ไทยรัฐ - มะเร็งภัยเงียบที่คุกคามสุขภาพ ชีวิต และเงินในกระเป๋าของคนไทย ทั้งเป็น ภัยต่อความมั่นคงระบบสาธารณสุขของประเทศ
ทุกวันนี้มะเร็งถือเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขระดับโลก เนื่องจากแต่ละปีจะมีประชากรทั่วโลกเสียชีวิตประมาณ 6 ล้านคน หรือร้อยละ 13 ของการ เสียชีวิตของประชากรโลก
โดยองค์การอนามัยโลกคาดว่าหากยังปล่อยไว้เช่นนี้ ภายในปี 2558 จะมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นจากปีละ 10,100,000 คนเป็น 15,700,000 คน และเสียชีวิตเพิ่มเป็นปีละ 10 ล้านคน
สำหรับสถานการณ์โรคมะเร็งในไทย พบว่าแต่ละปีมีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 1 แสนคน หรือเฉลี่ยวันละ 274 คน และเสียชีวิตจาก มะเร็งประมาณ 45,000 คน หรือร้อยละ 68.4 ต่อประชากรแสนคน
ซึ่งสาเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง ได้แก่ เกิดจากไวรัส เช่น มะเร็งปากมดลูก เชื้อกัมมันตรังสี เช่น มะเร็งผิวหนัง และเกิดจากสารเคมีต่างๆ เช่น สารพิษอะฟลาทอกซิน พบใน ถั่วลิสง ข้าวโพด หอม กระเทียม พริกแห้ง มันสำปะหลัง ดินประสิว ที่ใช้เป็นส่วนผสมอาหารประเภทเนื้อเค็ม แหนม ปลาร้า ซึ่งมักจะเป็นมะเร็งตับและมะเร็งท่อน้ำดี เป็นต้น
โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบอัตราการตายจากมะเร็งตับและท่อน้ำดีสูงสุด ซึ่งการตรวจรักษา ก็มักจะตรวจพบเมื่อเป็นระยะสุดท้ายแล้ว โดยจากการวิเคราะห์สถานการณ์การตายของจังหวัดในเครือข่ายบริการสาธารณสุขที่ 10 ได้แก่ จ.อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ และมุกดาหาร พบว่าสิ่งที่หน้าตกใจคือแนวโน้มการตายด้วยมะเร็งตับและท่อน้ำดีเพิ่มขึ้นทุกปีโดยปี 2550 มีอัตราตายด้วยมะเร็งตับและท่อน้ำดี 33.54 ต่อแสน ประชากร และเพิ่มเป็น 42.86 ต่อแสนประชากรในปี 2553
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการรักษาและทำให้ประชาชนเข้าถึงการบริการโรคมะเร็งที่มีคุณภาพ จึงได้ลงพื้นที่ดูการจัดการระบบบริการสาธารณสุขเพื่อดูแลผู้ป่วยมะเร็งและการคัดกรองผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีที่ รพ.มะเร็งอุบลราชธานี และ รพ.สรรพสิทธิ- ประสงค์ ซึ่งมีระบบการส่งต่อผู้ป่วยที่ดีส่งผลให้สามารถลดปัญหาการรอคิวผ่าตัด ลดค่าใช่จ่ายในการเดินทางให้กับผู้ป่วยได้
“เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงสิทธิ์การรักษามะเร็ง สปสช. ได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข พัฒนาเครือข่ายมะเร็งเชื่อมโยงระหว่างโรงพยาบาลเพื่อรักษาใกล้บ้านผู้ป่วยที่สุดตั้งแต่การคัดกรอง วินิจฉัยเบื้องต้นส่งต่อ และการดูแลพักฟื้นเยียวยาระยะสุดท้าย ซึ่งปัจจุบันผู้ป่วยมะเร็งสามารถเข้ารับบริการรักษามะเร็งได้ทุกจังหวัดโดยเฉพาะเคมีบำบัดที่มีอัตราการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดร้อยละ 90 สำหรับรังสีรักษาสามารถส่งต่อและรอคอยการรักษาไม่เกิน 2 เดือนมีโรงพยาบาลระดับตติยภูมิหรือขนาดใหญ่ด้านโรคมะเร็งในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 35 แห่งครอบคลุมทั่วประเทศ” นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. กล่าวถึงระบบและขั้นตอนการส่งต่อผู้ป่วยโรคมะเร็ง
หันกลับมาดูปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวการก่อโรคมะเร็งตับและท่อน้ำดีบ้าง สิ่งที่พบคือ การก่อโรคส่วนใหญ่มาจากอาหาร
“ปลาร้าจัดเป็นอาหารของคนอีสาน โดยเฉพาะปลาร้าหมักดิบที่ไม่ผ่านการต้มก่อนนำมาปรุงอาหาร เช่น เมนูที่ได้รับความนิยมอย่างส้มตำ ที่มีความเข้าใจกันว่าปลาร้าไม่ต้มจะทำให้รสชาติของส้มตำหอมและอร่อยกว่าส้มตำที่ใส่ปลาร้าต้ม แต่รู้หรือไม่ว่า การ ทานปลาร้าดิบสุ่มเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งท่อน้ำดี” นพ.ธนุตม์ ก้วยเจริญพานิชก์ นายแพทย์ชำนาญการโรงพยาบาลมะเร็ง จ.อุบลราชธานี ระบุชัด
ด้วยเหตุนี้จึงมีการป้องกันการเกิดโรคมะเร็งท่อน้ำดี ด้วยการรณรงค์ไม่ให้ชาวบ้านกินปลาดิบ เช่น ก้อยปลา ปลาส้ม รวมถึงอาหารเมนูปลาที่สุกๆดิบๆ ซึ่งจะทำให้เป็นพยาธิใบไม้ตับ และเป็นตัวการก่อมะเร็งชนิดหนึ่ง ทั้งมีการเฝ้าระวังเบื้องต้น โดยการ ตรวจอุจจาระหาไข่พยาธิใบไม้ตับ การไม่กินปลาร้าดิบ หรืออาหารที่ได้จากการหมักประเภทเนื้อดิบ
โดยกลุ่มที่เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง เช่น คนเชื้อสายไท-ลาว และมีอายุ 40 ปีขึ้นไป มีประวัติกินปลาดิบ หรือตรวจพบไข่พยาธิใบไม้ตับ มีญาติพี่น้องเป็นมะเร็งท่อน้ำดีหรือมะเร็งตับ ทางแพทย์จะเฝ้าระวัง โดยการตรวจด้วยอัลตราซาวนด์ และเมื่อพบความผิดปกติ
แม้ว่าโรคมะเร็งต้องใช้เวลานานหลายปีในการก่อโรค แต่สามารถสังเกตอาการและความผิดปกติ ซึ่งเป็นข้อบ่งชี้ได้ โดยอาการมะเร็งระยะแรกจะเป็นตุ่มก้อนขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ตามอวัยวะต่างๆในร่างกาย เช่น ผิวหนัง ริมฝีปาก ช่องปาก เต้านม หรือเป็นแผลเรื้อรัง รักษาไม่หาย หรือหากเป็นบริเวณช่องคลอดจะมีตกขาวมากและมีเลือดออกผิดปกติ เป็นหูด ไผหรือปานที่มีขนาดใหญ่ผิดปกติ
ทั้งยังสามารถสังเกตได้จากอาการท้องอืด เบื่ออาหาร ไอเรื้อรัง น้ำหนักลด เสียงแหบแห้งอยู่เสมอ การขับถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะผิดปกติ ดังนั้น หากมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งก็ควรเข้ารับการตรวจรักษาโดยเร็ว เพราะหากตรวจพบเร็วก็สามารถรักษาหายได้เป็นปกติถึงร้อยละ 80-100
ทีมข่าวสาธารณสุข เห็นด้วยอย่างยิ่งที่รัฐบาล และ สปสช.ตระหนักถึงปัญหาของโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นตัวก่อการร้ายในการคร่าชีวิตของประชากร
แต่สิ่งที่เราอดห่วงไม่ได้คือ การสานฝันเรื่องแก้ปัญหามะเร็งให้กลายเป็นจริง อาจจะไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก เพราะในทางปฏิบัติต้องมีเรื่องของงบประมาณและความร่วมมือจากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะเรื่องของโรงพยาบาลและการส่งต่อผู้ป่วย
เพราะการไม่มีโรคคือลาภอันประเสริฐ แต่หากมีโรคภัยไข้เจ็บคุกคามแล้วไม่ได้รับการรักษาอย่างจริงจังก็จะทำให้เกิดทุกข์อย่างมหันต์.ทีมข่าวสาธารณสุข
ที่มา: นสพ.ไทยรัฐ วันที่ 17 กันยายน 2556
- 6 views