กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ มีการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ภายใต้วิสัยทัศน์การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนปี 2558 "ประเทศไทยเป็นสมาชิกที่เข้มแข็งและสนับสนุนคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนอาเซียนร่วมกัน" ภายใต้กรอบ กฎบัตรอาเซียน ข้อตกลงพันธกรณีตามพิมพ์เขียว (Blueprints) แผนแม่บทความเชื่อมโยงระหว่ากันในอาเซียน (MPAC) จาก แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 การบูรณาการยุทธศาสตร์อาเซียนให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศ
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้ดำเนินการเสริมสร้าง ความสามารถในการแข่งขันของสินค้า บริการ การค้า และการลงทุน เพื่อเพิ่มศักยภาพภาคการผลิต บริการ การค้า และการลงทุน ให้สามารถรองรับการเปิดเสรี และใช้โอกาสจากการเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวของอาเซียน โดยกองสนับสนุนบริการสุขภาพอาเซียน สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ สำนักงานส่งเสริมธุรกิจบริการสุขภาพร่วมกับสภาวิชาชีพ ปัจจุบันมีการทำ MRA ใน 3 สาขาวิชาชีพ คือแพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล พันธกรณีบริการสุขภาพของประเทศสมาชิกอาเซียน ภายใต้ชุดที่ 8 ภายใต้ AFAS และกำลังดำเนินการเจรจาในชุดที่ 9 ในทางปฏิบัติจริงนั้นอาจไม่ก่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานได้ง่ายนัก เพราะหลาย ๆ ประเทศ ยังมีกฎเกณฑ์ที่แรงงานต้องปฏิบัติตาม ซึ่งบางข้อนั้นอาจส่งผลให้ การเคลื่อนย้ายแรงงานแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย บุคลากรแพทย์ที่ต้องการมาทำงานในไทย จะต้องมีการสอบใบอนุญาต ซึ่งมีการสอบ 3 ภาค ภาคหนึ่งข้อสอบเป็นภาษาไทย และยังมีอุปสรรค ด้านวัฒนธรรมและการยอมรับในสังคม การสอบขึ้นทะเบียนผู้ประกอบวิชาชีพ ในความดูแลกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ยังมีอีก 7 สาขา 2 ศาสตร์ การประกอบโรคศิลปะ ตามพรบ.การประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542 ได้แก่ สาขาการแก้ไขความผิดปกติของการสื่อความหมาย สาขากิจกรรมบำบัด สาขาเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก สาขารังสีเทคนิก สาขาจิตวิทยาคลินิก สาขากายอุปกรณ์ สาขาการแพทย์แผนจีน ทัศนมาตรศาสตร์ และศาสตร์ไคโรแพรคติก
ธุรกิจโรงพยาบาลเป็นธุรกิจที่ประเทศสมาชิกให้ความสำคัญโดยจัดเป็น 1 ใน 4 สาขาบริการที่เร่งรัดการรวมกลุ่ม เป็นธุรกิจ ที่ไทยได้เปรียบเรื่องของชื่อเสียงในระดับสากลและความสามารถ ในการทำกำไร จากการรวมตัว AEC ประกอบด้วยบริการโรงพยาบาล บริการสถานพักฟื้นนอกเหนือจากโรงพยาบาล (เฉพาะค้างคืน) และบริการถ่ายภาพรังสีที่ไม่มีการวิเคราะห์หรืออ่านผล ได้แก่ เอ็กซเรย์ อัลตราซาวด์ และ MRI เปิดให้อาเซียนถือหุ้นไม่เกิน 70% และต้อง JV กับนิติบุคคลไทย บริการด้านการแพทย์และทันตกรรม: บริการด้านการแพทย์ทั่วไป และด้านแพทย์เฉพาะทาง บริการแพทย์เฉพาะทางในโรงพยาบาลเอกชน: บริการให้คำปรึกษาด้านกุมารเวช สูตินารีเวช ประสาทวิทยา และจิตวิทยา บริการให้คำปรึกษา ด้านการผ่าตัด บริการวิเคราะห์และแปลผลภาพถ่ายทางการแพทย์ เปิดให้อาเซียนถือหุ้นไม่เกิน 70% และต้อง JV กับนิติบุคคลไทย บริการด้านพยาบาล เปิดให้อาเซียนถือหุ้นไม่เกิน 49% และต้องจัดตั้งเป็นแผนกพยาบาลในโรงพยาบาลเท่านั้น มีเงื่อนไขด้านท้องที่และประเภทของบริการ ผู้ขออนุญาตต้องมีถิ่นพำนักในไทย และบุคคลหนึ่งได้รับอนุญาตให้เปิดได้ไม่เกิน 1 แห่ง ผู้รับผิดชอบดำเนินการแผนกพยาบาลจะมีใบอนุญาตดำเนินการได้ไม่เกิน 1 แห่ง และต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพในไทย บริการด้านกายภาพบำบัดและบริการโดยบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลเฉพาะแผนกพยาบาล เปิดให้อาเซียนถือหุ้นไม่เกิน 70% และต้องจัดตั้งเป็นแผนก
กรม สบส. โดยกองสุขภาพภาคประชาชน การพัฒนาคุณภาพชีวิตและการคุ้มครองทางสังคม เพื่อให้ประชาชนมีอาชีพ ได้รับการคุ้มครอง ประกันความเสี่ยง และมีสภาพแวดล้อมที่มั่นคงปลอดภัย พัฒนาความร่วมมือด้านการสาธารณสุขมูลฐานทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ผลักดันนโยบาย/ข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ต่อระบบสุขภาพชุมชนสู่การปฏิบัติ ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการและนวัตกรรมการสาธารณสุขมูลฐานระหว่างชุมชนต่อชุมชน (Technical Collaboration Developing Community: TCDC) ที่เชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้และอาเซียน พัฒนาช่องทาง การสื่อสารสาธารณะและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ พัฒนาศักยภาพชุมชน/ท้องถิ่นให้มี การจัดการระบบสุขภาพชุมชนที่เข้มแข็ง พัฒนาระบบสุขภาพ คนต่างด้าว ผ่านกลไก อาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) ดำเนินการคัดเลือกอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) ในกลุ่มประเทศที่อยู่ชายแดน เช่น พม่า เขมร เป็นต้น มาอบรมหลักสูตรอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ของไทย ให้สามารถกลับไปดูแลคนต่างด้าวของประเทศตนเองได้ มีการวางแผนจัดทำคู่มือปฏิบัติงานให้รองรับ อสต.โดยอ้างอิงคู่มือปฎิบัติงาน/หลักสูตร อสม.ไทย เพราะประเทศไทยได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่าเป็นต้นกำเนิดงาน Primary Health Care (ข้อมูลอ้างอิงจาก WHO/SEARO) และ จะดำเนินการขึ้นทะเบียนให้เป็น อสต.เมื่อผ่านหลักสูตรตามที่ประเทศไทยกำหนด และพนักงานสาธารณสุขต่างด้าว (พสต.)
สำนักกฎหมาย กองสนับสนุนบริการสุขภาพอาเซียน สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ สำนักงานส่งเสริมธุรกิจบริการสุขภาพ พัฒนากฎหมาย กฎและระเบียบ เพื่ออำนวยความสะดวกการค้า การลงทุน และสอดรับกับพันธกรณี และ ข้อตกลงอาเซียน รวมถึงการคุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการสุขภาพ กองสุขศึกษา กองวิศวกรรมการแพทย์ กองแบบแผน การพัฒนามาตรฐานของสถานบริการสุขภาพ สู่มาตรฐานร่วมอาเซียน
กรม สบส. สนับสนุนนโยบายการเพิ่มศักยภาพของเมืองเพื่อเชื่อมโยงโอกาสของอาเซียนพัฒนาโรงพยาบาลในจังหวัดชายแดน เชื่อมโยงโอกาสเป็นเมืองศูนย์กลางสุขภาพอาเซียน นำร่องที่จังหวัดสุรินทร์ พร้อมพัฒนา 50 โรงพยาบาลชายแดน ภายใต้มาตรฐานกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ รองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน สร้างเครือข่ายเชื่อมโยงกับธุรกิจ ท่องเที่ยว เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในเมืองท่องเที่ยว ประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมตลาดกลุ่มเป้าหมาย ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เมืองชายแดนเพื่อการค้าการลงทุน ส่งเสริมการลงทุนธุรกิจบริการที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น และมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่นธุรกิจสปา long stay การดูแลผู้สูงอายุ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และอาหารเสริม ธุรกิจเสริมความงาม และการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเป็นต้น
ที่มา --มติชน ฉบับวันที่ 9 ก.ย. 2556 (กรอบบ่าย)--
- 15 views