บอร์ดกำลังคนด้านสุขภาพเผย 20 ปีข้างหน้า ไทยขาดแคลนแพทย์เฉพาะทางมากจี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งผลิตเพิ่ม ส่วนแผนผลิตพยาบาลเพิ่ม 27,960 คน วงเงิน 7,000 ล้าน ยังไม่สะท้อนภาพรวมประเทศ
นพ.มงคล ณ สงขลา ประธานกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2556 ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบข้อเสนอเชิงนโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์เฉพาะทาง และเร่งรัดให้มีกลไกในการเกาะติดเรื่องนี้อย่างจริงจัง เนื่องจากมีผลการศึกษา โดยนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยนเรศวรว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า ไทยมีแนวโน้มจะขาดแคลนแพทย์เฉพาะทาง ทั้งด้านศัลยแพทย์ ประสาทแพทย์วิสัญญีแพทย์ อายุรแพทย์ และแพทย์ด้านเวชศาสตร์ครอบครัว หาก สธ. และหน่วยงานที่รับผิดชอบไม่เตรียมพร้อมผลิตแพทย์เฉพาะทางเพิ่มขึ้น อาจไม่เพียงพอในการรองรับการให้บริการด้านสาธารณสุขของคนไทย ตามนโยบายเมดิคัล ฮับของรัฐบาล
ทั้งนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบแผนเพิ่มการผลิตพยาบาลศาสตร์ของประเทศ ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบเมื่อ 12 พ.ค. ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เสนอ ซึ่งตามแผนจะมีการเพิ่มกำลังการผลิตพยาบาล ระหว่างปี 2557-2560 ในสังกัด สกอ. 5,728 คน และสถาบันพระบรมราชชนก(สบช.) กระทรวงสาธารณสุข 4,400 คน รวมเป้าหมายในการผลิตพยาบาลทั้งหมด 27,960 คน ตั้ง
วงเงินงบประมาณ 7,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการมีความเห็นว่า แผนการผลิตนี้ยังไม่สะท้อนภาพรวมของประเทศ ที่มีสถาบันผลิตพยาบาลยังไม่ถูกนับรวมอีกมาก เช่นกรุงเทพฯ กองทัพ และสถาบันการศึกษาเอกชน ทำให้ยังไม่สามารถคาดจำนวนพยาบาลที่จะผลิตได้จริง
"การแก้ปัญหาขาดแคลนแพทย์เฉพาะทาง จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย รวมทั้งต้องพิจารณาด้วยว่า โรงพยาบาลเอกชนควรมีบทบาทเข้ามาสนับสนุนการผลิตแพทย์เฉพาะทางแค่ไหนจึงจะเหมาะสมเพื่อให้การเพิ่มปริมาณแพทย์เฉพาะทาง ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงและเพียงพอต่อการดูแลประชาชนในอนาคต" นพ.มงคล กล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการรายวัน วันที่ 15 สิงหาคม 2556
- 3 views