ในเวทีการประชุมนานาชาติด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ครั้งที่ 21 (The 21th IUHPE World Conference on Health Promotion 2013) ที่ศูนย์การประชุมพีช พัทยา จ.ชลบุรี ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจากประเทศต่าง ๆ จาก 81 ประเทศ ดร.ไมเคิล สปาร์ก ประธานสมาพันธ์นานาชาติด้านการสร้างเสริมสุขภาพและการศึกษา หรือ IUHPE พร้อมผู้เข้าร่วมประชุมจากประเทศต่าง ๆ กว่า 1,000 คน ได้ร่วมลงชื่อสนับสนุน นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่า การกระทรวงสาธารณสุข ในการออกกฎหมายเพิ่มขนาดภาพคำเตือนบนซองบุหรี่
โดย ดร.ไมเคิล กล่าวว่า ในฐานะประธาน IUHPE ขอสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุขประเทศไทยให้เดินหน้าเพิ่มขนาดภาพคำเตือนเป็น 85% ทั้งนี้การออกภาพคำเตือนเป็นมาตรการการควบคุมการบริโภคยาสูบที่มีประสิทธิภาพช่วยลดการบริโภคยาสูบอย่างได้ผล หลายประเทศทั่วโลกได้นำแนวทางดังกล่าวได้ดำเนินการแล้ว เช่น ประเทศออสเตรเลีย เพิ่มขนาดเป็น 87.5% ประเทศอุรุกวัย 80% และอีกหลายประเทศกำลังขยายภาพคำเตือนให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเช่นกัน การสนับสนุนการออกกฎหมายของประเทศไทยในครั้งนี้ เพื่อคุ้มครองสุขภาพของประชาชนด้วย 3 เหตุผลคือ 1.บุหรี่เป็นสินค้าซึ่งแม้จะถูกกฎหมายแต่เป็นสาเหตุการตายมากที่สุดในโลก 2.เป็นการลงทุนด้านสุขภาพที่สำคัญและมีประสิทธิภาพ และ3.ประเทศไทยถือเป็นตัวอย่างให้กับนานาชาติในการคุ้มครองประชาชน
"ผลการวิจัยทั่วโลกตลอด 50 ปีที่ผ่านมาชี้ชัดว่า เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องออกมาตรการควบคุมการบริโภคยาสูบที่เข้มแข็ง และถือว่าเป็นการลงทุนด้านสุขภาพที่คุ้มค่า อีกทั้งยังสอดคล้องกับกรอบอนุสัญญาควบคุมการบริโภคยาสูบ หรือ FCTC มาตรการ 11 ด้านการควบคุมบรรจุภัณฑ์และฉลาก ที่ลงนามโดย 177 ประเทศทั่วโลก ผมเชื่อว่าการที่ บริษัทบุหรี่พยายามแทรกแซงนโยบายโดยการฟ้องต่อศาลปกครองนั้น เป็นเพราะบริษัทบุหรี่ไม่ต้องการให้ไทยเป็นต้นแบบแก่ประเทศต่าง ๆ เพราะเขาเกรงว่ามาตรการที่เข้มแข็งเช่นนี้จะเกิดขึ้นในประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก อันจะทำให้บริษัทบุหรี่ทำการตลาดได้ยากยิ่งขึ้น ผมขอให้กำลังใจ กระทรวงสาธารณสุขไทย" ดร.ไมเคิล กล่าว
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า บุหรี่เป็นสินค้า ไม่ปกติเพราะฆ่าผู้บริโภคปีละ 6 ล้านคน มีสิ่งเสพติดที่มีสารก่อมะเร็ง 70 ชนิด และสารพิษอีก 250 ชนิด แต่ปัจจุบันบุหรี่เป็นสินค้าที่ขายได้ถูกกฎหมาย เพราะเป็นอุบัติเหตุทางประวัติศาสตร์ มีการเสพติดอย่างกว้างขวาง มาก่อนที่จะรู้ว่าบุหรี่มีอันตราย
"บริษัทบุหรี่อ้างความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากประกาศเพื่อให้เพิ่มขนาดภาพคำเตือน แต่ไม่เคยกล่าวถึงกำไรมหาศาลที่บริษัทได้รับจากการขายบุหรี่ เฉพาะประเทศไทยบริษัทฟิลิปมอริสมีกำไรปีละ 3,000 ล้านบาท แต่ประเทศไทยต้องสูญเสียค่ารักษาโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ปีละ 50,200 ล้านบาท" ศ.นพ.ประกิต กล่าว
ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า บริษัทบุหรี่ฟ้องเพื่อให้มีการทุเลาและยกเลิกกฎหมายของกระทรวงสาธารณสุขถือเป็นการแทรกแซงนโยบายของประเทศไทยในการที่จะปกป้องสุขภาพของประชาชน การที่กระทรวงสาธารณสุขตกเป็นจำเลยในคดีนี้ถือเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผล ที่สำคัญบริษัทบุหรี่ทำตัวประหนึ่งว่าตนคือผู้สั่งการและกำกับกระทรวงสาธารณสุขในการทำหน้าที่ปกป้องสุขภาพของประชาชน
ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขออกประกาศเมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2556 กำหนดให้เพิ่มขนาด คำเตือนบนซองบุหรี่เป็น 85% (จากเดิม 55%) โดย มีผลบังคับใช้วันที่ 2 ต.ค.นี้ แต่บริษัทบุหรี่ 3 บริษัทได้ยื่นฟ้องกระทรวงสาธารณสุขให้ทุเลาการบังคับใช้ และยกเลิกประกาศฉบับนี้ และศาลปกครอง มีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามกฎกระทรวงสาธารณสุขไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา หรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น โดยศาลยังต้องพิจารณาคดีที่ 2 ที่บริษัทบุหรี่ฟ้องให้ยกเลิกประกาศกระทรวงฉบับนี้
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 1 กันยายน 2556
- การประชุมนานาชาติด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ครั้งที่ 21
- The 21th IUHPE World Conference on Health Promotion 2013
- ไมเคิล สปาร์ก
- สมาพันธ์นานาชาติด้านการสร้างเสริมสุขภาพและการศึกษา
- IUHPE
- ประดิษฐ สินธวณรงค์
- กระทรวงสาธารณสุข
- ภาพคำเตือนบนซองบุหรี่
- อนุสัญญาควบคุมการบริโภคยาสูบ
- FCTC
- ประกิต วาทีสาธกกิจ
- มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
- 7 views