ปิดฉากการประชุม IUHPE ครั้งที่ 21 สามผู้นำ อเมริกา เนเธอร์แลนด์ ไทย คว้ารางวัลสร้างเสริมสุขภาพโลก จุดประกายนานาชาติสร้างสุขภาวะที่ดีเป็นหน้าที่ของทุกคน แนะเพิ่มบทบาทสังคม ชุมชน และภาคเอกชน
 
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 29 สิงหาคม ที่ศูนย์ประชุมพีช พัทยา จ.ชลบุรี ในพิธีปิดการประชุมนานาชาติด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ครั้งที่ 21  (The 21th IUHPE World Conference on Health Promotion 2013) จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สมาพันธ์นานาชาติด้านการสร้างเสริมสุขภาพและสุขศึกษา (IUHPE) ซึ่งมีพิธีมอบรางวัลผู้นำสร้างเสริมสุขภาพดีเด่นให้แก่บุคคลที่มีผลงานเป็นประจักษ์แก่สังคมในด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งนับเป็นการริเริ่มการมอบรางวัลครั้งแรกของการประชุมนี้
 
ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ประธานคณะกรรมการจัดการประชุมนานาชาติด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ครั้งที่ 21 สสส. กล่าวว่า การริเริ่มแนวคิดการมอบรางวัลผู้นำสร้างเสริมสุขภาพดีเด่นที่สร้างผลงานที่มีคุณค่าต่อมนุษยชาติ เพื่อกระตุ้นให้บุคคล องค์กรต่างๆ ได้มีแบบอย่างที่ดีด้านการสร้างเสริมสุขภาพ โดยมีคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือก 4 คนจาก IUHPE, มูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์, สสส. และวิทยากรของการประชุม  กระบวนการคัดเลือกได้เปิดโอกาสให้สมาชิก IUHPE จากทั่วโลก เสนอรายชื่อ ซึ่งมีผู้ถูกเสนอทั้งสิ้น 13 คน คณะกรรมการฯ จะพิจารณาจากผลงานในเชิงปฏิบัติการที่ประสบผลสำเร็จและเป็นประโยชน์แก่สังคมเป็นหลัก มีผู้ได้รับรางวัล 3 ท่าน  ได้แก่ 1.ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ประเทศไทย มีผลงานโดดเด่นเรื่องการรณรงค์ควบคุมยาสู บ  2.ดร.ดอน เอลิซีโอ ลูซีโร-พริสโน ประเทศเนเธอร์แลนด์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ มีผลงานวิจัยดีเด่นการการสร้างเสริมสุขภาพในการเดินเรือ และ3.ดร.จีน อาร์ คาร์เตอร์ อดีตกรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของสมาคมนิเทศการศึกษาและพัฒนาหลักสูตร ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยพัฒนาให้สมาคมฯ เป็นผู้นำระดับโลกด้านการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์และบริการที่ช่วยสนับสนุนให้ผู้เรียนประสบความสำเร็จ
 
“เชื่อว่าตลอดการประชุมทั้ง 5 วันที่ผ่านมา ที่มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 2,200 คน จาก 81 ประเทศ จะได้รับองค์ความรู้ นวัตกรรม และการถ่ายทอดประสบการณ์การทำงานจากประเทศต่างๆ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับประเทศของตน ซึ่งจากการประชุมครั้งนี้ ทำให้พบว่า จำเป็นต้องเพิ่มบทบาทของสังคม ชุมชน และภาคเอกชนให้มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสุขภาพของประเทศ เพื่อนำไปสู่ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชากรโลก ที่สำคัญการสร้างเสริมสุขภาพเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคน ไม่ได้เป็นเพียงหน้าที่ของนักวิชาการ เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติ หรือผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายเท่านั้น” ศ.นพ.อุดมศิลป์ กล่าว
 
 
ดร.จีน อาร์ คาร์เตอร์
 
 
ดร.จีน อาร์ คาร์เตอร์ อดีตกรรมการผู้จัดการสมาคมนิเทศการศึกษาและพัฒนาหลักสูตร กล่าวว่า การสร้างเด็กให้มีต้นทุนทางสุขภาพที่สมบูรณ์ จะทำให้ส่งผลต่อการเรียนรู้  โรงเรียนถือเป็นสถานที่สำคัญที่จะช่วยทั้งการเรียนรู้และสร้างเสริมสุขภาพแต่สุขภาพและการศึกษาเริ่มเป็นธุรกิจและแยกส่วนจากกันมากขึ้น ความท้าทายจึงเป็นการเชื่อมโยงสุขภาพและการศึกษาในเด็กเข้าหากัน โดยบทบาทของครูและบุคลากรทางสุขภาพที่มีเด็กเป็นเป้าหมายร่วมในการพัฒนา  
 
 
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ
ลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
 
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ที่ทำงานเรื่องนี้มากว่า 20 ปี กล่าวว่า  การเจ็บป่วยด้วยโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ ถือเป็นเรื่องที่น่าเสียใจเพราะเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ จึงเป็นแรงบันดาลใจหนึ่งที่หันมาทำงานนี้  สิ่งที่ถือเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่งในการทำงาน คือ การขาดความเข้าใจของผู้กำหนดนโยบายระหว่างบริการทางการแพทย์ในผู้ป่วยรายบุคคล กับการใช้มาตรการทางสังคมในระดับประชากร และการขาดกลไกการสนับสนุนงบประมาณเพื่อการส่งเสริมสุขภาพที่ยั่งยืน
 
\
 
ดร.ดอน เอลิซีโอ ลูซีโร-พริสโน
มหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์
 
ดร.ดอน เอลิซีโอ ลูซีโร-พริสโน นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ กล่าวว่า  สิ่งที่เป็นแรงจูงใจให้ก้าวเข้ามาทำงานเพื่อส่งเสริมสุขภาพคือ ความหวังที่จะได้เห็นการช่วยเหลือผู้อื่นให้มีสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต ความท้าทายของการทำงานสร้างเสริมสุขภาพ คือการทำผลงานวิจัยที่ได้มากลายเป็นนโยบายและนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นระบบ