หนังสือพิมพ์บางกอกทูเดย์ - จากแนวคิดจะยกเลิกใบกระท่อมจากยาเสพติดประเภท 5 ของหน่วยงานภาครัฐแต่ต้องมีข้อมูลการวิจัยสนับสนุนถึงข้อดี-ข้อเสียที่ชัดเจนเสียก่อน รวมถึงการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ หากได้รับการสนับสนุนจริงจังก็สามารถผลักดันให้เป็นจริงได้
กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงความเหมาะสมและความเป็นไปได้ ถึงแม้ใบกระท่อมมีประโยชน์ทางยา ใบกระท่อม ใช้รักษาโรคบิด แก้ปวดมวนท้อง ปวดเบ่ง ปวดเมื่อยร่างกายท้องเฟ้อ ท้องเสีย ท้องร่วง แต่มันไม่จำเป็นแล้ว เพราะมียาแผนปัจจุบันที่ให้ผลดีกว่าอยู่แล้ว
ส่วนเรื่องกฎหมายทุกวันนี้ตำรวจก็ไม่จับ จะจับก็แต่เฉพาะบ้านที่ปลูกมากเป็นสวนเป็นไร่ แต่ถ้าปลูกต้นเดียว ตำรวจก็แค่มาเตือนให้ตัดทิ้งถ้ามันใหญ่เกินไป แต่ถ้าเปิดกว้าง ไม่ผิดกฎหมายจะเปิดขายกันแบบเสรี
การเสพของใบกระท่อมมีหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็น เคี้ยวใบสด ต้มใบสด และใบแห้งกับน้ำ แต่บางคนเคี้ยวแล้วกลืนใบ อาจลำไส้อุดตันหรือลำไส้ทะลุได้ บางรายไม่ได้เสพนานๆ จะมีอาการปวดเมื่อยตัว
นอกจากนี้ ใบกระท่อมยังถูกนำไปเป็นส่วนผสมของ "สี่คูณร้อย" ซึ่งมักจะพบบ่อยในบริเวณชายแดนภาคใต้ ซึ่งสารอื่นๆที่ผสมอยู่นั้นมีฤทธิ์อันตรายกว่าน้ำใบกระท่อม
หากมีการจะยกเลิกจริงๆ ควรจะมีการควบคุมในบางระดับ เหมือนบุหรี่ เหล้าที่มีการควบคุมอยู่ในเด็กและเยาวชน ไม่ควรจะปล่อยเสรีให้เด็กและเยาวชนสามารถนำมาใช้ได้ง่าย ต้องป้องกันเด็กไม่ให้เข้าถึง ถ้าหากจะมีการถอนออกจากบัญชีพืชเสพติดจริงๆ
อย่างไรก็ตาม ในต่างประเทศไม่มีใครควบคุมใบกระท่อม แต่ไทยมีการควบคุมกันมานานแล้ว เนื่องจากตอนนั้นคนไม่สูบฝิ่นก็เลยหันมาหาใบกระท่อม จึงต้องมีการควบคุมนับแต่นั้นมา
ข้อมูลการศึกษาผลดีและผลเสียของการบริโภคพืชกระท่อม ระบุว่า กระท่อมมีสรรพคุณทางยา ตำราแพทย์แผนโบราณ ใช้ใบกระท่อมปรุงเป็นยา พืชกระท่อมมีสารอัลคาลอยด์ มีทราไกไนอยู่ในใบ มีฤทธิ์ระงับอาการปวด เช่นเดียวกับมอร์ฟีน
โดยมีความแรงต่ำกว่ามอร์ฟีนประมาณ 10 เท่า และมีข้อดีกว่ามอร์ฟีนคือ ไม่กดระบบทางเดินหายใจ ไม่ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน พัฒนาการในการติดยาเกิดช้ากว่ามอร์ฟีนหลายปี ไม่มีปัญหาเรื่องอาการอยากได้ยาจึงไม่มีกรณีผู้ติดกระท่อม ก่อเหตุร้ายหรือพัวพันกับอาชญากรรมใดเลย
จากการศึกษาข้อมูลการบริโภคใบกระท่อมในประเทศไทย พบว่า คนไทยใช้กระท่อมมาเป็นเวลานานและใช้กันอย่างแพร่หลาย ประเทศเพื่อนบ้านอาทิ ลาว เขมร มาเลเซีย อินโดนีเซีย พบว่า พืชกระท่อมที่อยู่ในรูปของ ต้น ใบ ราก ไม่เป็นสิ่งผิดกฎหมายของประเทศเหล่านี้
และประชาชนบางกลุ่มที่นิยมบริโภคในรูปของใบสดเพื่อกระตุ้นการทำงาน อีกทั้งในข้อตกลงของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ไม่ได้กำหนดให้กระท่อมเป็นสิ่งเสพติดหรือผิดกฎหมาย คงมีประเทศไทยประเทศเดียวเท่านั้นที่กำหนดให้กระท่อมเป็นพืชที่ผิดกฎหมาย
เหตุผลที่แท้จริงของการออก พ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ. 2486 เนื่องจากรัฐผูกขาดการเก็บภาษีฝิ่นแต่ฝิ่นสุกและฝิ่นดิบมีราคาแพง ทำให้คนหันมาสูบกระท่อมแทนฝิ่น ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า แท้ที่จริงการตรา พ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ. 2486 และใช้สืบเนื่องมาจนทุกวันนี้มีเหตุผลและหลักการทางการค้าทางภาษีของรัฐ หาใช่เพราะเหตุที่พืชกระท่อมเป็นพืชเสพติดเองไม่
ล่าสุด "พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ" เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือ ป.ป.ส. เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะทำงานพัฒนานโยบายและกฎหมาย เกี่ยวกับพืชกระท่อมว่า...
คณะทำงานมีข้อสรุปร่วมกัน ให้นำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ก่อนส่งต่อ รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข นำเสนอคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ กรณีการประกาศยกเลิกกฎหมายพืชกระท่อม ที่เป็นยาเสพติดให้โทษ ประเภท 5 โดยให้ใช้ควบคุมเป็นพืชสมุนไพร แต่ต้องควบคุมในฐานออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท เพื่อให้สามารถเอื้อต่อการนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้
ส่วนการที่นำไปเป็นสารตั้งต้น เพื่อผสมให้กลายเป็นวัตถุออกฤทธิ์นั้น ถือเป็นการกระทำผิดกฎหมาย ซึ่งจะมีการพิจารณาบทลงโทษ และฐานความผิดต่างๆ
หากกระทรวงสาธารณสุข ไม่สามารถดำเนินการตามแผนพิจารณาได้ จะขอให้เสนอวิธีการนำใบกระท่อมมาใช้ประโยชน์ เพื่อการพัฒนาต่อไป
ที่มา: หนังสือพิมพ์บางกอกทูเดย์ วันที่ 12 - 13 ก.ย. 2556--
- 1164 views