เมื่อวันที่ 6 ก.ย. ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากกรณีที่รัฐบาลปรับเพิ่มเปลี่ยนวิธีคำนวณภาษีสรรพสามิตสุราทั้งระบบนั้น ภาพรวมจากการปรับภาษีพบว่า ข้อดีคือ 1.ทำให้ราคาของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นร้อยละ 7-15 ซึ่งจะทำให้ปริมาณการดื่มโดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนลดลงอย่างชัดเจน 2.จากการเก็บตามดีกรีแอลกอฮอล์ในระยะยาวจะสอดคล้องกับสากล ที่สินค้าที่มีผลกระทบต่อสุขภาพเยอะต้องมีราคาแพงขึ้น และดีต่อสุขภาพของประชาชนโดยรวม 3.การเก็บภาษีโดยคำนวณจากราคาขายส่งสุดท้าย จะป้องกันการสำแดงต้นทุนต่ำกว่าความเป็นจริง จะทำให้เกิดการเลี่ยงภาษีต่ำลง 4.การปรับลดประเภทของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้เกิดความเป็นธรรมในการคำนวณภาษีมากขึ้น และ 5.การปรับเพิ่มเพดานภาษี จะเป็นผลดีต่อการใช้มาตรการภาษีในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ทพ.กฤษดา กล่าวว่า จากการปรับโครงสร้างภาษีในส่วนของ สุราขาว ถือว่ายังมีการปรับน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทอื่น ซึ่งอาจทำให้เกิดการย้ายฐานการบริโภคและทำให้เกิดผลกระทบได้เพราะสุราขาวส่วนใหญ่มีดีกรีสูง ในการพิจารณาภาษีในครั้งต่อไปจำเป็นต้องลดช่องว่างของภาษีในส่วนดังกล่าว สำหรับการเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้นทำให้ภาครัฐได้ภาษีเพิ่มขึ้นประมาณหมื่นล้านบาท และ สสส.จะได้รับงบประมาณจากเก็บภาษีบาป ร้อยละ 2 ทำให้ได้รับงบฯ เพิ่มประมาณ 200 ล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการกองทุน สสส.จะมีการพิจารณาแนวทางการบริหารงบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด เบื้องต้นจะเน้นการสร้างเสริมสุขภาพผู้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งผู้ที่ประสบอุบัติเหตุ ผู้หญิง และเด็ก
"ที่ผ่านมา สสส.มีกรอบการทำงานที่ชัดเจนและมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวด ในการใช้จ่ายเงินกองทุน โดยมีการตรวจสอบจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ก่อนส่งรายงานเข้าคณะรัฐมนตรี และรัฐสภาต่อไป การให้ทุนมีขั้นตอนตรวจสอบชัดเจน กว่าร้อยละ 90 เป็นงานเชิงรุก ส่วนงานเชิงรับมีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น ในปี 2555 มีผู้ขอทุนรายใหม่ร้อยละ 80 ส่วนการรณรงค์ผ่านสื่อร้อยละ 7 งบของ สสส.คิดเป็นร้อยละ 0.8 ของงบฯด้านสุขภาพของประเทศ คิดเป็นร้อยละ 1 ของงบค่าใช้จ่ายสุขภาพภาครัฐ คิดเป็นร้อยละ 4.5 ของงบกระทรวงสาธารณสุข และคิดเป็นร้อยละ 3.7 เมื่อเทียบกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเท่านั้น" ทพ.กฤษดา กล่าว
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ รองผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า ปัจจุบันอัตราการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของคนไทย กลุ่มใหญ่จะเป็นการดื่มสุราขาวประมาณ ร้อยละ 30 และเบียร์อยู่ในอัตราใกล้เคียงกัน ซึ่งในส่วนของเหล้าขาวนั้น พบว่าไม่มีการขยับเพดานภาษีมาเป็นเวลานาน แม้ขณะนี้จะมีการคิดฐานภาษีแบบใหม่ ก็ยังทำให้ราคาปรับขึ้นกว่าเดิมไม่มากนัก จึงจำเป็นต้องปรับในส่วนดังกล่าว เพื่อชดเชยความต่างของภาษีที่ผ่านมา ซึ่งควรปรับประมาณ ร้อยละ 10 อย่างไรก็ตาม อัตราการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนและหลังมี สสส. รวมทั้งการใช้มาตรการต่างๆ เช่น แคมเปญงดเหล้าเข้าพรรษา รับน้องปลอดเหล้า หรือ การมี พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เห็นได้ชัดเจนว่า อัตราการบริโภคของประชาชนและการใช้จ่ายในภาคครัวเรือนเพื่อการดื่มนั้นลดลง รวมทั้งอัตราการดื่มหนักก็ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง วันที่ 7 กันยายน 2556
- 3 views