'พงศพัศ'นำป.ป.ส.ถกใหญ่ ชง'ใบกระท่อม'พ้นยาเสพติด จัดประชุมร่วมกับกระทรวง หน่วยงานสถาบันที่เกี่ยวข้องก่อนสรุป 5 ประเด็น เสนอรมว.ยุติธรรมพิจารณาส่งรมว.สาธารณสุข นำเข้าสู่คณะกรรมการยาเสพติดให้โทษตัดสินใจขั้นสุดท้าย โดยยึดหลักวิถีชีวิตคนท้องถิ่น พร้อมกับนำกระท่อมมาต่อยอดใช้ประโยชน์หลายๆ ด้าน
เมื่อวันที่ 10 ก.ย.ที่สำนักงานป.ป.ส. คณะทำงานพัฒนานโยบายและกฎหมายเกี่ยวกับพืชกระท่อม ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวน 26 ฝ่ายร่วมประชุมกัน โดยมีพล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ เลขาธิการป.ป.ส. ในฐานะรองประธานคณะทำงาน ผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กระทรวงมหาด ไทย(มท.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ผอ.กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน(กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ผบช.ปส. ผบช.สำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นายเพิ่มพงษ์ เชาวลิต รองเลขาธิการป.ป.ส. ในฐานะเลขานุการคณะทำงาน และนางอัญชลี ศิริทรัพย์ ผอ.สำนักพัฒนาการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ในฐานะผู้ช่วยเลขานุการ เข้าร่วมประชุม
พล.ต.อ.พงศพัศกล่าวถึงผลการประชุมว่า วันนี้ถือเป็นผลสรุปมติที่ประชุม โดยให้ฝ่ายเลขานุการรวบรวมข้อมูลทั้งหมดที่มีและได้รับเพิ่มเติมวันนี้ นำเสนอเป็น 5 ประเด็นสำคัญของคณะทำงานนำเรียนถึงรมว.ยุติ ธรรม ถ้ารมว.ยุติธรรมเห็นด้วยจะส่งเรื่องถึงรมว.สาธารณสุขต่อไป เพื่อให้พิจารณาดำเนินการนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรม การยาเสพติดให้โทษ ซึ่งมีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน พิจารณาตามความคิดเห็นและคำชี้แนะของสถาบันวิจัยสังคมของจุฬาฯ และม.สงขลานครินทร์ รวมถึงองค์ประกอบข้อมูลการวิจัยที่ผ่านมาของวุฒิสภา และข้อมูลที่ป.ป.ส.รวบรวมได้
สำหรับ 5 ประเด็นสำคัญที่คณะทำงานจะนำเสนอรมว.ยุติธรรม ประกอบด้วย 1.ให้พิจารณาประกาศยกเลิกพืชกระท่อม ไม่เป็นสารเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามพ.ร.บ. ยาเสพติด พ.ศ.2522 และให้ใช้พืชกระท่อมเป็นสมุนไพรที่จะมีการพัฒนาต่อยอดต่อไป 2.ยกเลิกพืชกระท่อม ไม่เป็นสารเสพติดให้โทษประเภท 5 แต่ให้พืชกระท่อมเป็นสารที่ถูกควบคุมในฐานะที่เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท 3.ไม่ต้องแก้ไขกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน แต่ให้ปรับปรุงระเบียบ หรือแนวทางการควบคุมที่จะเอื้อประโยชน์ต่อวิถีชีวิตประจำวันของผู้ใช้พืชกระท่อม เช่น ลักษณะของการเคี้ยวโดยธรรมชาติไม่มีผลต่อเนื่องอะไรต่างๆ ต่อไป อย่างไร
ประเด็นที่ 4 อยากให้คณะกรรมการยาเสพติดให้โทษพิจารณาว่าในการนำใบกระท่อมที่ถือเป็นสารตั้งต้นไปต่อยอดเปลี่ยนแปลง แปรสภาพ ไม่ว่าจะเอาไปต้มและผสมกับวัตถุสารต่างๆ จนเป็น 4 คูณ 100 จนมีผลกระทบกับสังคม ความสงบเรียบร้อย เนื่องจากสิ่งต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นหลังจากมีกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2522 จึงอยากให้พิจารณาว่าบทลงโทษควรมีหรือไม่ และควรเป็นแบบไหน อย่างไร และประเด็นสุดท้าย ถ้าหาก 4 ประเด็นข้างต้นไม่สามารถดำเนินการได้ จะมีวิธีการอย่างไรในการนำพืชกระท่อมมาก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในฐานะที่ไทยเป็นประเทศที่ปลูกต้นกระท่อมจำนวนมาก
พล.ต.อ.พงศพัศกล่าวอีกว่า ข้อมูลทั้งหมดรวบรวมเสร็จสิ้นภายในวันนี้ ก่อนนำเสนอรมว.ยุติธรรมในวันที่ 11 ก.ย. คาดว่าไม่เกินวันที่ 13 ก.ย. เรื่องน่าจะถึงคณะกรรมการยาเสพติดให้โทษเพื่อพิจารณาตัดสินใจ
ที่มา--ข่าวสด ฉบับวันที่ 12 ก.ย. 2556 (กรอบบ่าย)--
- คณะทำงานพัฒนานโยบายและกฎหมายเกี่ยวกับพืชกระท่อม
- พงศพัศ พงษ์เจริญ
- กระทรวงสาธารณสุข
- กระทรวงมหาดไทย
- กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
- พม.
- สภาความมั่นคงแห่งชาติ
- สมช.
- กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า
- สถาบันนิติวิทยาศาสตร์
- ป.ป.ส.
- อัญชลี ศิริทรัพย์
- สำนักพัฒนาการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด
- 10 views