Hfocus -การต่อสู้ระหว่างฝ่ายเรียกร้องและฝ่ายต้องการยกเลิก พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ 2554 (กอช.) ยิ่งนานยิ่งทวีความแหลมคม และหากไล่เรียงเหตุการณ์ย้อนหลัง จะเห็นแนวโน้มที่ขยายวงความขัดแย้งมากขึ้นเรื่อยๆ

ทั้งนี้ กฎหมายกอช. มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 พ.ค.2554 ยุครัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการรับสมัครสมาชิก กฎหมายกำหนดให้เปิดรับสมัครสมาชิกกอช. เมื่อพ้นกำหนด 360 วันนับจากวันประกาศลงราชกิจจานุเบกษา หรือ ประมาณวันที่ 8 พ.ค. 2555 ซึ่งขณะนั้นการเมืองเปลี่ยนขั้วมาเป็นรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นรมว.คลัง

นายกิตติรัตน์ ยืนยันในเดือน ก.พ. 2555 ว่าจะสานต่อ กอช. จากรัฐบาลชุดก่อน และจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายดังกล่าว ขณะเดียวกันในระหว่างที่รอให้พ้นกำหนด 360 วันนั้น สำนักเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้ดำเนินการรับสมัครบุคคลมาดำรงตำแหน่ง เลขาธิการกอช. และยกร่างประกาศ ระเบียบที่เกี่ยวข้องไว้เสร็จสิ้นหมดแล้ว รวมทั้งมีการจัดสรรงบประมาณประจำปี 2555 มาจัดตั้งกองทุนอีก 225 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ย่างเข้าปลายเดือน เม.ย. 2555 นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการ สศค. ระบุว่า กอช.ไม่สามารถเปิดรับสมาชิกได้ทันวันที่ 8 พ.ค.2555 โดยให้เหตุผลว่ากระบวนการประมูลคัดเลือกผู้ติดตั้งระบบไอทีเพิ่งมีความชัดเจน และต้องใช้เวลาเชื่อมต่อระบบกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น กระทรวงมหาดไทย กองทุนประกันสังคม อย่างน้อยประมาณ 2 เดือน หรือประมาณเดือน ก.ค. 2555 ส่วนของเลขาธิการ กอช.ได้มีการคัดสรรเรียบร้อยแล้วรอให้นายกิตติรัตน์ลงนาม

แต่เมื่อถึงเดือน ก.ค.2555 นายกิตติรัตน์สั่งให้ศึกษาเพิ่มเงินบำนาญให้แก่สมาชิกกอช. อย่างน้อยที่สุดต้องสูงกว่าเส้นความยากจน และจะยังไม่แต่งตั้งใครให้เข้ามารับตำแหน่งเลขาธิการกอช. เพราะอยู่ระหว่างพิจารณาแก้ไขกฎหมายให้ถูกต้องเหมาะสม เนื่องจากยังมีหลายจุดที่เป็นปัญหาและไม่ต้องการเปิดให้ดำเนินการ

“เห็นใจคนที่รอ แต่ก็ไม่อยากปล่อยไปโดยไม่ได้ดูรายละเอียด" นายกิตติรัตน์ กล่าว

จากนั้นเดือน ส.ค.2555 นายกิตติรัตน์สั่งการอีกครั้งให้ศึกษาแนวทางโอนย้ายกอช.ไปเป็นนิติบุคคลภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารออมสิน รวมทั้งให้เปลี่ยนชื่อใหม่ด้วย กระนั้นก็ยังยืนยันว่าไม่ได้เตะถ่วงเพราะเห็นว่าเป็นการริเริ่มของรัฐบาลที่ผ่านมา แต่ได้ให้ สศค. ทบทวนใน 3 ประเด็น คือเรื่องการจ่ายเงินตอบแทนที่จะเปิดทางเลือกให้รับเป็นบำเหน็จ เรื่องการจ่ายเงินสมทบของรัฐบาลที่ปรับเป็นอัตราเดียว และเรื่องการบริหารการลงทุนว่าจะลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงหรือไม่

“หลังได้ข้อสรุปจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ และเสนอเข้าสภาผู้แทนราษฎรแก้เป็นกฎหมายบังคับออกมาใช้ต่อไป ทำให้การรับสมาชิกกอช. ยังไม่สามารถดำเนินการได้ในช่วงนี้จนกว่าจะมีการแก้ไขกฎหมายใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว" นายกิตติรัตน์ กล่าว

จะเห็นได้ว่าผ่านไปแค่ 3 เดือน หลังพ้นกำหนด 360 วันตามที่กฎหมายกำหนด กอช.ก็ถูกเลื่อนกำหนดการรับสมัครสมาชิกด้วยเหตุผลต่างๆนานา ไปจนถึงขั้นจะแก้ไขรายละเอียดในกฎหมายให้แล้วเสร็จก่อนถึงจะยอมเปิดรับสมัครสมาชิก ซึ่งในทางปฏิบัตินั้น การจะแก้กฎหมายใดๆก็ตาม หากผู้มีอำนาจรัฐไม่สนับสนุนจะใช้เวลายาวนานมากกว่าจะดำเนินการสำเร็จ

ในที่สุดปี 2555 ผ่านไป การรับสมัครสมาชิกกอช.และจัดตั้งกองทุนก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ

ย่างเข้าปี 2556 เครือข่ายแรงงานนอกระบบและภาคประชาชนที่รอคอยจะเข้าเป็นสมาชิกกอช. จัดเวทีเสวนาวิชาการหัวข้อ “สิ้นสุดการรอคอย เดินหน้า...บำนาญเพื่อประชาชน”ในวันที่ 18 ม.ค. 2556 ซึ่งประเด็นที่มีการพูดคุยในวันดังกล่าวคือ เรียกร้องให้กระทรวงการคลังรับสมัครสมาชิกกอช.ได้แล้ว เพราะยิ่งเนิ่นนานออกไปจะทำให้ประชาชนที่อายุใกล้ 60 ปี เสียโอกาสในการออมเงินเพื่อรับบำนาญ ส่วนจะแก้กฎหมายเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ดีขึ้นก็ไม่ขัดข้อง แต่ต้องรับสมัครสมาชิกกองทุนก่อนแล้วค่อยมาแก้กฎหมายในภายหลัง

นอกจากเสียงเรียกร้องจากภาคประชาชนแล้ว วันที่ 7 มี.ค. 2556 ม.ล.อภิมงคล โสณกุล ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการเงิน การคลังการธนาคารและสถาบันการเงิน สภาผู้แทนราษฎร ก็แถลงข่าวเร่งรัดให้กระทรวงการคลังรับสมัครสมาชิกกอช.ด้วย

ถัดมาวันที่ 22 มี.ค. 2556 นายกิตติรัตน์กลับให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลชุดนี้เห็นว่า กอช.ซ้ำซ้อนกับประกันสังคม มาตรา 40 ของกระทรวงแรงงาน จึงไม่เดินหน้ากอช.ต่อแต่จะเสนอ ครม.แก้กฎหมายเพิ่มเรื่องการออมเป็นทางเลือกที่ 3 ของประกันสังคมมาตรา 40 แทน

ฟากกระทรวงแรงงานก็รับลูกทันทีด้วยการแก้ไขเพิ่มเติม ร่างพ.ร.ฎ.กำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ประเภทประโยชน์ทดแทนของระบบประกันสังคมมาตรา 40 ซึ่งเพิ่มการออมเพื่อรับบำนาญเป็นทางเลือกที่ 3 เบื้องต้นเตรียมเสนอครม. วันที่ 2 เม.ย. 2556

แน่นอนว่าเมื่อกระทรวงการคลังประกาศแนวทางเช่นนี้ออกมา เสียงคัดค้านจากภาคประชาชนก็ดังขึ้นว่าไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าวในหลายๆเหตุผล ทั้งเรื่องความมั่นคงของกฎหมายที่หากเป็น พ.ร.ฎ.แล้ว สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ง่าย ไม่มีความมั่งคงในระยะยาว ประเด็นเรื่อง กอช.สถานะเป็นองค์กรอิสระ ขณะที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เป็นหน่วยงานราชการ ประเด็นเรื่องธรรมภิบาลและการมีส่วนร่วม เพราะไม่มีตัวแทนแรงงานนอกระบบเข้าไปบริหารเงินกองทุนหากให้สปส.ดูแล ฯลฯ

สรุปจุดยืนของภาคประชาชนคือยืนยันให้กระทรวงการคลังบังคับใช้กฎหมายและรับสมัครสมาชิกกอช.ต่อไป

เมื่อถึงวันที่ 2 เม.ย. 2556 ร่างพ.ร.ฎ.กำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบประเภทประโยชน์ทดแทนของระบบประกันสังคมมาตรา 40 ก็ยังไม่ถูกเสนอให้ครม.พิจารณาแต่อย่างใด

หลังจากนั้น วันที่ 30 พ.ค.2556 นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นำรายชื่อ ส.ส. 131 คนที่ลงชื่อถอดถอนนายกิตติรัตน์ออกจากตำแหน่ง ยื่นต่อประธานวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 270 เนื่องจากเห็นว่าไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กอช.ในกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ส่งผลให้ประชาชนต้องเสียสิทธิ

ขณะที่ความคืบหน้าของ ร่างพ.ร.ฎ.กำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ประเภทประโยชน์ทดแทนของระบบประกันสังคมมาตรา 40 มีกำหนดการเสนอเข้าครม.อีกครั้งในวันที่ 18 มิ.ย. 2556 แต่ที่สุดก็ไม่ได้เสนอเข้าครม. และในวันดังกล่าวเครือข่ายบำนาญภาคประชาชน ก็ได้ไปรวมตัวหน้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อยืนยันจุดยืนอีกครั้งว่าต้องการให้เดินหน้ากอช.ต่อไป

ทว่าหลังจากนั้น 1 สัปดาห์ ที่ประชุม ครม.วันที่ 25 มิ.ย.2556 ก็อนุมัติหลักการเพิ่มทางเลือกที่ 3 แก่ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ในระบบประกันสังคมจนได้

วันที่ 10 ก.ค.2556 วุฒิสภาจัดเสวนาเรื่อง “สภาพปัญหาและอุปสรรคในการบังคับใช้ พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) พ.ศ. 2554” ซึ่งผู้เข้าร่วมเสวนาเห็นตรงกันว่าปัญหาเกิดจากนายกิตติรัตน์ไม่ยอมลงนามในกฎหมายลูกที่รองรับการดำเนินการของกอช.และยืนยันว่าไม่เอาประกันสังคมมาตรา 40 ทางเลือก 3

ในวันดังกล่าว เครือข่ายบำนาญภาคประชาชน ได้มีการหารือกันถึงการฟ้องร้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายกิตติรัตน์ และนายสมชัย ต่อศาลปกครองฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ในที่สุดก็นำไปสู่การยื่นฟ้องในวันที่ 29 ก.ค.2556 ที่ผ่านมา (รายละเอียดอ่านเพิ่มเติม เปิดคำฟ้อง“ปู-โต้ง”ละเว้นหน้าที่เดินหน้ากอช.)

หลังจากนั้น วันที่ 15 ส.ค.2556 สศค.ได้เปิดประชาพิจารณ์เกี่ยวกับการยกเลิกกฎหมาย กอช. ที่เว็บไซต์ http://www.fpo.go.th มีกำหนดให้ประชาชนและผู้ส่วนได้ส่วนเสียร่วมแสดงความคิดเห็นภายในวันที่ 21 ส.ค. 2556 หรือเป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์

อย่างไรก็ดี วันที่ 16 ส.ค. 2556 แบบสอบถามดังกล่าวก็ถูกถอดออกจากเว็บไซต์ ซึ่ง สศค.ระบุว่าเป็นความผิดพลาดทางเทคนิค และเตรียมนำแบบสอบถามขึ้นเว็บไซต์อีกครั้งในเร็วๆ นี้ โดยจะชดเชยเวลาในการแสดงความคิดเห็น 1 สัปดาห์เท่าเดิม

ล่าสุดวันที่ 22 ส.ค. 2556 ที่ผ่านมา เครือข่ายบำนาญภาคประชาชน รวมตัวกันอีกครั้งหน้ากระทรวงการคลัง หนังสือถึงนายกิตติรัตน์ว่าจะคัดค้านการออกกฎหมายยุบกอช.จนถึงที่สุด พร้อมระบุว่านอกจากเป็นการไม่เคารพฝ่ายนิติบัญญัติที่ได้พิจารณากฎหมายและประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้อย่างถูกต้องชอบธรรมแล้ว ยังเป็นการละเมิดสิทธิประชาชนที่จะได้รับประโยชน์จากกอช.และมีบั้นปลายชีวิตอย่างมีคุณภาพ

จะเห็นได้ว่าเมื่อไล่เรียงลำดับเหตุการณ์ตั้นแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน ท่าทีของกระทรวงการคลังมีแนวคิดปฏิเสธกอช.ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ และการเรียกร้องของภาคประชาชนก็ยกระดับขึ้นเรื่อยๆตามไปด้วยเช่นกัน

สำหรับทิศทางการต่อสู้ของภาคประชาชนในอนาคต น.ส.อุบล ร่มโพธิ์ทอง ผู้ประสานงานเครือข่ายบำนาญภาคประชาชน ระบุว่าเตรียมยื่นศาลปกครองขอให้มีการไต่สวนฉุกเฉินระงับการดำเนินการออกกฎหมายยกเลิกกอช.ในวันที่ 26 ส.ค. 2556 เนื่องจากการยื่นฟ้องครั้งแรกไม่ได้ขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินไว้ ซึ่งเหตุผลที่เครือข่ายบำนาญภาคประชาชนจะชี้แจงต่อศาลก็คือกระทรวงการคลังได้เริ่มกระบวนการออกกฎหมายยกเลิกแล้ว

ขณะที่ในมุมมองของ นายบัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ ผู้อำนวยการ มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน ตั้งข้อสังเกตว่าการยกเลิกกฎหมายในอดีตที่ผ่านมา จะมีเหตุผลคือคนไม่เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนั้น ไม่เช่นนั้นกฎหมายก็ล้าสมัย ต้องมีการยกเลิกแล้วตรากฎหมายใหม่ หรือแก้ไขกฎหมายเดิมให้ทันสมัยขึ้น

ต่างจากกฎหมายกอช.ที่เพิ่งเคยเห็นว่ายังไม่ทันบังคับใช้กฎหมายก็จะยกเลิกเสียแล้ว ทั้งๆที่มีแต่คนสนับสนุนอยากให้มี แถมยังไม่มีกฎหมายใหม่ออกมาทดแทน โดยอ้างว่าใช้กลไกประกันสังคมมาตรา 40 ทางเลือกที่ 3 ได้เพราะเป็นกลุ่มเป้าหมายเดียวกัน

“ผมคิดว่าคุณกิตติรัตน์ไม่ได้เป็น ส.ส. ไม่ได้มีพื้นฐานมาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่คิดแบบนักธุรกิจ นักบริหาร ไม่มีความเกี่ยวข้องผูกพันกับรัฐสภา พออยากจะเลิกก็เลิกกฎหมายเลย ถ้าเขามาจากการเลือกตั้ง ผ่านการทำงานออกกฎหมายในสภาเขาจะไม่ทำอย่างนี้ กว่ากฎหมายจะออกมาได้ฉบับหนึ่งมันยากเย็น ต้องใช้ทรัพยากร ใช้คนเยอะแยะ ถ้าคนที่เป็นนักการเมือง เป็น ส.ส. ต่อให้ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายนี้ก็ต้องบังคับใช้ไปก่อน”บัณฑิตย์ให้ความเห็น

บัณฑิตย์ วิเคราะห์ว่า โอกาสที่กฎหมายยกเลิกกอช.จะบังคับใช้ในเร็ววันนี้ ยังเป็นไปได้ยาก เพราะต้องเสนอเข้าครม. โดยทั่วไปกว่าจะเข้าครม.ได้อย่างเร็วก็ 1 เดือน หลังจากครม.เห็นชอบแล้วยังต้องส่งไปที่กฤษฎีกา จากกฤษฎีกาถึงรอเข้าสภา แล้วยังต้องผ่านวาระ 1 วาระ 2 วาระ 3 อีก

แต่กระนั้นโอกาสก็ใช่จะไม่มี เพราะหากกฎหมายเข้าสภาแล้ว อาจมีการลงมติ 3 วาระรวดก็ได้เนื่องจากเป็นกฎหมายง่ายๆไม่ซับซ้อน

ขณะเดียวกัน ในส่วนของเครือข่ายบำนาญภาคประชาชนที่จะไปร้องขอให้ศาลปกครองไต่สวนฉุกเฉินนั้น ก็ยังเป็นประเด็นน่าคิดว่าศาลจะรับไต่สวนหรือไม่ เพราะการดำเนินงานของสศค.ในขณะนี้ เป็นเพียงแค่การถามความคิดเห็นเบื้องต้นว่าคิดอย่างไรหากจะยุบกอช. ระดับการดำเนินการเช่นนี้จะมีน้ำหนักให้ศาลพิจารณาหรือไม่ยังตอบไม่ได้ ขึ้นอยู่กับทนายความว่าจะให้เหตุผลอย่างไร

“แม้จะเป็นแค่การสอบถามความเห็น แต่ก็ส่อเจตนาชัดเจน เพราะร่างกฎหมายยกเลิกมาเสร็จสรรพ มีเป้าหมายที่ชัดเจนอย่างยิ่ง”บัณฑิตย์ สรุปทิ้งท้าย