Hfocus—ดูเหมือนว่า ในยุคของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.ประดิษฐ์ สินธวณรงค์ จะมีการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณสุขชายแดนได้อย่างเข้มข้นกว่าสมัยอื่นๆ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการสนับสนุนจากรัฐบาล ที่เล็งเห็นการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปีพ.ศ. 2558 เป็นเรื่องเร่งด่วน  

มีการทำนโยบายนำร่องสี่โรงพยาบาลชายแดนไทย-กัมพูชา (สุรินทร์ บุรีรัมย์ อุบลราชธานี และศรีสะเกษ) เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน โดยกำหนดให้โรงพยาบาลทุกระดับต้องผ่าน 4 เกณฑ์มาตรฐานที่จำเป็น ได้แก่ ความปลอดภัย ประสิทธิภาพ มาตรฐานเครื่องมือแพทย์ มีระบบการให้ความรู้ประชาชนป้องกันการเจ็บป่วย และมาตรฐานด้านการรักษาพยาบาล ขณะนี้ไทยผ่านเกณฑ์แล้ว 152 แห่ง

และยังมีนโยบายที่น่าสนใจอีกหลายตัว เช่น นโยบายการขึ้นราคาบัตรประกันสุขภาพต่างด้าวเพื่อครอบคลุมการรักษาผู้ติดเชื่อเอชไอวีและเอดส์ และที่ดูเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด คือการที่นพ.ประดิษฐ์ ประกาศว่ารัฐบาลไทยจะชักจูงให้ประเทศเพื่อนบ้านทำระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า นำโดยมติสมัชชาองค์การอนามัยโลกเมื่อปลายปีที่แล้ว ซึ่งเห็นว่าควรมีการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศต่างๆทั่วโลก

ทั้งหมดนี้ ถือว่าเป็นนโยบายที่มองไปข้างหน้าได้อย่างน่าชื่นชม แต่อย่างไรก็ตาม นโยบายสาธารณสุขชายแดนในอดีตยังคงถูกทิ้งแช่แข็งไม่ได้รับการพัฒนา เช่น นโยบายคืนสิทธิการรักษาพยาบาลแก่บุคคลผู้มีปัญหาด้านสถานะตามมติครม. 53 และประกันสังคมสำหรับแรงงานต่างด้าวที่มีสิทธิ 7 ข้อ ไม่เหมาะสมในเชิงปฏิบัติ

หากไม่ได้รับการปรับปรุง ในอนาคต อาจทำให้แรงงานต่างด้าวและบุคคลผู้มีปัญหาด้านสถานะที่อาศัยอยู่ในประเทศยากไร้ยิ่งกว่าผู้ที่อยู่อีกฝั่งชายแดนเสียอีก

ดร.นพ.ธงชัย ตรีวิบูลย์วณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุรินทร์ หนึ่งในพื้นที่นำร่องเพื่อเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน เล่าว่า การพัฒนาโรงพยาบาลรับการเปิดประชาคมอาเซียน หวังเน้นทั้งการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการให้บริการแก่กลุ่มผู้มีกำลังจ่ายในราคาที่เป็นธรรม เช่น เจ้าหน้าที่ระดับสูงชาวกัมพูชาและนักธุรกิจ หากโรงพยาบาลสุรินทร์ให้การบริการได้เทียบเท่าโรงพยาบาลใหญ่ ผู้รับบริการก็ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปไกลถึงกรุงเทพหรือเวียดนาม ในอนาคต ค่าบริการในบางกลุ่มการรักษาสำหรับชาวต่างชาติมีกำลังซื้ออาจเพิ่มขึ้นแพงกว่าคนไทยเล็กน้อย รพ. สุรินทร์สามารถให้บริการทางการแพทย์ระดับสูง มีศูนย์หัวใจ มะเร็ง หลอดเลือดและทารกแรกเกิด มีเครื่องมืออุปกรณ์เฉพาะทางที่ทันสมัย เช่น CT scan, Mammogram และ Echocardiograms ซึ่งผู้ป่วยคนไทยก็ได้สิทธิประโยชน์จากตรงนี้อย่างเต็มที่ด้วยเช่นกัน

“เราสามารถพัฒนาได้ในมิติของโรงพยาบาลรัฐ แต่ต้องทำให้การบริการคนไทยดีจนติเราไม่ได้ก่อน จึงให้บริการต่างชาติได้อย่างเต็มที่” ดร. นพ. ธงชัยกล่าว

หากดูรพ.สุรินทร์เป็นกรณีศึกษา จะพบว่า ฝั่งชายแดนไทย-กัมพูชามีรายจ่ายจากการรักษาด้านมนุษยธรรมไม่มากนักหากเทียบกับฝั่งชายแดนไทย-พม่า จากข้อมูลบันทึกผู้ป่วยของรพ.สุรินทร์ครึ่งปีแรกที่ผ่านมา พบว่า มีผู้ป่วยต่างด้าวเพียง 245 จาก 534 คนที่ไม่เข้าหลักประกันสุขภาพใดๆ ในปีพ.ศ. 2555 รพ.สุรินทร์ได้อนุเคราะห์ค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยในต่างด้าวที่ประมาณ 1.69 ล้านบาท ในขณะที่ รพ.อุ้มผาง จ.ตาก ขาดทุนปีละกว่า 30ล้านบาท เพราะบริบทของสถานที่ที่อยู่ติดกับพื้นที่ชาวกะเหรี่ยงเข้าถึงยาก ผู้มีสิทธิด้านการรักษาพยาบาลส่วนมากอยู่ในการดูแลตามมติครม. 53 ซึ่งเป็นนโยบายที่ไม่ได้รับการปรับปรุงให้เหมาะสมกับบริบทของบุคคลผู้มีปัญหาด้านสถานะ

จึงเห็นได้ว่า แม้ในกลุ่มแรงงานต่างด้าวและบุคคลผู้มีปัญหาด้านสถานะ ยังเกิดความเหลื่อมล้ำกันเองไม่ต่างจากคนไทยในสิทธิการรักษาแต่ละกองทุน แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ที่โรงพยาบาลฝั่งชายแดนไทย-พม่า จะมีงบประมาณมายกระดับสถานพยาบาลและเครื่องมือของตนทั้งที่มีจำนวนผู้ป่วย “ต่างชาติ” มากกว่าฝั่งชายแดนไทย-กัมพูชาหลายเท่า

คาดว่าการที่กระทรวงสาธารณสุขริเริ่มนโยบายนำร่องสี่โรงพยาบาลที่ชายแดนไทย-กัมพูชาเพื่อเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียนนั้น อาจเป็นเพราะว่า ทำง่ายและมีความเป็นไปได้มากกว่าฝั่งชายแดนไทย-พม่า การทำความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยและกัมพูชาก็ยิ่งเป็นเรื่องง่ายมากเข้าไปอีกด้วยความสัมพันธ์ที่แนบแน่น จึงมีความเป็นไปได้ว่า การพูดคุยกับรัฐบาลกัมพูชาอาจประสบผลสำเร็จนำไปสู่การตั้งระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในอนาคต นอกจากนั้น ประเทศกัมพูชามีการจัดทำกองทุนสุขภาพอยู่แล้ว สามารถนำไปพัฒนาต่อเป็นระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ เช่น Health Equity Funds ซึ่งจ่ายเต็มหรือบางส่วนของค่ารักษาพยาบาลให้กับผู้ขึ้นทะเบียนเป็นคนรายได้น้อย และประกัน Community Based Health Insurance ซึ่งทางโรงพยาบาลและชุมชนมีการตกลงกันในการคิดค่าเหมาจ่ายแบบรายหัว เพื่อเป็นทุนให้กับโรงพยาบาลมาดูแลสุขภาพคนในชุมชน อย่างไรก็ตาม ทั้งสองกองทุนยังมีผู้เข้าร่วมในสัดส่วนที่น้อย เนื่องจากไม่รู้สิทธิหรืออยู่ห่างไกล  

ในขณะที่ทางประเทศพม่าไม่มีระบบสุขภาพใดๆรองรับ อย่างไรก็ตาม นพ.ประดิษฐ์ มีกำหนดการเยือนมัณฑะเลย์ ประเทศพม่าในช่วงวันที่19-21 ก.ย. นี้ เพื่อหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของประเทศพม่า คงต้องรอดูศักยภาพของนพ.ประดิษฐ์ต่อไป ว่าจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลง และชูประเด็นปัญหาการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของฝั่งชายแดนไทย-พม่าได้มากน้อยแค่ไหน

ในการแก้ไขปัญหาระยะสั้นนี้ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรรณกิจ ผู้อำนวยการรพ.จะนะ จ.สงขลา เสนอว่า รพ.ที่สามารถเก็บเงินจากผู้มีกำลังซื้อไม่ควรคิดแต่เรื่องกำไรอย่างเดียว ควรจะนำเงินนั้นมาตั้งเป็นกองทุนเพื่อช่วยเหลือต่างด้าวตามหลักมนุษยธรรม จะช่วยลดภาระของรพ.และรัฐบาล และรัฐบาลควรมีการจัดทำระบบเก็บข้อมูลค่าใช้จ่ายที่ทางรพ.ต่างๆให้การรักษาตามหลักมนุษยธรรมแก่คนจากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อที่รัฐบาลจะสามารถชดเชยเงินให้กับรพ.นั้นๆ การพัฒนาของรพ.จะได้ไม่หยุดชะงัก อันจะก่อให้เกิดผลกระทบกับคนไทยที่จะไม่ได้รับการรักษาที่มีมาตรฐาน

ดังนั้น ในห้วงระยะเวลาที่ประเทศเพื่อนบ้านยังคงต้องปรับตัวในการพัฒนาระบบสุขภาพของตน รัฐบาลไทยต้องให้ความสำคัญในการรักษาคนไทยควบคู่ไปกับการรักษาด้านมนุษยธรรม ในฐานะพี่ใหญ่ของเพื่อนบ้าน

นี่น่าจะเป็นการตีความของตลาดเสรีและฐานการผลิตเดียวอย่างมีคุณธรรม