รมว.ยุติธรรม สั่ง ป.ป.ส.-นิติวิทยา ศาสตร์ ศึกษาข้อมูลใช้ "ใบกระท่อม" แทนเสพ "ยาบ้า" ชี้เป็นพืชท้องถิ่นออกฤทธิ์ไม่รุนแรง เตรียมชง ยกเลิกเป็นยาเสพติด คาดสามารถลดจำนวนผู้เสพ-นักโทษได้ เผยอนาคตอาจนำเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์มาใช้ควบคุมผู้ต้องขังนอกเรือนจำด้วย
เมื่อวันที่ 27 ส.ค. ที่กระทรวงยุติธรรม นายชัยเกษม นิติสิริ รมว.ยุติธรรม เปิดเผยว่าได้มอบหมายให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ไปศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับใบกระท่อมซึ่งมีงานวิจัยว่าไม่น่าจะเป็นยาเสพติด เผื่อนำมาใช้เป็นตัวเลือกแทนการเสพยาบ้า ซึ่งส่วนตัวเคยเติบโตในสวนย่านฝั่งธนและเห็นการใช้ใบกระท่อมของคนในอดีตเพราะเป็นพืชท้องถิ่น ซึ่งมุ่งเน้นเพื่อเพิ่มความขยันขันแข็ง ไม่ออกฤทธิ์รุนแรง ดังนั้น จึงต้องการให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์และสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ไปศึกษาข้อมูล ซึ่งปัจจุบันสังคมไทยมีปัญหายาเสพติดและแนวโน้มจำนวนผู้ติดยาเสพติดเพิ่มขึ้น สืบเนื่องจากปัญหาครอบครัว ดังนั้นหากมีตัวเลือกอื่นที่สามารถเบี่ยงเบนจากการเสพยาบ้าหรือยาเสพติดที่รุนแรงกว่าได้ สังคมและครอบครัวอาจยอมรับได้มากกว่า เช่น บางคนที่เครียดแล้วดื่มสุรา สูบบุหรี่ หรือในอดีตที่นิยมกินหมากแต่เมื่อยกเลิกก็ค่อย ๆ หายไป พร้อมยกตัวอย่างในประเทศเนเธอร์แลนด์ที่อนุญาตให้สูบกัญชาได้ในร้านกาแฟ
นายชัยเกษม กล่าวอีกว่า รัฐบาลมีนโยบายที่จะดูแลผู้เสพยาเป็นผู้ป่วย เน้นการบำบัด หากมีใบกระท่อมมาทดแทนการเสพยาเสพติดที่รุนแรงกว่า ก็เชื่อว่าจะผ่อนคลายปัญหาลงและแก้ปัญหาผู้ต้องขังล้นคุกได้อีกทางหนึ่ง ที่สำคัญน่าจะเป็นการแยกผู้เสพออกมาบำบัดดูแลในลักษณะผู้ป่วยได้ดีขึ้น เชื่อว่าในสากลไม่ถือว่ากระท่อมเป็นยาเสพติดแต่ขึ้นอยู่กับกระแสการยอมรับของสังคมว่าจะเห็นด้วยอย่างไร เพราะปัจจุบันมีการระบุให้ใบกระท่อมเป็นยาเสพติด ทำให้มีราคาสูงถึงใบละ 3-5 บาท แต่ก็ยังพบว่ามีการปลูกใช้กันเยอะ เช่นในพื้นที่ จ.สงขลา หรือเขตมีนบุรี หนองจอก ซึ่งอยู่ในพื้นที่ กทม. หากยกเลิกไม่ให้กระท่อมเป็นยาเสพติดคาดว่าอาจช่วยลดจำนวนผู้ที่จะเสพยาบ้าได้
นายชัยเกษม ยังกล่าวถึงกรณีที่ประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศที่มีกฎเกณฑ์และข้อห้ามมากมาย ทั้งเรื่องยาเสพติดและการทิ้งขยะในที่สาธารณะ แต่กลับพบป้ายห้ามปัสสาวะในลิฟต์ เรื่องดังกล่าวแสดงให้ว่าเมื่อคนถูกบังคับมากเกินไปก็ต้องมีทางบ้าง อย่างไรก็ตาม ตนต้องการให้สื่อให้เห็นถึงข้อเสนอความเห็นนี้กับสังคมเพื่อรับฟังเสียงตอบรับด้วย หากได้รับการยอมรับจากสังคมและมีผลวิจัยสนับสนุนว่าเป็นทางเลือกที่ดีกว่าตนก็จะเสนอให้รัฐบาลผลักดันต่อไป ทั้งนี้ในอนาคตยังมีแนวคิดจะนำเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์มาใช้ควบคุมผู้ต้องขังนอกเรือนจำโดยจะนำมาใช้กับกลุ่มผู้ต้องโทษคดียาเสพติดซึ่งควรได้รับการบำบัด
ด้าน นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริหารสุขภาพ ในฐานะ ผอ.ศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด กระทรวงสาธารณสุข (คพส.สธ.) กล่าวว่า แนวคิดนี้มีมา 10 กว่าปีแล้ว กระท่อมเป็นยาเสพติดประเภท 5 อยู่คู่กับกัญชา มีโทษทั้งจำและปรับแต่โทษน้อยมาก กระท่อมออกฤทธิ์ 2 อย่าง คือ เป็นสารกระตุ้นเหมือนเมทแอมเฟตามีน ขณะเดียวกันก็เป็นสารกดสมองเหมือนฝิ่น เฮโรอีน การเสพกระท่อมทำให้เสพติดได้ ส่วนใหญ่เชื่อว่าใช้จะสนุกสนาน คึกคัก สามารถทำงานทนแดด แต่ไม่ทนฝน ทำงานขยัน อารมณ์ดี ขณะเดียวกันใช้แล้วจะมีอาการ ทางสมอง อาการทางจิตและประสาท หูแว่ว ประสาทหลอน ความดันโลหิตสูง ลำไส้อุดตัน เกิดผลเสียต่อร่างกาย ตอนหลังพบว่า การนำไปผสมยาเสพติดสี่คูณร้อย แปดคูณร้อย สิบสองคูณร้อย ตนคิดว่ายังไม่สมควรที่จะถอนกระท่อมออกจากยาเสพติดประเภท 5 เพราะมีกลไกการออกฤทธิ์ต่อสมองเช่นกัน แม้จะไม่รุนแรงเหมือนยาบ้าก็ตาม อีกทั้งแม้จะถอนกระท่อมออกไป แต่ก็ไม่ได้ทำให้คนเสพยาบ้าลดลง สุดท้ายคนอาจจะใช้กระท่อมเพิ่มขึ้น เสพติดกันมากขึ้น
ที่มา --เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 29 ส.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--
- 24 views