อภ.ระบุบอร์ด อภ.มีนโยบายเลิกผลิตยาพาราเซตามอลเองแล้ว อ้างยังมียาสำคัญที่ต้องผลิตอีกเยอะ ส่วนยารักษาโรคหัวใจ บริษัทที่ผิดสัญญาตกใจรีบส่งยาให้ไทยล็อตแรก 8 ล้านเม็ด ใน 30 ก.ย.56 หลังเจอ อภ.ยื่นโนติส เลิกสัญญา ริบมัดจำ แถมต้องจ่ายส่วนต่าง
ภญ.พิศมร กลิ่นสุวรรณ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวถึงความคืบหน้าเรื่องการเปลี่ยนคืนวัตถุดิบยาพาราเซตามอลจำนวน 143 ตัน จากการประสานงานล่าสุด อภ.ได้ขอประเทศจีนส่งวัตถุดิบยาพาราฯ กลับมาเป็นล็อต ล็อตละ 15 ล้านตัน ตามกำลังการผลิตของโรงงานที่รับจ้างผลิตให้กับ อภ. 15 ล้านตันต่อเดือน โดยวัตถุดิบล็อตแรกเข้ามาภายใน 2 เดือนนี้ ซึ่ง อภ.จะเข้มงวดเรื่องการตรวจสอบคุณภาพมากขึ้น และจากการหารือกันในบอร์ด อภ.มีมติว่า อภ.จะไม่นำยาพาราฯ กลับมาผลิตเอง เนื่องจากยังมียาสำคัญตัวอื่นๆ ที่จำเป็นต้องผลิตอีก จึงจะว่าจ้างโรงงานเภสัชกรรมทหารเป็นผู้ผลิตให้เช่นเดิม ขณะนี้กำลังเซ็นสัญญาว่าจ้างฉบับใหม่
ส่วนความคืบหน้าการแก้ปัญหาขาดแคลนยาโคลพิโดเกรล (Clopidogrel) หรือยารักษาโรคหัวใจ นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ประธานบอร์ด อภ. กล่าวว่า เนื่องจากบริษัทคู่สัญญาไม่สามารถทำการส่งมอบได้ตามสัญญา คือวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา-ปัจจุบัน ทาง อภ.จึงต้องแก้ปัญหาโดยการซื้อยาซึ่งเป็นยาชนิดเดียวกับที่ไม่ติดสิทธิบัตรที่เคยซื้อมาจำหน่ายอย่างเร่งด่วน จำนวน 3 ล้านเม็ดมาใช้ก่อน โดยจำนวนนี้จะสามารถใช้ได้ 3 เดือน และเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นอีก ขณะนี้จึงหาแหล่งจัดซื้อเพิ่มอีก 2 แห่ง ซึ่งขณะนี้บริษัททั้ง 2 อยู่ระหว่างการขอขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
ในประเด็นนี้ ภญ.พิศมรกล่าวว่า ได้แก้ปัญหาด้วยการส่งหนังสือขอสงวนสิทธิ์ 3 ข้อคือ 1.สงวน สิทธิ์ในการปรับเงินตั้งแต่วันที่นัดส่งมอบ-วันที่สามารถส่งยาให้ได้ 2.ขอสงวนสิทธิ์ยกเลิกสัญญาการซื้อขาย โดยทาง อภ.จะยึดเงินมัดจำ ซึ่งการที่ยกเลิกสัญญาซื้อขายกับหน่วยงานราชการในลักษณะดังกล่าว จะทำให้บริษัทดังกล่าวไม่สามารถทำการซื้อขายกับหน่วยงานราชการอื่นๆ ได้ และ 3.ขอสงวนสิทธิ์ในการ เรียกค่าปรับและยกเลิกสัญญา และหาก อภ.มีความจำเป็นต้องซื้อยาชนิดเดียวกันภายในเวลา 2 เดือนจากบริษัทอื่น แต่ราคาแพงกว่า ทางบริษัทที่ถูกยก เลิกสัญญาจะต้องเป็นผู้จ่ายเงินส่วนต่างให้
ต่อมาทางบริษัทคู่สัญญาได้แจ้งกลับมาว่าสามารถส่งยาโคลพิโดเกรลล็อตแรกจำนวน 8 ล้านเม็ดในวันที่ 30 ก.ย.นี้ ส่วนที่เหลืออีก 10 ล้านเม็ดจะทยอยส่งมอบในวันที่ 5 และ 15 ต.ค.นี้ ทั้งนี้ ที่ อภ.ไม่ยกเลิกสัญญาซื้อขายกับบริษัทดังกล่าวเนื่องจากส่วนต่างค่ายาของบริษัทอื่นๆ ที่ไปดูมานั้นค่อนข้างสูงกว่าบริษัทนี้มาก และ อภ.ยังสาสมารถเรียกค่าปรับได้ในกรณีที่บริษัทผิดสัญญาในอัตรา 0.2% ของมูลค่าของสัญญาทั้งหมดต่อวัน
สำหรับความคืบหน้าการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนกที่ จ.ราชบุรี นพ.พิพัฒน์กล่าวว่า ได้มีการเจรจากับทางบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างอีกครั้ง ล่าสุดสามารถตกลงกันได้ในราคา 45 ล้านบาท พร้อมขยายเวลาออกไปอีก 513 วัน โดยจะนำเข้าหารือในการประชุมบอร์ดนัดพิเศษในวันที่ 5 ก.ย.นี้ เพื่อจัดทำรายงานเสนอขอความเห็นชอบในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี คาดว่าปลายเดือน ก.ย.-ต.ค.จะสามารถเสนอได้
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 27 สิงหาคม 2556
- 52 views