Hfocus -มองผ่านแว่นด้วยสายตาคนนอก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เดินหน้าป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล (ชนิด A H1N1 ชนิด A H3N2 และชนิด B) อย่างน่ายกย่อง
สารที่สาธารณชนได้รับ ยังผลให้เข้าใจตรงกันว่า สธ.มีวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ถึง 3.5 ล้านโด๊ส ในจำนวนนี้เพียงพอต่อการให้บริการกับกลุ่มเสี่ยงฟรี
กลุ่มเสี่ยงในที่นี้ แบ่งออกเป็น 1.ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป 2.ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง อาทิ โรคปอดอุดกั้น หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ฯลฯ 3.ผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด 4.ผู้ป่วยเบาหวาน 5.กลุ่มหญิงมีครรภ์ 6.ผู้พิการทางสมอง 7.กลุ่มเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี 8.ผู้ป่วยธาลัสซีเมีย ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีอาการ 9.กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์
สำหรับกรอบระยะการดำเนินงาน ระหว่างวันที่ 27 พ.ค.-30 ก.ย. รวมทั้งสิ้น 14 สัปดาห์ โดยเป้าหมายคือต้องกระจายวัคซีนกว่า 3 ล้านโดสให้แล้วเสร็จ
อย่างไรก็ดี เมื่อมองผ่านแว่นด้วยสายตา “คนใน” กลับพบรายละเอียดระหว่างบรรทัดที่น่าสนใจยิ่ง ข้อมูลเหล่านี้สะท้อนการทำงานที่ด้อยศักยภาพของสธ. หนำซ้ำยังฉายภาพวิธีคิดของผู้บริหารสธ. ที่ย่อหย่อนในการให้ความสำคัญด้านสุขภาพของประชาชน
นั่นเพราะ ประการแรก จนถึงขณะนี้เหลือเวลาดำเนินโครงการอีกเพียง 3 สัปดาห์ การกระจายวัคซีนตามเป้าหมายที่วางไว้ยังต่ำเกณฑ์
กล่าวคือ สถิติการดำเนินโครงการใน 6 สัปดาห์แรกกลับบกพร่องของนโยบายหลายกหลาย เริ่มตั้งแต่ “การจัดซื้อวัคซีน” ซึ่งโดยปกติแล้วจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน หนึ่งคือกรมควบคุมโรค สธ. จะจัดซื้อ 4.6 แสนโดส ฉีดให้กับ “บุคลากรทางการแพทย์” ทั่วประเทศ อีกส่วนหนึ่งคือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หรือกองทุนบัตรทอง จะซื้อรวม 3 ล้านโดส ฉีดให้ “ประชาชนในกลุ่มเสี่ยง”
ปัญหาที่ส่งผ่านมาในการดำเนินโครงการตั้งแต่ 6 สัปดาห์แรกคือ สธ.ไม่ได้จัดซื้อวัคซีน แต่เลือกที่จะเบียดบังวัคซีนของสปสช. ที่จัดสรรไว้ให้กับประชาชนไปฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์
การดำเนินโครงการตลอด 6 สัปดาห์แรก ข้อมูลระบุชัดว่าฉีดให้ประชาชนไปแล้วเพียง 6.8 แสนคน หรือ 22.82% ของจำนวนวัคซีนทั้งหมด และได้ฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ 6.5 หมื่นคนคิดเป็น 2.19% ของวัคซีนสำหรับประชาชน
ขณะนั้น สปสช.ได้ถอดบทเรียนการดำเนินการว่า พบว่าปัญหาเกิดจากที่กรมควบคุมโรคไม่ได้จัดส่งวัคซีนสำหรับบุคลากร ทำให้หน่วยบริการบางแห่งนำวัคซีนของประชาชนไปให้กับบุคลากรทางการแพทย์ก่อน
ล่าสุด นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสปสช. เปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานตลอด 12 สัปดาห์ คือตั้งแต่วันที่ 27 พ.ค.-18 ส.ค. พบว่าให้บริการประชาชนไปทั้งสิ้น 1,893,987 โด๊ส
นั่นหมายความว่า 3 สัปดาห์สุดท้าย ต้องกระจายให้ได้ถึง 1.6 ล้านโด๊ส ซึ่งแน่นอนว่าโอกาสทำสำเร็จเป็นเรื่องยาก
ประการต่อมา การประเมินตัวเลขกลุ่มเสี่ยงซึ่ง สธ.ประเมินไว้เพียง 3 ล้านรายนั้น เป็นตัวเลขที่ถูกต้องหรือไม่
นั่นเพราะถ้าพิจารณากลุ่มเป้าหมายที่มีความเสี่ยงจริงๆ นอกเหนือจาก 8 กลุ่มเสี่ยงเดิมแล้ว ผลการศึกษาของ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ศึกษาการให้วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่แก่เด็กในวันเรียน ซึ่งมีประมาณ 16.4 ล้านคน หรือ 26% ของประชากรไทยทั้งหมด ระบุชัดว่า หากฉีดวัคซีนให้คนกลุ่มนี้จะสามารถลดการติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ติดเชื้อแล้วจะสามารถส่งผ่านเชื้อไปยังกลุ่มอื่นๆ ได้ง่าย
ขณะที่ โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายสุขภาพ (HITAP) เคยเสนอให้สธ.ฉีดเพิ่มในกลุ่มเด็กนักเรียน โดยเฉพาะในกลุ่มอายุ 12-17 ปี โดยผลการศึกษาด้วยแบบจำลองโรคติดเชื้อ (Dynamic transmission model) ที่สามารถคาดประมาณผลการให้วัคซีน พบว่ากรณีไม่มีนโยบายการให้วัคซีนแก่เด็กในวัยเรียนเลย จะทำให้เกิดผู้ติดเชื้อแล้วมีอาการรวมทุกกลุ่มอายุประมาณ 9.16 ล้านคน มีผู้เสียชีวิตรวมทุกกลุ่มอายุถึง 6,800 คนในช่วงระยะเวลา 1 ปี
อย่างไรก็ดี หากมีนโยบายให้วัคซีนครอบคลุมเด็กวัยเรียนอายุ 2-11 ปี เพียง 66% ของคนกลุ่มนี้ จะทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงจาก 9.16 ล้านคน เหลือเพียง 6.68 ล้านคน ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตจะลดลงจาก 6,800 คน เหลือเพียง 5,000 คนเท่านั้น
ที่สำคัญ บุคลากรระดับผู้บริหารสธ.คนหนึ่ง ยอมรับว่า กลุ่มเสี่ยงในประเทศไทยมีมากกว่า 10 ล้านราย แต่รัฐบาลสามารถลงทุนได้เพียง 3 ล้านราย เนื่องจากเพียง 3 ล้านรายยังไม่สามารถแจกจ่ายให้ประชาชนได้หมด โดยสาเหตุที่ผู้ป่วยเข้าไม่ถึงวัคซีน สธ.ประเมินว่าเป็นเพราะผู้ป่วยไม่ตระหนักถึงความสำคัญ และการประชาสัมพันธ์ของสธ.เองก็ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร
“ที่ซื้อไป 3 ล้านโด๊ส ก็ยังฉีดได้ไม่หมดเลย โดยวัคซีนเหล่านั้นไม่สามารถเก็บไว้ใช้ในปีต่อไปได้ เนื่องจากเชื้อมีการพัฒนาขึ้น จำเป็นต้องใช้วัคซีนชนิดใหม่อยู่เสมอ เมื่อเราซื้อมา 3 ล้านโด๊สแล้วใช้ไม่หมด นั่นเท่ากับเป็นการลงทุนที่เสียเปล่า จึงมีความเสี่ยงถ้าเราจะลงทุนซื้อถึง 10 ล้านโด๊ส” ผู้บริหารระดับสูงสธ.ยอมรับ
ประการสุดท้าย สธ.ให้น้ำหนักกับการป้องกันโรคและลงทุนกับเรื่องวัคซีนเพียงพอหรือยัง ?
นั่นเพราะ จนถึงขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีศักยภาพเพียงพอในการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ โรงงานผลิตวัคซีนยังอยู่ในระยะการก่อสร้างเท่านั้น หากประเทศไทยต้องการใช้วัคซีนจำเป็นต้องไปจัดซื้อจากต่างประเทศที่มีกำลังผลิตเพียงพอ
ตามความเป็นจริงแล้วหากเกิดการระบาดใหญ่ของโรค แน่นอนว่าการจัดซื้อวัคซีนจากประเทศอื่นๆ เป็นไปได้ยาก เนื่องจากความต้องการวัคซีนมีสูง ประเทศเหล่านั้นจำเป็นต้องเก็บไว้ใช้ให้กับคนในประเทศเอง และบางส่วนที่เตรียมไว้สำหรับจำหน่ายย่อมมีราคาสูงขึ้นกว่าปกติมาก
ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งให้น้ำหนักกับสุขภาพประชาชนเป็นสำคัญ โดยอดีตมีการกักตุนวัคซีนไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดนกเพื่อใช้ในประเทศ ขณะนั้นประเทศญี่ปุ่นยอมสูญเสียงบประมาณมหาศาลเพื่อซื้อวัคซีนในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดถึง 8 เท่า โดยรัฐบาลญี่ปุ่นตัดสินใจซื้อในจำนวนที่เกินกว่ากลุ่มเสี่ยงในประเทศ นั่นเพราะประเทศญี่ปุ่นมองว่านั่นคือความมั่นคงของชาติ
แม้ นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค จะยืนยันว่า ทั่วประเทศมีวัคซีนเพียงพอ ไม่ขาดแคลน และมั่นใจได้ว่าวัคซีนเพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งหากหมดก็สามารถจัดซื้อเพิ่มเติมได้เรื่อยๆ
แต่จากข้อมูลข้างต้น เกิดเป็นคำถามว่าประชาชนจะมั่นใจต่อแนวทางการทำงานและฝากอนาคตด้านสุขภาพไว้กับ สธ. ต่อไปได้ต่อไปอีกหรือไม่ หรือที่สุดแล้วต้องดูแลกันเองโดยต้องควักกระเป๋าจ่ายค่าวัคซีนเข็มละ 800-1,000 บาท ทั้งที่ได้จ่ายภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อเข้าสู้ระบบประกันสุขภาพแล้ว
มากไปกว่านั้น สวัสดิการขั้นพื้นฐานเช่นนี้ รัฐไม่สามารถปฏิเสธการให้บริการตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดบทบาทไว้ได้
- 3 views