ห่วงคนไทยพบตัวเลขฆ่าตัวตาย พุ่ง เฉลี่ย 2 ชม.ต่อ 1 คน เหตุเจอภาวะปัญหาเศรษฐกิจ สังคม การเมืองรุมเร้า ชี้เหนือฆ่าตัวสูงสุด น่านอันดับ 1 ส่วนภาคอีสานขอนแก่นมากสุด
ปัญหาการฆ่าตัวตายของคนไทยเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายกำลังให้ความสนใจอย่างมาก เพราะจากการสำรวจข้อมูลสถิติ พบว่า คนไทยมีแนวโน้มฆ่าตัวตายสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อวันที่ 6 กันยายน นพ.อภิชัย มงคล ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขต 7 กล่าวว่า นับเป็นปีที่ 10 ที่กระทรวงสาธารณสุขรณรงค์เพื่อให้คนไทยตระหนักถึงปัญหาการฆ่าตัวตายว่าสามารถป้องกันได้ โดยที่ผ่านมาองค์การอนามัยโลกประมาณการไว้ว่า ในแต่ละปีจะมีคน 1 ล้านคนเสียชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย นอกจากนี้ยังคาดการณ์ไว้ว่า ในปี ค.ศ.2020 หรือ ปี พ.ศ.2563 จะมีคนเสียชีวิตด้วยปัญหาดังกล่าว 1.53 ล้านคน และที่ผ่านมาสมาคมป้องกันการฆ่าตัวตายของอเมริกาประมาณอัตราส่วนของผู้ที่พยายามทำร้ายตัวเองแต่ไม่สำเร็จมีสูงกว่าผู้ที่ทำสำเร็จถึง 25 เท่าตัว ซึ่งปัญหานี้ยังส่งผลกระทบถึงครอบครัวและผู้คนรอบข้างอีกประมาณ 5-10 ล้านคนในแต่ละปี
นพ.อภิชัย กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตดำเนินการโครงการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตายตั้งแต่ปี 2544 ทำให้อัตราการฆ่าตัวตายลดลงตามลำดับ จากอัตราการฆ่าตัวตาย 8.59 ในปี 2542 ลดลงถึง 5.7 ในปี 2549 แต่สำหรับปี 2555 ผลกระทบจากภาวการณ์เปลี่ยนแปลงด้านสังคม เศรษฐกิจ และการมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันทางการเมือง ส่งผลให้อัตราการฆ่าตัวตายสูงขึ้นเป็น 6.20 ต่อประชากรแสนคน แสดงให้เห็นว่า ในปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จมากถึง 3,985 คน คิดเฉลี่ยในแต่ละเดือน จะมีการฆ่าตัวตายเกิดขึ้นเดือนละ 332 คน
ทั้งนี้ หากคำนวณเป็นรายวัน แสดงว่า ในแต่ละวัน ทั่วประเทศจะมีคนฆ่าตัวตายวันละ 10-12 คน หรือทุกๆ สองชั่วโมง มีคนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน วัยแรงงานยังคงเป็นช่วงอายุที่มีคนฆ่าตัวตายสูงสุด ในช่วง 30-34 ปี รองลงมาคือ 35-39 ปี และ 25-29 ปี ตามลำดับ และที่น่าตกใจคือ กลุ่มอายุ 70 ปี ขึ้นไปมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าตัวชี้วัดที่ประเทศกำหนด คืออยู่ระหว่าง 10.11-11.07 ต่อประชากรแสนคน
ส่วนอาชีพกลุ่มผู้ใช้แรงาน เป็นกลุ่มที่มีจำนวนของผู้ที่ฆ่าตัวตายมากกว่ากลุ่มอื่นๆ และมีการขยับจำนวนเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับปี 2554 ถึงร้อยละ 3.4 โดยภาคเหนือเป็นภูมิภาคที่มีอุบัติการณ์ของการฆ่าตัวตายมากกว่าภาคอื่นๆ จังหวัดที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุดของประเทศคือ จ.น่าน รองลงมาคือ เชียงราย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ สิงห์บุรี ตราด ลำพูน พะเยา และอุทัยธานี
"ขณะที่ภาคอีสาน จากการดำเนินการให้บริการด้านสุขภาพจิต และจิตเวชในเครือข่ายร้อยแก่นสารสินธุ์ พบว่า อัตราการฆ่าตัวตายในภาพรวมของเขตภาคอีสาน ในปี 2555 เพิ่มสูงขึ้นเป็น 4.20 ต่อประชากรแสนคน จากปี พ.ศ.2554 (เท่ากับ 3.97 ต่อประชากรแสนคน) โดยจังหวัดที่มีประชากรฆ่าตัวตายในจังหวัดมากเป็นอันดับแรกของเครือข่ายคือ จ.ขอนแก่น อัตรา 4.46 ต่อประชากรแสนคน ถึงแม้ว่าสถิติดังกล่าวไม่เกินกว่าค่าเป้าหมายที่กำหนด (อัตราค่าเป้าหมายคือ 6.5 ต่อแสนประชากร) แต่การฆ่าตัวตาย ยังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญที่ทั่วโลกต่างให้ความสนใจ เพราะการฆ่าตัวตายแต่ละครั้ง เกิดผลกระทบและสร้างความสูญเสียอย่างต่อเนื่องและขยายวงกว้างไปถึงครอบครัว ชุมชน และสังคม" นพ.อภิชัย กล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 7 สิงหาคม 2556
- 55 views