หนังสือพิมพ์คมชัดลึก - การฟ้องศาลปกครองของสามบริษัทบุหรี่ข้ามชาติที่ขอให้ศาลชี้ขาดให้กฎหมายเพิ่มขนาดคำเตือนบนซองบุหรี่จาก 55 เป็น 85% ของกระทรวงสาธารณสุขเป็นโมฆะ นับเป็นครั้งที่สาม ที่บริษัทบุหรี่ข้ามชาติดำเนินคดีต่อรัฐบาลไทย
การดำเนินคดีครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2532 เมื่อบริษัทฟิลลิป มอร์ริส บริษัท อาร์เจเรย์ โนลด์ (ปัจจุบันขายกิจการนอกประเทศสหรัฐ อเมริกาให้แก่เจแปนโทแบคโค อินเตอร์เนชั่นแนล) และบริษัทบราวด์ แอนด์ วิลเลียมสัน (บริษัทลูกของบริติช อเมริกัน โทแบคโค) ขอให้สำนัก ผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกาอาศัยอำนาจกฎหมายการค้า มาตรา 301 เปิดการไต่สวนรัฐบาลไทย เพื่อบังคับให้เปิดตลาดบุหรี่ ไทยไม่ยอมอ่อนข้อในการเจรจาทวิภาคีจนอเมริกาฟ้องร้องต่อไปที่ที่ประชุมว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีศุลกากร (แกตต์ หรือองค์การค้าโลกในปัจจุบัน) ผลการเป็นคดีความครั้งนั้นนำมาสู่การเปิดตลาดเสรีสินค้าบุหรี่ และบริษัทบุหรี่ข้ามชาติทั้งสามต่างเข้ามาทำธุรกิจในไทย
การดำเนินคดีครั้งที่สองเกิดขึ้นเมื่อสองปีก่อนนี้ บริษัทฟิลลิป มอร์ริส กล่าวหาว่ารัฐบาลไทย ประเมินราคาต้นทุนบุหรี่มาร์ลโบโร ที่นำเข้ามาขาย จากฟิลิปปินส์สูงเกินความจริง ทำให้ต้องเสียภาษีสูงกว่าที่เขาควรจะเสีย ฟิลลิป มอร์ริส ไม่มีสิทธิ์ที่จะฟ้องไปยังองค์การค้าโลก เพราะประเทศที่เป็นภาคีเท่านั้นที่จะมีสิทธิฟ้อง ฟิลลิป มอร์ริส จึงขอให้รัฐบาลฟิลิปปินส์เป็นผู้ฟ้องต่อองค์การการค้าโลก ผลคือ องค์การการค้าโลกตัดสินให้ฟิลิปปินส์ (บริษัทฟิลลิป มอร์ริส) เป็นฝ่ายชนะคดี ประเทศไทยต้องกลับไป คำนวณภาษีตามที่บริษัทบุหรี่แจ้ง (ที่ไทยเชื่อว่าบริษัทฟิลลิป มอร์ริส แจ้งราคาต่ำกว่าความจริง)
การฟ้องร้องของบริษัทบุหรี่ข้ามชาติทั้งสองครั้งเป็นการฟ้องที่เวทีนานาชาติคือ องค์การการค้าโลก กล่าวหาว่าประเทศไทยทำผิดกฎกติกาการค้าระหว่างประเทศ
แต่การฟ้องร้องครั้งที่สามนี้เป็นการฟ้องที่ศาลปกครองของไทยกล่าวหาว่า กระทรวงสาธารณสุขออกกฎหมายที่มิชอบ เป็นครั้งแรกที่บริษัทบุหรี่ร้องรัฐไทยต่อศาลไทย
บริษัทบุหรี่ข้ามชาติทั้งสามที่ฟ้องประเทศไทยครั้งนี้ ความจริงก็คือ สามบริษัทเดิมที่ ฟ้องประเทศไทย บังคับให้เปิดตลาดบุหรี่เมื่อ พ.ศ.2532 อันได้แก่ บริษัทฟิลลิป มอร์ริส เจ้าเก่า บริษัทเจแปนโทแบคโค (อาร์เจเรย์โนลด์ เดิม) และบริษัทบริติช อเมริกันโทแบคโค (บราวด์ แอนด์ วิลเลียมสันเดิม) โดยทั้งสามเป็นบริษัทบุหรี่ข้ามชาติที่ใหญ่ที่สุดสามอันดับแรกของโลก
มูลเหตุที่คณะกรรมการควบคุมการบริโภคยาสูบแห่งชาติมีมติเห็นชอบให้ออกประกาศเปลี่ยนภาพคำเตือนจากขนาด 55 เป็น 85% ตามข้อเสนอของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มาจากการพิจารณาจากข้อเท็จจริง ที่ว่าประเทศอุรุกวัยใช้กฎหมายเพิ่มขนาดคำเตือน จาก 50 เป็น 80% ตั้งแต่ พ.ศ.2553
ประเทศออสเตรเลียใช้กฎหมายซองบุหรี่แบบเรียบตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2555 โดยมีขนาดภาพคำเตือน 87.5% เฉลี่ยต่อข้างและห้ามพิมพ์เครื่องหมายการค้า โลโก้ หรือสัญลักษณ์ใดๆ บน ซองบุหรี่ หรือที่เรียกว่ากฎหมายซองบุหรี่แบบเรียบ หรือ Plain Packaging บริษัทฟิลลิป มอร์ริส ฟ้องศาลทั้งในประเทศอุรุกวัยและออสเตรเลีย แต่ศาลยกฟ้อง ประเทศศรีลังกาออกประกาศให้พิมพ์ภาพคำเตือนขนาด 80%
บนซองบุหรี่ต้นปีนี้ บริษัทบุหรี่ลูกของบริติช อเมริกัน โทแบคโค ฟ้องศาลศรีลังกา ศาลชั้นต้นยกฟ้อง และศาลอุทธรณ์ยืนคำตัดสินของศาลชั้นต้น และขณะนี้บริษัทบุหรี่สู้ต่อไปถึงศาลฎีกา
ซึ่งหากจะเปรียบเทียบแล้ว กฎหมายของไทยแม้จะเพิ่มขนาดภาพคำเตือนมากกว่าของประเทศอุรุกวัย และศรีลังกา (จาก 80 เป็น 85%) แต่ก็ เข้มงวดน้อยกว่ากฎหมายของออสเตรเลียที่กำหนดขนาดภาพคำเตือน 87.5% และยังห้ามพิมพ์เครื่องหมายการค้าบนซองบุหรี่ด้วย
กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว การออกกฎหมายภาพคำเตือนขนาดใหญ่เป็นการแย่งชิงพื้นที่ทองบนซองบุหรี่ โดยบริษัทบุหรี่ต้องการใช้พื้นที่ซองบุหรี่ในการโฆษณาเพื่อให้คนสูบบุหรี่ แต่กระทรวงสาธารณสุขต้องการใช้พื้นที่ซองบุหรี่เพื่อเตือนพิษภัยให้คนไม่สูบบุหรี่ ดังนั้นหากพื้นที่ของฝ่ายหนึ่งเพิ่มขึ้นย่อมส่งผลกระทบถึงพื้นที่และเป้าหมายของอีกฝ่ายหนึ่ง ตามหลักการโฆษณาที่ว่าประสิทธิภาพการโฆษณาเพิ่มขึ้น ตามขนาดพื้นที่ที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่โฆษณาให้คนสูบบุหรี่ของบริษัทบุหรี่ หรือพื้นที่ที่โฆษณาเพื่อไม่ให้คนสูบบุหรี่
มีบางท่านแสดงความคิดเห็นว่า เอ๊ะ! ก็ฟ้อง แล้วก็แพ้มา 2-3 ประเทศแล้ว ทำไมจึงฟ้องประเทศไทยอีก
กลยุทธ์ของบริษัทบุหรี่ที่ใช้อย่างเป็นแบบแผนคือ บล็อก/ฟ้องไปทุกประเทศที่เขาคิดว่ากฎหมายจะกระทบต่อผลกำไรของเขา เฉพาะประเทศไทย บริษัทฟิลลิป มอร์ริส มีกำไร ปีละ ประมาณ 3 พันล้านบาท ที่เขาขนเงินออกจากแผ่นดินไทย
ด้วยเงินที่มีมากมายของเขา การเสียเงินจ้างบริษัทกฎหมายทำการฟ้องร้องแทนเขา เขาไม่ต้องทำอะไรเลย นอกเหนือจากการโยนเศษเงินกำไรไม่กี่สิบล้านบาทให้สำนักงานกฎหมายไปสู้กับนักกฎหมายสมัครเล่นของฝ่ายรัฐของแต่ละประเทศ
ปรัชญาของบริษัทบุหรี่ คือ ถึงฟ้องแล้วแพ้ เขาก็ต้องทำ เพราะ ข้อแรก เป็นการส่งสัญญาณขู่แก่ประเทศต่างๆ ว่า จะออกกฎอะไรมาควบคุมเขา ระวังเขาจะฟ้องศาลได้นะ เป็นการขู่รัฐบาลของประเทศต่างๆ ทำให้ผู้บริหารหลายๆ ประเทศ ไม่กล้าออกกฎหมายควบคุมบริษัทบุหรี่ ด้วยความ กลัวว่าจะถูกฟ้องจริงๆ อย่างบริสุทธิ์ใจ เพราะโดยธรรมชาติแล้วไม่มีใครอยากเป็นคดีความ
ข้อที่สอง ก็คือ อาจจะมี ผู้บริหารประเทศที่ไม่ให้ความสำคัญกับการควบคุมยาสูบ ไม่สนใจที่จะออกกฎหมายควบคุมยาสูบแล้วใช้เหตุผลว่ากลัวจะถูกบริษัทบุหรี่ฟ้องเป็นข้ออ้าง ที่จะไม่ทำอะไรที่บริษัทบุหรี่ไม่ชอบ
ข้อที่สามคือ การฟ้องร้องอาจจะชะลอเวลาที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ ดังเช่น กรณีของประเทศศรีลังกา ที่บริษัทบุหรี่ต้องสู้ถึงศาลฎีกา ชะลอการบังคับใช้กฎหมายได้เป็นปี ถึงแม้สุดท้ายบริษัทบุหรี่จะแพ้
ข้อที่สี่คือ ถ้าเขาชนะ เขาจะนำกรณีที่เขาชนะศาลในประเทศไทยไปอ้างเวลาเขาฟ้องรัฐบาลอื่นที่ออกกฎหมายลักษณะเดียวกับประเทศไทย
บุหรี่เป็นสินค้าถูกกฎหมายชนิดเดียวที่เสพติดและฆ่าผู้บริโภคในการใช้ตามปกติ ตามที่บริษัทผู้ผลิตแนะนำ (ให้สูบ) ดังนั้นรัฐบาลไทยจึงไม่ต้องกลัวคำขู่ หรือการฟ้องของบริษัทบุหรี่ โดยเฉพาะรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ ที่เป็นผู้รับผิดชอบออกกฎหมาย ที่นำไปสู่การฟ้องของบริษัทบุหรี่ ด้วยความตั้งใจว่าจะทำให้ภาพคำเตือนมีขนาดใหญ่ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตามข้อแนะนำของอนุสัญญาควบคุมยาสูบองค์การอนามัยโลก
อยากจะบอกด้วยความจริงใจว่า ในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ไม่มีอะไรที่จะ น่าภาคภูมิใจเท่ากับการที่ถูกบริษัทบุหรี่ฟ้องร้อง เพราะ ท่านได้ทำสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ต่อ สาธารณะ จนบริษัทบุหรี่ทนไม่ไหวเพราะจะไปกระทบผลกำไรของเขา จากการทำให้คนสูบบุหรี่น้อยลง เขาจึงต้องฟ้องท่าน แต่สุดท้ายแล้วธรรมย่อมต้องชนะอธรรมค่ะ
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 13 กันยายน 2556
- 81 views