อย. เดินหน้า รุกฉลากโภชนาการจีดีเอ เป็นเจ้าภาพจัดประชุม “ฉลากโภชนาการจีดีเอเพื่อประโยชน์ผู้บริโภค” (The Consumer Friendly GDA Nutrition Labeling) สนองนโยบายกระทรวงสาธารณสุข “สุขภาพดีเริ่มต้นที่นี่” (Good Health Starts Here)เพื่อขับเคลื่อนการแสดงฉลากโภชนาการในรูปแบบจีดีเอ หรือฉลากหวานมัน เค็ม เป็นแนวทางเดียวกันในแถบภูมิภาคอาเซียน เพื่อรองรับการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (TheASEAN Economic Community : AEC) ภายในปี 2558 หวังยกระดับการส่งเสริมภาวะโภชนาการให้ประชาชนมีสุขภาพดี เลือกบริโภคอาหารได้อย่างเหมาะสมกับสุขภาพ ย้ำชัด ฉลากจีดีเอไม่ทำให้สับสน อ่านเข้าใจง่าย
วันนี้ (4 กันยายน 2556) นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “ฉลากโภชนาการจีดีเอเพื่อประโยชน์ผู้บริโภค” ณ โรงแรมฮิลตัน พัทยามีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน60 คน จากหน่วยงานด้านโภชนาการในกลุ่มประเทศอาเซียน ได้แก่ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ พร้อมด้วยผู้แทนผู้ประกอบการด้านอาหารจากสภาอุตสาหกรรม
โดยเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ตระหนักถึงปัญหาภาวะโภชนาการเกินและโรคไม่ติดต่อที่เกิดขึ้นในประเทศไทย จึงได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้แสดงข้อมูลโภชนาการในรูปแบบฉลากจีดีเอ (Guideline Daily Amounts : GDA) เพื่อนำไปสู่การ ลด หวาน มันเค็ม จากการบริโภคอาหาร โดยกำหนดให้แสดงค่าพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม เป็นค่าร้อยละ (%) ปริมาณสูงสุดที่ควรได้รับในแต่ละวันบนด้านหน้าฉลากกับอาหารขบเคี้ยว 5 ชนิด ได้แก่ มันฝรั่งทอดหรืออบกรอบ ข้าวโพดคั่วทอดหรืออบกรอบ ข้าวเกรียบหรืออาหารขบเคี้ยวชนิดอบพอง ขนมปังกรอบหรือแครกเกอร์หรือบิสกิต และ เวเฟอร์สอดไส้ และอยู่ระหว่างขยายให้ครอบคลุมอาหารอื่น ได้แก่ ช็อกโกแลต ขนมอบ อาหารกึ่งสำเร็จรูปอาหารมื้อหลักแช่แข็ง และอาหารขบเคี้ยวอื่น ทำให้ผู้บริโภคเห็นได้ชัดเจนและเข้าใจได้ง่าย ซึ่งเป็นการพัฒนาต่อยอดจากการแสดงฉลากโภชนาการจากรูปแบบปัจจุบัน เพื่อให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่เหมาะสมต่อสุขภาพ
อย. ได้เล็งเห็นโอกาสในการยกระดับการส่งเสริมภาวะโภชนาการแก่ประชาชนในวงกว้างมากขึ้น จึงได้มีการจัดประชุมระดับอาเซียน เพื่อให้กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และแบ่งปันประสบการณ์การจัดทำฉลากโภชนาการจีดีเอ พร้อมกับสร้างความเข้าใจ และพัฒนาแนวทางการออกกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประชาชนเข้าใจได้ง่าย ไม่สับสน สามารถเปรียบเทียบคุณค่าทางโภชนาการของผลิตภัณฑ์เดียวกันได้ทันที จึงเป็นเครื่องมือในการตัดสินใจเลือกบริโภคอาหารที่เหมาะสมได้
ดร.ทิพย์วรรณ ปริญญาศิริ ผู้อำนวยการสำนักอาหาร อย. กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทย โดยความเห็นชอบร่วมกันของภาครัฐและเอกชน มีการศึกษาและทำงานร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้มีความคืบหน้าในการจัดทำฉลากโภชนาการจีดีเอไปมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ การประชุมครั้งนี้นับเป็นโอกาสอันดีที่ผู้เกี่ยวข้องด้านโภชนาการทั้งผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐในประเทศต่างๆ ผู้ประกอบการ และผู้เชี่ยวชาญได้มาประชุมรับฟังข้อคิดเห็นและสถานการณ์ของแต่ละประเทศที่มีข้อจำกัดแตกต่างกัน ทำให้แต่ละประเทศสามารถนำข้อดีต่าง ๆที่ได้จากการประชุมไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับประเทศของตนต่อไป
นายบาวเค่อ ราวเออร์ส ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท ยูนิลีเวอร์ ในประเทศไทยและอินโดจีนในฐานะผู้ประกอบการและผู้สนับสนุนการประชุม กล่าวต่อไปว่า ยูนิลีเวอร์ ในฐานะผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารระดับโลก ที่อยู่คู่สังคมไทยมาเป็นระยะเวลากว่า 81 ปี มีความยินดีที่ได้ร่วมสนับสนุนการจัดประชุมครั้งนี้เนื่องจาก การส่งเสริมโภชนาการเป็นหนึ่งในแผนการส่งเสริมการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืนของยูนิลีเวอร์ ที่มุ่งมั่นให้ผู้บริโภคทั่วโลกมีภาวะโภชนาการที่ดี ซึ่งการแสดงฉลากโภชนาการในรูปแบบจีดีเอ เป็นแนวทางที่ยูนิลีเวอร์ทั่วโลกให้การสนับสนุน และเชื่อมั่นว่าเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ผู้บริโภคได้รับทราบข้อมูลโภชนาการของผลิตภัณฑ์ยูนิลีเวอร์ยินดีสนับสนุนการดำเนินงานของ อย. ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค
นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการฯ อย. กล่าวเพิ่มในตอนท้ายว่า การประชุมครั้งนี้เป็นนิมิตหมายที่ดีในการทำงานร่วมกันในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ก่อให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เพื่อสร้างความเข้าใจด้านโภชนาการแก่ผู้บริโภค เพื่อยกระดับการส่งเสริมภาวะโภชนาการที่ดีของประชาชนในภูมิภาคอาเซียน ที่สำคัญ ทำให้เกิดการร่วมมือกันอันนำไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียนที่เข้มแข็งโดย อย. จะคงเดินหน้าประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับการแสดงฉลากโภชนาการแบบจีดีเอ (ฉลากหวาน มัน เค็ม)แก่ผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องต่อไป
- 17 views