สาธารณสุขไทยในอดีต ในยุคสมัยที่โรคมาเลเรียระบาดหนัก การรักษาต้องอาศัยเพิงที่พักสำหรับการให้น้ำเกลือ
ในฐานะคนทำงานหอจดหมายเหตุและพิพิธภันฑ์สุขภาพไทย จึงได้มีโอกาสค้นคว้าเส้นทางประวัติศาสตร์สุขภาพของประเทศไทย และการเกิด “โรคระบาด” ในอดีตเป็นอีกเรื่องหนึ่งในเส้นทางประวัติศาสตร์สุขภาพที่ นายนภนาท อนุพงศ์พัฒน์ ผู้จัดการหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์สุขภาพไทย ได้ทำการศึกษาเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบัน รวมถึงการวิวัฒนาการงานด้านการป้องกันและควบคุมโรค
“โรคระบาด” หรือที่คนสมัยก่อนเรียกว่า “โรคห่า” นั้น นภนาท เล่าว่า ในอดีตเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก ถือเป็นเหตุการณ์อัปมงคล เพราะการเกิดโรคห่าขึ้นแต่ละครั้งจะมีความรุนแรงมาก เนื่องด้วยมีผู้คนเจ็บป่วยล้มตายจำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว บางครั้งเป็นจำนวนนับหมื่นคน จนกระทั่งมีคำที่เรียกเหตุการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้นนี้ว่า “ห่าลง” โดยโรคห่าที่เกิดขึ้นในอดีตไม่ชัดเจนว่าเป็นโรคอะไร แม้ว่าภายหลังจะเชื่อว่าเป็นโรคอหิวาตโรคก็ตาม แต่ตามพระราชบัญญัติสำหรับโรคระบาด พ.ศ. 2456 ระบุไว้ 3 โรค คือ กาฬโรค อหิวาตกโรค และไข้ทรพิษ
นภนาท เล่าต่อว่า หากย้อยดูประวัติศาสตร์การเกิดโรคระบาดในประเทศไทย ตามหลักฐาน “จามเทวีวงศ์” ซึ่งเป็นพงศาวดารของเมืองลำพูน หรือเมืองหริภุญไชย ประมาณในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 11 ระบุไว้ว่า ได้เกิดเหตุการณ์โรคระบาดที่มีคนตายเป็นจำนวนมาก แต่ไม่ได้บอกว่าเป็นโรคอะไร เพียงแต่ระบุว่าหากบ้านไหนชุมชนใดเป็นโรคนี้ จะทยอยตายกันหมด รวมถึงถ้าใครไปจับต้องข้าวของคนในบ้านก็จะล้มตายไปด้วย (จากข้อมูลนี้ชี้ว่าไม่น่าใช่อหิวาตกโรคเพราะเป็นโรคติดต่อแค่เพียงสัมผัส) ซึ่งวิธีการควบคุมโรคในสมัยนั้นคือ จะปล่อยทิ้งคนป่วยไว้และที่เหลือจะพากันหนีไปกันหมด จนกลายเป็นบ้านร้างเมืองร้าง และเมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 6 ปี ค่อยกลับมาอาศัยใหม่
“การทิ้งบ้านทิ้งเมืองเมื่อเกิดโรคระบาดร้ายแรงขึ้นเป็นเรื่องสุดวิสัย เนื่องจากสมัยนั้นยังไม่มีวิธีป้องกันและควบคุมโรค การย้ายออกจึงเป็นวิธีการที่ดีที่สุด ซึ่งตามทฤษฎีสมัยใหม่ระบุว่า โรคระบาดจริงๆ ไม่ต้องทำอะไรก็ได้ เพราะในที่สุดการแพร่ระบาดจะหมดไปเป็น เป็นไปตามวงจรของเชื้อ อีกทั้งจะมีร่างกายและสภาพแวดล้อมจะมีการสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา การย้ายบ้านหรือย้ายเมืองจึงเป็นวิธีที่ดีในขณะนั้น” ผู้ติดตามเส้นทางประวัติศาสตร์สุขภาพไทย กล่าวและว่า แม้แต่การเริ่มตั้งกรุงศรีอยุธยาในสมัยของพระเจ้าอู่ทอง มีสาเหตุมาจากการย้ายเมืองเพื่อหนีโรคระบาดเช่นกัน โดยตามข้อมูลซึ่งระบุโดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เชื่อว่าตามหลักฐานน่าจะเป็นโรคไข้ทรพิษ
ทั้งนี้จากการสืบค้นต่อมา แม้ว่าจะมีการย้ายเมืองมายังกรุงศรีอยุธยาแล้ว การระบาดของโรคห่ายังเกิดขึ้นหลายครั้ง โดยการระบาดครั้งใหญ่เกิดขึ้นสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 แห่งกรุงศรีอยุธยา เชื่อว่าน่าจะเป็นไข้ทรพิษอีกเช่นกัน มีคนตายเป็นจำนวนมาก เพียงแต่ขณะนั้นไม่ได้มีการย้ายเมืองหนีอย่างที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่าเริ่มมีการวางระบบจัดการเพื่อควบคุมโรคระบาด จำกัดขอบเขตเฉพาะพื้นที่ ซึ่งพบได้จากหลักฐานที่มีการขุดพบหลุมฝังศพขนาดใหญ่ในชุมชนโปรตุกีส พบซากมนุษย์จำนวนมาก คาดว่าในตอนนั้นมีผู้เสียชีวิตจากโรคระบาดนับหมื่นๆ คน ทำให้ไม่สามารถเผาศพได้ ต้องจัดการด้วยการฝั่งกลบพร้อมกัน และจากการขุดพบซากกระดูกยังพบร่องรอยโรคที่ชี้ว่าน่าจะเป็นไข้ทรพิษ
ในสมัยอยุธยาโรคระบาดครั้งใหญ่เกิดขึ้นหลายครั้ง โดยพบว่ามีการแพร่ระบาดทั้งในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 12 แห่งกรุงศรีอยุธยา หรือสมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร ซึ่งทรงสวรรคตจากการติดเชื้อไข้ทรพิษ นอกจากนี้สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ยังทรงเคยได้รับเชื้อไข้ทรพิษจากการแพร่ระบาดเมื่อยังหนุ่มอยู่เช่นกัน แต่เนื่องจากร่างกายยังหนุ่มและแข็งแรงทำให้รอดจากโรคมาได้ นอกจากนี้ยังมีการแพร่ระบาดในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระมหากษัตริย์องค์ที่ 27 แห่งกรุงศรีอยุธยาเช่นกัน โดยในช่วงนี้มีการพบบันทึกของบาทหลวงชาวฝรั่งเศสว่าได้เริ่มเข้ามารักษาโรคในประเทศไทย แต่ความรู้ทางการแพทย์ขณะนั้นยังไม่ต่างกันมาก มีการใช้วิธีปลุกเสกและน้ำมนต์เช่นกัน
อย่างไรก็ตามการระบาดครั้งใหญ่ที่สุดในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น เกิดขึ้นสมัยของสมเด็จพระเพทราชา หรือ สมเด็จพระมหาบุรุษวิสุทธิเดชอุดม พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 28 กรุงศรีอยุธยา ว่ากันว่ามีคนเสียชีวิตไปถึง 8 หมื่นคน ส่งผลต่อรัฐในขณะนั้น เพราะในสมัยนั้นทุกอย่างต้องอาศัยกำลังคน
เมื่อเข้าสู่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ยังคงมีโรคห่าระบาดอีกหลายครั้ง ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีผู้เสียชีวิตถึง 3 หมื่นคน ภายในเวลา 15 วัน มีหลักฐานชี้ชัดว่า โรคห่าที่เกิดขึ้นั้นเป็นอหิวาตกโรค เนื่องจากผู้ป่วยก่อนเสียชีวิตจะมีอาการท้องร่วงอย่างรุนแรง มีภาวะขาดน้ำ ทั้งนี้คาดว่าโรคที่เกิดขึ้นติดต่อมาจากทางเกาะปีนัง เข้ามาทางปากน้ำ และระบาดต่อมายังกรุงรัตนโกสินทร์ ตอนนั้นมีการใช้แม่น้ำลำคลองเป็นหลัก ทั้งกินทั้งถ่าย ไม่มีระบบปะปาหรือการจัดสุขาภิบาล ทำให้เกิดการแพร่ระบาดที่รวดเร็ว
นายนภนาท กล่าวว่า ในการจัดการโรคระบาดนั้น ทางราชสำนักเองไม่รู้จะทำอย่างไร จึงมีการทำพระราชพิธีอาพาธพินาศ ด้วยการนำพระมาแห่รอบเมือง พร้อมทั้งสวดมนต์ ทั้งยังยิงปืนใหญ่เพื่อเป็นการขับไล่เสนียดจัญไร นอกจากนี้ยังขอให้ชาวบ้านช่วยกันถือศีล ปล่อยนก ปล่อยปลา แต่ก็ไม่ได้ช่วยอะไรให้ดีขึ้น ซ้ำในระหว่างการทำพิธีพระสงฆ์เองยังมรณภาพจากอาการป่วย ทำให้ต่อมาจึงมีการยกเลิกการประกอบพระราชพิธีนี้ แม้ว่าจะมีการแพร่ระบาดของโรคในเวลาต่อมา
ต่อมาในสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือรัชกาลที่ 3 ยังคงมีการระบาดอยู่ มีการระบุว่า ภายในเดือนเดียวมีผู้เสียชีวิต 1,500-20,000 คน แต่ช่วงเวลาดังกล่าวเริ่มมีมิชันนารีเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งมีหมอร่วมเดินทางมาด้วย ได้นำแนวทางการรักษาแบบแผนตะวันตกเข้ามารักษา แต่ด้วยการแพทย์ตะวันตกนั้นยังไม่ได้เจริญมาก ยังเป็นทฤษฎีไอพิษ การรักษาจึงไม่ต่างกันมาก และต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่เพียงแต่มีการนำสูตรยาวิสัมพญาใหญ่และยาน้ำการบูรหยอดรักษาผู้ป่วย ทำให้การแพร่ระบาดลงลง เป็นช่วงขณะเดียวกันที่นายโรเบิร์ต น็อกซ์ ได้ค้นพบสาเหตุการเกิดอหิวาตกโรคว่ามาจาก สัตวตัวเล็กๆ ที่อยู่ในน้ำ ที่เป็นต้นต่อของอาการป่วย เป็นจุดเริ่มต้นของทฤษฎีเชื้อโรค ทำให้มีการระมัดระวังดูแลความสะอาดของน้ำกินน้ำใช้กันมากขึ้น เป็นจุดเริ่มของการจัดการด้านอนามัยและสิ่งแวดล้อม ทั้งเรื่องการจัดระบบน้ำ การจัดสุขาภิบาล โดยในอดีตประชาชนถ่ายของเสียลงสู่แหล่งน้ำ ลงพื้นดิน ทำให้ง่ายต่อการแพร่กระจายโรคไปยังคนอื่น และเกิดการระบาด โดยให้มีการทำส้วมหลุม มีการจัดตั้งบริษัทจัดเก็บถังส้วม ด้วยเหตุนี้ทำให้โรคติดต่อที่เคยแพร่ระบาดในอดีตอยู่ในขอบเขตที่ควบคุมได้
นอกจากอหิวาตกโรคแล้ว กาฬโรคเป็นอีกโรคหนึ่งที่มีการแพร่ระบาดซึ่งเป็นไปตามเมืองที่มีการขยายตัว แต่ขาดการจัดการที่ดีจนกลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อ โดยโรคนี้มีหนูเป็นพาหะซึ่งติดมากับเรือสินค้าระหว่างประเทศ ดังนั้น นพ.เอช. แคมเบล ไฮเอต จึงได้เสนอให้รัฐบาลทำมาตรการกักกันโรค โดยกักเรือสินค้าที่จะเข้ามาประเทศ นอกจากนี้ยังเสนอให้มีการตั้งศาลาจักรสถาน ห้องแลบตรวจพิสูจน์โรค หรือที่เรียกว่าโรงทดลองความสุขของราษฎร์ โดยมีการสั่งซื้อกล้องจุลทัศน์เพื่อมาใช้ตรวจวิเคราะห์โรค
นายนภนาท กล่าวต่อว่า ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือรัชกาลที่ 6 ได้เกิดมีโรคครั้งร้ายแรงขึ้นอีก โดยครั้งนี้เป็นการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์สแปนิชฟูล มีผู้เสียชีวิตทั่วโลก 20-40 ล้านคน ซึ่งประเทศไทยก็มีผู้เสียชีวิตเช่นกัน แต่เนื่องจากระบบการเก็บข้อมูลทางระบาดยังไม่มีในขณะนั้น ทำให้ไม่มีการรายงานตัวเลขผู้ป่วยและเสียชีวิตที่ชัดเจน และหลังจากนั้นรัฐบาลจึงได้ออกพระราชบัญญัติสำหรับโรคระบาด พ.ศ. 2456 ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลเริ่มใส่ใจต่อการป้องกันและควบคุมโรคระบาด
“การเกิดโรคระบาดในอดีตแต่ละครั้งจะมีความรุนแรง มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก เนื่องจากความรู้และเทศโนโลยีการแพทย์เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงหลัง ไม่ใช่แต่เฉพาะประเทศไทย แต่ในแถบประเทศตะวันตกก็เช่นกัน ทั้งทฤษฎีเชื้อโรค การปลูกฝีเพื่อป้องกันไข้ทรพิษ ที่เราเริ่มรู้จักในสมัยรัชการที่ 5 ในช่วงที่หมอบรัดเลย์นำเข้ามาเผยแพร่ รวมถึงยาสลบที่เริ่มเข้ามาใช้ในประเทศไทยหลังจากที่มีการค้นพบไม่ถึง 10 ปี ทำให้การแพทย์สมัยใหม่เป็ฯที่ยอมรับมากขึ้น”
จากที่ได้ทำการศึกษาค้นคว้าการเกิดโรคระบาด ทำให้เห็นว่าในการป้องกันและควบคุมโรคในอดีต สิ่งสำคัญคือวิสัยทัศน์ของชนชั้นนำในระดับปกครองหรือผู้มีอำนาจบริหารประเทศ ในการยอมรับความรู้ใหม่ๆ เพื่อใช้ในการเปลี่ยนแปลงและกำหนดนโยบาย หรือวางมาตรการสำคัญในการป้องกันและควบคุมโรค แต่ต่อมาหลังปี 2500 ได้มีการเปลี่ยนแปลงทำนโยบายสาธารณสุขมูลฐาน เนื่องจากสถานพยาบาลมีน้อย โรงพยาบาลใหญ่ๆ มีแต่เฉพาะในกรุงเทพเท่านั้น ส่งผลต่อเข้าถึงการรักษา จึงต้องเน้นให้ชาวบ้านดูแลสุขภาพและสุขอนามัยขั้นพื้นฐานของตนเองเพื่อป้องกันโรค แม้ว่าภายหลังการดำเนินงานด้านสาธารณสุขมูลฐานเริ่มลดลงเช่นกัน เนื่องจากการพัฒนาเมืองที่มีการจัดระบบปะปา ระบบสุขาภิบาล ทำให้โรคที่เคยระบาดในอดีตลดลง แต่สาธารณสุขมูลฐานยังถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในการป้องกันโรค แม้จะเป็นโรคติดต่อไม่เรื้อรัง อย่าง โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ที่มีสาเหตุจากพฤติกรรมการบริโภค จะช่วยลดการแพร่ระบาดของโรคได้
ขอบคุณภาพจาก เวบไซต์หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์สุขภาพไทย http://www.nham.or.th
- 11408 views