รมว.สธ. สั่งจังหวัดเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกเอช 5 เอ็น 1 เน้นหนักพื้นที่ที่เคยพบคนหรือสัตว์ปีกติดเชื้อ และ7 จังหวัดแนวชายแดนไทย-กัมพูชาเนื่องจากที่ประเทศกัมพูชายังพบผู้ยืนยันติดเชื้อต่อเนื่อง สถานการณ์โรคในปี 2556 ทั่วโลกพบผู้ป่วยติดเชื้อไข้หวัดนก 23 ราย เสียชีวิต 17 ราย ทั้งหมดอยู่ในเอเชีย ย้ำเตือนประชาชนห้ามนำเป็ดไก่ที่กำลังป่วยหรือตายแล้วมาชำแหละเป็นอาหารอย่างเด็ดขาด
นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้อยู่ในช่วงฤดูฝน สภาพอากาศชื้น เย็น เอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัส ที่น่าห่วงคือโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ เอช 5 เอ็น 1 (H5N1) ซึ่งเป็นโรคที่เกิดขึ้นในสัตว์ปีก และสามารถติดต่อมาสู่คนได้ และมักมีอาการแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดบวม ระบบหายใจล้มเหลว โดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุ เนื่องจากเป็นผู้ที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำกว่าวัยอื่น และในช่วงนี้หลายพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วม ก็อาจทำให้คนและสัตว์ปีกอยู่ใกล้ชิดกันมากขึ้น
นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า แม้ว่าไทยจะไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อไข้หวัดนก ตั้งแต่พ.ศ.2549 เป็นต้นมา แต่จากการประเมินความเสี่ยงของไทยต่อการระบาดของโรคไข้วัดนก สายพันธุ์ เอช 5 เอ็น 1 พบว่าอาจจะมีความเป็นไปได้ที่โรคอาจจะแพร่ระบาดเข้ามาในประเทศไทย เนื่องจากที่ประเทศกัมพูชายังพบผู้ป่วยต่อเนื่อง โดยเฉพาะตามแนวชายแดน ผ่านทางการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีก โดยเฉพาะไก่ชน เนื่องจากเป็นสัตว์ปีกที่อยู่ใกล้ชิดประชาชนที่สุด รวมทั้งการเดินทางไปมาของประชาชน นอกจากนี้ ยังอาจติดต่อผ่านทางนกธรรมชาติได้อีกด้วย ได้ให้กรมควบคุมโรค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เน้นหนักจังหวัดที่เคยพบสัตว์ปีกหรือคนติดเชื้อไข้หวัดนก รวมทั้งจังหวัดแนวชายแดนไทยกัมพูชา ได้แก่ ตราด สระแก้ว จันทบุรี บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สุรินทร์ และอุบลราชธานี คงมาตรการเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น ร่วมกับสำนักงานปศุสัตว์ ทั้งในคนและสัตว์ปีก ครอบคลุมระดับหมู่บ้าน และโรงพยาบาล เพื่อตรวจจับโรคที่รวดเร็วนอกเหนือจากมาตรการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคที่ดำเนินการตามปกติ
ทางด้านนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกรายงานสถานการณ์โรคไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช 5 เอ็น 1 ในปี 2556 ยังพบมีการติดเชื้อต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมกราคม – 19 กรกฎาคม 2556 ทั่วโลกมีรายงานพบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไข้หวัดนกใน 6 ประเทศทั้งหมดอยู่ในเอเชีย ได้แก่ อียิปต์ บังคลาเทศ จีน กัมพูชา เวียดนาม และอินโดนีเซีย มีผู้ป่วย 24 ราย เสียชีวิต 17 ราย ล่าสุดมีรายงานที่กัมพูชา เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2556 รวมสถานการณ์ในปีนี้พบผู้ป่วยมากที่สุดที่กัมพูชาจำนวน 14 ราย เสียชีวิต 9 ราย
ต้องขอความร่วมมือประชาชนทุกคน ขอให้ยึดหลักปฏิบัติในการป้องกันโรคไข้หวัดนก ห้ามนำสัตว์ปีกที่ตายแล้วหรือกำลังมีอาการป่วยมาชำแหละเพื่อจำหน่ายหรือรับประทาน หรือนำไปให้สัตว์อื่นกินอย่างเด็ดขาด เนื่องจากหากสัตว์ปีกติดเชื้อไข้หวัดนก ผู้ชำแหละจะติดเชื้อจากการสัมผัสสารคัดหลั่งได้ ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ให้สวมถุงมือหรือถุงพลาสติกหากจำเป็นต้องสัมผัสสัตว์ปีก และล้างมือฟอกสบู่ทุกครั้งหลังจากสัมผัสสัตว์ปีก หากมีอาการเป็นไข้ ไอ ปวดเมื่อยตามร่างกาย และเคยสัมผัสสัตว์ปีกหรือผู้ป่วยปอดบวม ให้รีบไปพบแพทย์ พร้อมแจ้งประวัติการสัมผัสโรค หรือแจ้งประวัติการเดินทาง หรือโทรปรึกษาสายด่วนของกรมควบคุมโรค หมายเลข 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง
- 3 views