มติชน - กระทรวงสาธารณสุขหวั่น'ไข้เลือดออก'ฉวยโอกาสระบาดช่วง น้ำท่วม สั่ง'สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด'ทั่วประเทศคุมเข้ม เผยมี 11 จังหวัดยังเป็นปัญหา
เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย นพ. ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นำคณะเจ้าหน้าที่ กรมควบคุมโรค กรมอนามัย และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ลงพื้นที่รณรงค์ขอความร่วมมือประชาชน ผู้นำชุมชน เร่งรัดกำจัดยุงและแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ที่โรงเรียนเทพลีลา ถนนรามคำแหง 41 แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ และชุมชนทรัพย์สินเก่า ถนนรามคำแหง 39 แขวงวังทองหลาง เขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร
นพ.ประดิษฐให้สัมภาษณ์ว่าขณะนี้เข้าสู่ปลายฤดูกาลระบาดของโรคไข้เลือดออก แนวโน้มผู้ป่วยในทุกจังหวัดลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยตลอดเดือนกันยายน พบผู้ป่วยเพียง 9,000 รายเศษ จากเดิมที่เคยพบผู้ป่วยเดือนละ 20,000 รายเศษ อย่างไรก็ตาม ในรอบสัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 2-8 ตุลาคม 2556 พบ ผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 2,700 ราย ถึงแม้ว่าจะลดลงจากเดิมที่เคยมีผู้ป่วย 5,000-6,000 รายต่อสัปดาห์ แต่ก็ยังสูงกว่าที่ตั้งเป้าไว้ให้มี ผู้ป่วยไม่เกิน 500 รายต่อสัปดาห์ และจากการสุ่มสำรวจในโรงพยาบาล โรงเรียน วัด มัสยิด รอบบ้านของผู้ป่วยไข้เลือดออก ยังพบภาชนะขังน้ำที่มีลูกน้ำยุงลาย จึงได้เน้นย้ำให้ทุกจังหวัดเข้มข้นการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะใน 10 จังหวัดใหญ่ที่มีผู้ป่วยสูงถึงครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยทั้งประเทศ เช่น เชียงใหม่ เชียงราย กรุงเทพฯ และจังหวัดปริมณฑล ดำเนินการป้องกัน ควบคุมโรค และกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายต่อเนื่อง
นพ.ประดิษฐกล่าวอีกว่า ที่น่าห่วงใน ขณะนี้คือ จังหวัดที่น้ำท่วมขังนาน มียุง ชุกชุม ผู้ประสบภัยที่อพยพจากบ้านมาพักบนถนน หรือที่พักพิงชั่วคราว อาจขาดอุปกรณ์ในการป้องกันยุง รวมทั้งจังหวัดที่น้ำลดระดับเข้าสู่ระยะฟื้นฟู จะมีเศษวัสดุ ภาชนะ หรือขยะที่มีน้ำขังกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายจำนวนมาก ได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เข้มข้นการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรค รวมทั้งขอความร่วมมือประชาชนทุกครัวเรือน ปรับปรุงความสะอาดสิ่งแวดล้อมและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายทุก 7 วัน เพื่อไม่ให้ไข้เลือดออกกลับมาระบาดซ้ำ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-8 ตุลาคม 2556 ทั่วประเทศมีผู้ป่วยไข้เลือดออกสะสม 133,377 ราย เสียชีวิต 126 ราย ในสัปดาห์ที่ผ่านมา พบผู้ป่วย 2,722 ราย เสียชีวิต 2 ราย ส่วนพื้นที่ปัญหามี 11 จังหวัด คือ เชียงราย เชียงใหม่ นครสวรรค์ สระบุรี นนทบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสาคร ระยอง ชลบุรี และนราธิวาส สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ พบผู้ป่วยสะสม 10,244 ราย โดยเขตบางกะปิสูงสุด 415 ราย มากสุดที่แขวงหัวหมาก 259 ราย
ที่มา--มติชน ฉบับวันที่ 15 ต.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--
- 2 views