรมันเรียกค่าเสียหาย 1,900 ล้านเหรียญสหรัฐบวกดอกเบี้ย ฐานที่ออกกฎหมายสิ่งแวดล้อมเพิ่มความเข้มงวดกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน คดีนี้รัฐบาลเยอรมันยอมถอย โดยยอมลดมาตรฐานสิ่งแวดล้อมลง ผลก็คือ สัตว์ป่าและแม่น้ำเอลเบข้างโรงไฟฟ้าของ Vattenfall  เป็นผู้รับเคราะห์

ปี ค.ศ.  2012 Vattenfall  เจ้าเก่า ฟ้องเรียกค่าเสียหาย 4,600 ล้านยูโรฐานที่รัฐบาลเยอรมันประกาศนโยบายจะเลิกใช้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ หลังเหตุการณ์การรั่วไหลของกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ฟุคุชิมะ ในประเทศญี่ปุ่น

 

กรณีที่ 5 อุรุกวัย และ กรณีที่ 6 ออสเตรเลีย

ปี ค.ศ. 2012 มีอีกหนึ่งคดีที่ดึงดูดความสนใจจากทั่วโลก เมื่อยักษ์ใหญ่ยาสูบ Philip Morris ฟ้องควบทั้งรัฐบาลอุรุกวัยและออสเตรเลีย ข้อหาออกกฎหมายควบคุมยาสูบ โดยติดป้ายเตือนภัยจากการสูบบุหรี่ และบังคับใช้ซองสีเดียวกัน (Plain Package) โดย Philip Morris อ้างว่าเป็นการทำลายเครื่องหมายการค้า ทำให้ยอดขายตก คดีนี้น่าสนใจตรงที่ Philip Morris ใช้บริษัทลูกในฮ่องกงฟ้องอนุญาโตตุลาการ เพราะออสเตรเลียนั้นมีความตกลงด้านการลงทุนกับฮ่องกงที่ยินยอมเรื่อง ISDS จากกรณีนี้เองที่ทำให้รัฐบาลออสเตรเลีย ประกาศไม่ยอมรับและไม่กดดันประเทศใดให้ต้องรับ ISDS อีกเลย และส่งผลต่อเนื่องให้รัฐบาลนิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น และอินเดีย ประกาศไม่รับ ISDS ด้วยเช่นกัน

กรณีที่ 7 แคนาดา

คดีที่อยู่ในความสนใจล่าสุด คือ กรณีที่บริษัทยายักษ์ใหญ่ Eli Lilly ใช้ความตกลง NAFTA ฟ้องรัฐบาลแคนาดา เรียกค่าเสียหาย 100 ล้านเหรียญสหรัฐ โทษฐานที่ไม่ยอมให้สิทธิบัตรแก่ยา Strattera (Atomoxetine) ซึ่งใช้เพื่อบรรเทาปัญหาไฮเปอร์ในเด็ก โดย Eli Lilly อ้างว่า การไม่ให้สิทธิบัตรยานี้ เท่ากับรัฐบาลแคนาดาเข้าข้างบริษัทยาชื่อสามัญในประเทศถือเป็นการเลือกปฏิบัติ ทั้งๆ ที่เหตุผลการไม่ให้สิทธิบัตรคือการไม่มีความใหม่ และไม่มีขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น

กรณีที่ 8 ฟิลิปปินส์

ในแถบเอเชีย ก็มีคดีที่น่าสนใจ เป็นคดีเกี่ยวเนื่องกับการตรวจสอบราคาก่อสร้างสนามบินที่แพงเกินอันเนื่องมาจากการคอร์รัปชั่น ปรากฏว่า ทำให้รัฐบาลฟิลิปปินส์ถูกบริษัทสร้างสนามบิน Fraport สัญชาติเยอรมันฟ้องร้อง 2 คตี ในคดีแรก Fraport แพ้ แต่ยังฟ้องต่ออีกหนึ่งคดี  ผลของคดียังไม่รู้แพ้ชนะ แต่รัฐบาลฟิลิปปินส์ต้องจ่ายค่าสู้คดี ในอนุญาโตตุลาการไปแล้ว เป็นเงินถึง 58 ล้านเหรียญสหรัฐ เท่ากับงบประมาณที่ไช้จ้างครู 12,500 คนตลอด 1 ปี หรือใช้เพื่อซื้อวัคซีนป้องกันโรคต่างๆในเด็กได้ถึง 3,800,000 คน หรือจะเอาไว้สร้างสนามบินแห่งใหม่ ก็จะได้ถึง 2 แห่งทีเดียว

กรณีที่ 9 ประเทศไทย     

คงจำกรณีการอายัดเครื่องบินที่สนามบินมิวนิคได้ บริษัทวอลเตอร์ บาว สัญชาติเยอรมันในฐานะผู้ถือหุ้นในบริษัทดอนเมืองโทลเวย์ ร้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐบาลไทย 30 ล้านยูโร ฐานที่รัฐบาลไทยผิดสัญญา เช่น ขอให้ลดค่าผ่านทางเหลือ 20 บาทตลอดสาย และมีมาตรการไม่ให้บริษัทปรับค่าผ่านทาง แถมยังทุบไฟแดง สร้างเกือกม้ากลับรถให้คนมีทางเลือกไม่ขึ้นโทลล์เวย์ และแล้วอนุญาโตตุลาการก็ชี้ขาดให้ไทยแพ้คดีฐานทำกำไรของนักลงทุนหด ต้องชำระค่าเสียหาย แม้ข่าวจะเงียบฉี่ แต่ในความเป็นจริงคือ ไทยต้องจ่ายค่าเสียหายเป็นเงินกว่า 1,400 ล้านบาท และยังต้องเสียค่าดำเนินคดี ค่าทนาย และอื่นๆ จิปาถะกว่า 140 ล้านบาท

จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้น รวมถึงตัวอย่างคดีที่เกิดขึ้นจริง สรุปได้ว่า เหตุผลในการฟ้องร้องของนักลงทุนต่างชาติ ก็คือ ผลประโยชน์ของนักลงทุนต่างชาติเอง โดยมิได้แยแสความเป็นประชาธิปไตย สิทธิชุมชน ประโยชน์สุขของสาธารณะ หรือแม้แต่อธิปไตยของประเทศ 
         บทเรียนจากความตกลงการค้าเสรีฉบับต่างๆ โดยเฉพาะ NAFTA ที่ฟ้องกันระนาวด้วยกลไกอนุญาโตตุลาการและปรากฏผลของคดีให้เห็นแล้ว จึงไม่เป็นเพียง หายนะในโลกของความเป็นจริง แต่เป็นบทเรียนที่มีไว้เพื่อผู้ที่เห็นแก่ผลประโยชน์ของสังคมที่แท้จริงต้องพิจารณา และหาทางหลีกเลี่ยงการก้าวซ้ำรอยหายนะนี้

9.การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กำลังทำการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพของเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป อย่างรอบด้าน ซึ่งชุดงานวิจัยนี้จะเสร็จภายในเดือนกันยายน พ.ศ. 2556   เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการเจรจา นับเป็นครั้งแรกที่คณะเจรจาฝ่ายไทยจะมีงานวิจัยที่รอบด้านถึงผลกระทบเพื่อประกอบการเจรจา โดยมีโจทย์วิจัย 7 ด้านดังนี้

1.ความตกลงการค้าเสรีทำให้ประเทศไทยคงสถานะทางเศรษฐกิจ หรือ เกิดการเจริญเติมโตทางเศรษฐกิจ ด้านการค้าสินค้า บริการ และการลงทุนอย่างไร

2.การยอมรับในข้อตกลงเกี่ยวกับการจัดซื้อรัฐ จะมีผลกระทบอย่างไร

3.การถ่ายทอดเทคโนโลยีจากเจ้าของสิทธิบัตรควรเป็นอย่างไร

4.การขยายระยะเวลาการผูกขาดเชิงพาณิชย์ด้านข้อมูลประสิทธิผลและความปลอดภัยของยาในระบบสิทธิบัตรและระบบการขออนุญาตจำหน่าย จะทำให้เกิดผลกระทบอย่างไร

5.การบังคับใช้กฎหมายสิทธิบัตรและมาตรการผ่านแดนจะเกิดผลกระทบอย่างไร

6.การแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพที่เหมาะสมควรเป็นอย่างไร

7.การพัฒนาข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อส่งเสริมศักยภาพในห่วงโซ่อุปทานยาของประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่ค่อนข้างรอบด้านที่สุดนี้พร้อมด้วยชุดข้อเสนอสำหรับการเจรจานี้ จะถูกผู้เจรจาและรัฐบาลนำไปใช้ในการเจรจาหรือไม่ ยังเป็นคำถามสำคัญ เมื่อกลุ่มธุรกิจซึ่งมีอิทธิพลทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองพยายามที่จะบีบคอรัฐบาลให้เร่งเจรจาให้เสร็จภายในเวลาปีเศษๆ เพื่อหวังได้ต่อสิทธิพิเศษทางการค้าเท่านั้น

และนี่ คือ โจทย์ใหญ่ของสังคมไทย ว่า เราจะปล่อยให้นักธุรกิจเหล่านี้ใช้อิทธิพลกดดันรัฐบาลจนไม่อาจทำหน้าที่ปกป้องประชาชนและสังคมไทยเช่นนี้หรือ