นสพ.ประชาชาติธุรกิจ -คนไทยยังเสี่ยงใช้ยาผิดซองซ้ำรอยกรณีองค์การเภสัชฯ เผยกระทรวงสาธารณสุขทำชอบกล โยกงบฯ 500 ล้านบาท ของโครงการรื้อระบบบริหารจัดการคลังยาโรงพยาบาลรัฐกว่า 900 แห่ง ไปใช้กับโครงการอื่น ทำแผนงานสะดุดหลังปรับเปลี่ยนผู้บริหาร
จากกรณีที่องค์การเภสัชกรรม ทำงานผิดพลาดในขั้นตอนการบรรจุยา โดยพบว่ามีการบรรจุยา ใช้รักษาผู้ป่วยโรคหัวใจ (Isosorbide Dinitrate 10 มิลลิกรัม) ลงในซองยา สำหรับรักษาโรคความดันโลหิต (Amlodopine 5 มิลลิกรัม) นั้น
รศ.ดร.ดวงพรรณ กริชชาญชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการโซ่อุปทานสุขภาพ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า กรณีปัญหาขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) ถือเป็นเรื่องที่น่ากลัว และอันตรายกับผู้ป่วยมาก ซึ่งกรณีดังกล่าวสอดคล้องกับผลวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งจากการสุ่มตรวจเก็บข้อมูลโรงพยาบาลของรัฐทั้งโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยประมาณ 26 แห่งอย่างละเอียดตลอดช่วง 2552-2556 พบว่า ระบบการใช้ยาในระบบสาธารณสุขของไทยยังมีปัญหา เนื่องจากไม่มีตัวบ่งชี้ อัตลักษณ์หรือ Identification Code โดยยาชนิดเดียวกัน แต่ละหน่วยงานที่ทำหน้าที่ควบคุม โรงพยาบาลต่าง ๆ แต่ละแห่งจัดทำรหัสของตัวเองขึ้นมา ทำให้เกิดความสับสนอย่างมาก ขณะที่โรงพยาบาลของรัฐในต่างจังหวัดไม่มีระบบการจัดการบริหารคลังยาและเวชภัณฑ์ที่ดี ทำให้มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดความผิดพลาด ซึ่งทางมหาวิทยาลัยมหิดลพยายามผลักดันให้ทางกระทรวงสาธารณสุขเข้ามาแก้ไขเรื่องนี้นานพอสมควร ขณะนี้ระบบบริหารจัดการคลังยาและเวชภัณฑ์ในโรงพยาบาลของรัฐเกือบทั่วประเทศยังไม่มีระบบการบริหารจัดการที่ดี เวลาเกิดปัญหาจึงไม่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ และไม่สามารถเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนฐานข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้
ยกตัวอย่างยาพาราเซตามอล 1 เม็ด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้รหัสแทนตัวยาไม่เหมือนกัน โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ใช้โค้ดยา 24 หลัก อย.ใช้เลขทะเบียนยา 6 ประเภท กรมบัญชีกลางมีมาตรฐานรหัสสินค้า 22 หลัก, องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ใช้ GTIN, กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ใช้โค้ด 11 หลัก และกรมศุลกากรใช้โค้ด 16 หลัก ดังนั้น เมื่อช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทางมหาวิทยาลัยมหิดลจึงได้จับมือกับสถาบันรหัสสากล สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) นำรหัสมาตรฐานสากลที่ทั่วโลกใช้และประสานกับหน่วยงานทั้งหมดที่จะสร้างตัวเลขมาตรฐานยาของประเทศขึ้นมา เพื่อสร้างเป็นรหัสมาตรฐานสำหรับประเทศไทย ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ขณะนี้เราเริ่มนำร่องโครงการในโรงพยาบาล 3 แห่งคือ ศิริราช รามาธิบดี และโรงพยาบาลศรีนครินทร์ ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ
รศ.ดร.ดวงพรรณ กล่าวอีกว่า "หากเทียบกับสินค้าที่ขายในซูเปอร์มาร์เก็ตตามร้านค้าปลีก ตามห้างสรรพสินค้าสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่า สินค้าตัวนี้มาจากแบตช์ไหน ลอตไหน ผู้ผลิตคนไหน หรือแม้กระทั่งวัตถุดิบมาจาก ผู้ผลิตรายไหนกว่าสินค้าจะมาถึงมือเรา แต่ยาซึ่งเป็นเรื่องที่อันตราย เป็นเรื่องใกล้ตัวเรามาก ๆ เราบริโภคยา เวลาไปโรงพยาบาล เคยสังเกตหรือไม่ ยาหรือวัคซีนที่เราได้รับเป็นยาเม็ดนั้น หรือยาขวดนั้น มันเป็นยาชื่อนั้นจริง ๆ หรือวัคซีนที่ฉีดให้ลูกหลานเรา มันเป็นวัคซีนตัวนั้น จริง ๆ หรือแม้กระทั่ง มันเป็นวัคซีนหลอดนี้ที่นายแพทย์สั่งมาให้กับผู้ป่วยคนนั้น จริง ๆ กลับตรวจสอบไม่ได้"
"กรณีขององค์การเภสัชฯที่เกิดขึ้น เหมือนกับจำกรณี 'ซูโด' สารตั้งต้นของสารเสพติด ไม่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ที่มีปัญหายาหายไปที่ไหนก็ไม่ทราบ และได้มีการเรียกกลับทั้งประเทศ ห้ามสั่งจ่าย เพราะตรวจสอบย้อนไม่ได้ จึงต้องเรียกคืนทั้งประเทศ เราจึงต้องมาคิดว่า ทำอย่างไรดี ทำให้ผู้ป่วยปลอดภัย และซัพพลายเชนมีประสิทธิภาพด้วย"
เราควรจะมีโครงสร้างมาตรฐานทางด้านเทคโนโลยีรองรับความมีเอกภาพของข้อมูลทั้งประเทศให้เชื่อมโยงกันได้ และจะมีระบบบริหารจัดการคลังยาที่มีมาตรฐาน เชื่อมโยงข้อมูลการบริหารยาและเวชภัณฑ์จากหน่วยบริการไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนของประเทศนี้ มีระบบเฝ้าระวัง มีระบบเชื่อมโยงข้อมูลที่รวดเร็วมีประสิทธิภาพ มีระบบสารสนเทศด้านเวชภัณฑ์ยาที่ทันสมัย เหมาะแก่การปฏิบัติงาน การตัดสินใจกำหนดนโยบายและพัฒนาทางด้านระบบยาและ เวชภัณฑ์
1.ระบุรหัสมาตรฐานในการบ่งชี้อัตลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ที่ไหลในระบบสาธารณสุขได้ สอบย้อนกลับได้ว่ายาสั่งจ่ายออกไปอยู่ส่วนไหน 2.ระบบขึ้นทะเบียน ระบบยาและเวชภัณฑ์ (ระบบชี้อัตลักษณ์อย่างเดียวไม่ได้) เพราะยา 1 เม็ดมีองค์ประกอบมาก ต้องระบุวัตถุดิบ มีอะไรบ้าง สรรพคุณของยาตัวนี้มีผลอย่างไร ผลข้างเคียงหลังจากกินยาไปแล้วเป็นอย่างไร โดสในการบริโภคยาเป็นอย่างไร ยาเม็ดนี้ผลิตมาจากไหน ผ่านจากต้นทางมากี่ทอดแล้ว มีส่วนผสมของสารเสพติดหรือไม่ แล้วหากมีส่วนผสมสารเสพติดตัวนี้มีการขึ้นทะเบียนกับกรมสรรพสามิตหรือเปล่า ทำให้ใส่ข้อมูลที่ว่ามานี้ลงไปใน Code ไม่ได้ทั้งหมด อย่าง GS1 มีตัวเลข 13 หลัก จะใส่รายละเอียดลงไปได้ แต่ตัวยามีข้อมูลมหาศาลที่ใส่ลงไปใน Code ไม่ได้ เราจึงคิดว่า ต้องมีรหัสบ่งชี้อัตลักษณ์ บวกกับฐานข้อมูลก้อนหนึ่งที่บรรจุข้อมูลของยาชนิดนี้เข้าไป และใช้โค้ดรหัสบ่งชี้อัตลักษณ์ ตัวนี้คีย์แทรกข้อมูลเข้าไปในตัวยาตัวนั้น เมื่อเราทำข้อมูลตรงนี้ได้ ส่วนอื่น ๆ ของโครงการของกระทรวงสาธารณสุขตัวอื่น ๆ ถึงเดินไปได้
หลังจากนั้นถึงจะมาทำระบบการบริหารจัดการคลังยาและเวชภัณฑ์, ระบบสั่งซื้อยาอัตโนมัติ (VMI), ระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์, การตรวจสอบย้อนกลับ, ฐานข้อมูลส่วนกลาง ผลที่คาดว่าจะได้รับ คือ รหัสมาตรฐานเพื่อบ่งชี้อัตลักษณ์ ข้อมูลมาตรฐาน และมาตรฐานการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างฐานข้อมูลในหน่วยงาน ระบบเครือข่าย ระบบการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลของทั้งประเทศ เกี่ยวข้องกับโรงพยาบาลทั่วประเทศ ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องของนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขว่าจะดำเนินการหรือไม่
ขั้นตอนการดำเนินการเริ่มตั้งแต่ปี 2552 ถึงปัจจุบันปี 2556 เป็นระยะสั้นที่เราคาดว่ามาตรฐานรหัสยาและเวชภัณฑ์ กับระบบฐานข้อมูลยาและเวชภัณฑ์จะเริ่มต้นทำได้ ปี 2558 ระยะกลาง จะเริ่มทำระบบบริหารคลังยาและเวชภัณฑ์ได้ ระบบการตรวจสอบย้อนกลับจะเริ่มทำได้ ในระยะยาวระบบบริหารจัดการคลังยาและเวชภัณฑ์เต็มรูปแบบจะเริ่มขึ้น ระบบฐานข้อมูลยาและเวชภัณฑ์ส่วนที่เหลือเพิ่มขึ้น และ มีเว็บข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนเข้าไปดูข้อมูลได้
แหล่งข่าวจากกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ที่ผ่านมา ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขเห็นด้วยกับโครงการของมหาวิทยาลัยมหิดล และอนุมัติงบประมาณ 500 ล้านบาทมาดำเนินการในโรงพยาบาลของรัฐ 921 แห่งทั่วประเทศ แต่ล่าสุดเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร ทำให้งบประมาณโครงการดังกล่าวถูกโยกไปทำโครงการอื่น
ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 12 - 15 ก.ย. 2556
- 140 views