หมอชนบทเผยเยียวยาการทำ P4P คาดได้เงินภายใน ส.ค.ระบุวงประชุมค่าตอบแทนเห็นด้วยกับ KPI โรงพยาบาลชุมชน เตรียมทำรายละเอียดแต่ละพื้นที่ ด้านคณะทำงานย่อยชุดลดความเหลื่อมล้ำ เสนอปรับอัตราค่าตอบแทนแต่ละวิชาชีพใหม่ แนะอ้างอิงตามสัดส่วนการจ่ายโอที ชี้เภสัชฯควรได้ 60% จากค่าตอบแทนแพทย์ พยาบาลควรได้ 55% เสนอให้ รพ.นำกำไรมาจ่ายตามหลักเกณฑ์ PQO ของแพทย์ชนบท ชี้จ่าย 1% ของเงินเดือนน้อยเกินไป

วันนี้ (16 ส.ค.) ดร.คณิศ แสงสุพรร ประธานการประชุมคณะทำงานจัดทำข้อเสนอการดำเนินการจ่ายค่าตอบแทนของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะทำงานฯ ครั้งที่ 3/2556 เมื่อวันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา ว่า ที่ประชุมมีวาระการพิจารณา 3 เรื่อง ได้แก่ 1.แนวทางการจ่ายเงินช่วยเหลือสำหรับกำลังคนสาธารณสุขที่ได้รับค่าตอบแทนในอัตราใหม่ เรื่องนี้เป็นเรื่องของการเยียวยาผู้ที่ได้รับค่าตอบแทนน้อยลงกว่าค่าตอบแทนเดิม ซึ่งล่าสุด นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ.ก็ได้ลงนามหลักเกณฑ์การเยียวยาแล้ว 2.ข้อเสนอการกำหนดการวัดผลและประเมินผล (KPI) การจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงานที่สอดคล้องกับบริบทของโรงพยาบาลชุมชน ซึ่งในที่ประชุมทุกฝ่ายก็เห็นด้วยกับข้อเสนอ รวมทั้งยอมรับในข้อตกลงที่ว่าระบบสาธารณสุขทั้งหมดจะต้องมีการทำ KPI ที่เหมือนกันทั้งหมด แต่อาจจะต่างกันในเรื่องของตัวเลขว่าแต่ละพื้นที่จะต้องทำให้ได้แค่ไหนอย่างไร เนื่องจากบริบทของแต่ละพื้นที่มีสภาพปัญหาที่ต่างกัน ซึ่งการทำรายละเอียดก็คงต้องไปทำประชาพิจารณ์ในแต่ละพื้นที่เขต ซึ่งคาดว่าอีก 2 สัปดาห์คงแล้วเสร็จ

ดร.คณิศ กล่าวอีกว่า และ 3.อัตราการจ่ายค่าตอบแทนที่มีข้อเสนอจำนวนมาก ที่ประชุมก็ได้รับและรวบรวมข้อเสนอไว้ทั้งหมด โดยจะส่งข้อเสนอทั้งหมดนี้ไปยังคณะกรรมการของกระทรวงสาธารณสุขที่ดูแลในเรื่องการจ่ายค่าตอบแทนต่อไป เพื่อทำรายละเอียดและออกเป็นประกาศกระทรวงสาธารณสุขต่อไป ทั้งนี้ หากการดำเนินงานไม่มีปัญหาขัดข้องอะไร คาดว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องประชุมอีก ถือว่าการทำหน้าที่ของคณะทำงานเสร็จสิ้นแล้ว

นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช ในฐานะอดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า ประเด็นการจ่ายเงินเยียวยาในส่วนโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ใช้งบเยียวยาประมาณ 427 ล้านบาท แต่กลับไม่มีการกระจายเงินเสียที ทั้งที่ควรจ่ายให้โรงพยาบาลตั้งแต่ ก.ค.นั้น ล่าสุด ที่ประชุมเห็นว่าจะเร่งดำเนินการให้ภายในสัปดาห์หน้า ซึ่งหาก สธ.มีความจริงใจทุกโรงพยาบาลก็จะได้รับเงินเยียวยาภายใน ส.ค.นี้ ส่วนการพิจารณา KPI ของ รพช.ซึ่งมี นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบทเป็นประธาน เรียกว่า PQO (Pay for Quality and Outcome) โดยที่ประชุมได้รับร่างตัวชี้วัดที่ทาง รพช.จัดทำ มีทั้งหมด 20 เกณฑ์โดยเน้นผลลัพธ์ที่เกิดกับคนไข้เป็นหลัก ทั้งนี้ รพช.จะเป็นผู้จัดเวทีและเผยแพร่ตัวชี้วัดนี้ต่อไป โดยขอให้สธ.สนับสนุนงบประมาณ ซึ่งที่ประชุมไม่คัดค้าน

“ที่ยังไม่ได้ข้อยุติคือ การขอให้มีการทำประกาศค่าตอบแทนเฉพาะของ รพช.ใหม่แทนฉบับที่พวกเราไม่เห็นด้วย เนื่องจากมีการลดค่าตอบแทนมาก จึงขอให้ปรับปรุงใหม่เป็นฉบับ 10 แต่ยังคงเนื้อหาฉบับ 4 และ 6 ซึ่งตรงนี้ที่ประชุมยังไม่มีความชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป คงต้องรอความชัดเจนอีกครั้ง แต่หากไม่มีการปรับเปลี่ยน หรือเปลี่ยนโดยไม่คิดถึงขวัญกำลังใจคนทำงาน สุดท้ายก็จะเกิดความขัดแย้งขึ้นอีกแน่นอน” นพ.อารักษ์ กล่าว

ด้าน ดร.กฤษดา แสวงดี อุปนายกสภาการพยาบาลคนที่ 2 กล่าวว่า ในที่ประชุมฯ คณะทำงานย่อยกลุ่มผู้ปฏิบัติงานอื่นที่อาจจะมีบางจุดต้องปรับ ซึ่งมี นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา รองปลัด สธ.เป็นประธาน ได้เสนอปรับร่างหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายค่าตอบแทนฉบับ 8 และฉบับ 9 เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมระหว่างวิชาชีพ โดยฉบับ 8 ซึ่งเป็นการปรับมาจากฉบับ 4 และ 6 นั้น ยังมีข้อจำกัดในเรื่องค่าตอบแทนของสหวิชาชีพที่ยังน้อยเกินไปอยู่ หากจะลดความเหลื่อมล้ำจะต้องมีการปรับตัวเลขค่าตอบแทนใหม่ ไม่ให้วิชาชีพต่างๆ เหล่านี้ได้รับค่าตอบแทนที่น้อยจนเกินไป
       
“การลดความเหลื่อมล้ำค่าตอบแทนของแต่ละวิชาชีพ เสนอให้อ้างอิงจากสัดส่วนของการจ่ายค่าล่วงเวลา (โอที) เช่น แพทย์ทำโอที 8 ชั่วโมงได้เงิน 1,100 บาท เภสัชกร ทำโอที 8 ชั่วโมง ได้เงิน 720 สัดส่วนจะอยู่ที่ประมาณ 60% พยาบาลทำโอที 8 ชั่วโมง ได้เงิน 600 บาท สัดส่วนจะอยู่ที่ 55% การจ่ายค่าตอบแทนตามฉบับ 8 ก็อยากจะให้อ้างอิงตามสัดส่วนนี้คือ เภสัชกรได้ค่าตอบแทนอยู่ที่ 60% ของแพทย์ พยาบาลได้อยู่ที่ 55% ของค่าตอบแทนแพทย์ เป็นต้น”ดร.กฤษดา กล่าว

ดร.กฤษดา กล่าวอีกว่า สำหรับฉบับ 9 ซึ่งเป็นการจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน โดยจ่ายเพิ่มเพียง 1% ของเงินเดือนนั้น วิชาชีพต่างๆ ที่มีเงินเดือนน้อย เมื่อจ่ายเพิ่มเพียง 1% ของเงินเดือนก็ถือว่าได้ค่าตอบแทนที่น้อยมาก ทำให้สร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติงานได้ยาก จึงเสนอให้โรงพยาบาลที่มีรายได้มากกว่ารายจ่ายหลังจากหักงบประมาณในการลงทุนไปแล้ว หรือมีกำไรนั่นเอง ให้นำเงินที่เหลือนี้มาจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน โดยหลักเกณฑ์ในการจ่ายก็ให้เป็นไปตามเกณฑ์การวัดผลลัพธ์การทำงานแบบ PQO ที่แพทย์ชนบทเสนอ ซึ่งยังคงต้องทำการศึกษาต่อว่ามีเกณฑ์การวัดผลลัพธ์ระดับโรงพยาบาลแล้วจะมีการวัดในระดับบุคคลต่อไปอย่างไร ส่วนในกลุ่มโรงพยาบาลที่รายได้น้อยกว่ารายจ่าย โดยเฉพาะโรงพยาบาลตามแนวชายแดน ก็ต้องเข้าใจก่อนว่าแม้จะขาดทุนแต่บุคลากรก็ทำงาน ตรงนี้ สธ.ได้มีมาตรการในการชดเชยเยียวยาแล้ว อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้รับหลักการดังกล่าวแล้ว แต่คณะทำงานย่อยชุดที่ 3 ยังต้องกลับไปทำการศึกษาต่อว่าหากดำเนินการตามที่เสนอจะต้องใช้งบประมาณเท่าไร และมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน

ที่มา : www.manager.co.th