พบเด็กไทยมีพัฒนาการล่าช้าต่อปีมากถึง240,000คน สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากขาดการดูแลและสังเกตตั้งแต่เกิด กรมสุขภาพจิตจัดมือสาธารณุสขทั่วไปส่งเสริมพ่อแม่ และครอบครัวสังเกตพัฒนาการของลูก
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ เนื่องในวันมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 81 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในวันที่ 12 ส.ค.2556 ที่ผ่านมา ว่า ภายใต้การขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับการดูแลเด็กและสตรี (Every Woman Every Child) กระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายกรมสุขภาพจิตและกรมอนามัยร่วมกับหน่วยบริการกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่งส่งเสริมพัฒนาการเด็กทุกคน โดยรณรงค์ให้เดือนสิงหาคมเป็นเดือนส่งเสริมพัฒนาการเด็กเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมฯ ราชินีนาถ ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา
รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน พบเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้า เฉลี่ย 240,000 คนต่อปี ปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาดังกล่าว คือ การขาดการดูแลเด็กตั้งแต่วัยแรกเกิด - 5 ขวบ อย่างต่อเนื่องนอกจากนี้ พบว่า ในประเทศไทย อัตราการเข้าถึงบริการของเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการ/ปัญหาพฤติกรรมและอารมณ์ยังมีน้อย เด็กที่บกพร่องทางสติปัญญามีการเข้าถึงเพียง 33,592 คน หรือประมาณ 5.23% และเป็นเด็กออทิสติก 7,212 คน หรือประมาณ 12.02% ของประชากรเด็ก การค้นหา การช่วยเหลือเด็กที่มีความเสี่ยงและการดูแลส่งเสริมให้มีพัฒนาการตามวัยที่ถูกต้องเหมาะสม ตั้งแต่ระยะแรกอย่างเป็นระบบจึงมีความสำคัญยิ่งที่จะส่งผลให้เด็กเติบโตเป็นทรัพยากรที่มีคุณภาพในการพัฒนาประเทศต่อไป
รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมสุขภาพจิต มีนโยบายพัฒนางานส่งเสริมสุขภาพจิตตามกลุ่มวัย ซึ่งในวัยเด็กจะมุ่งเน้นการส่งเสริมพัฒนาการและการพัฒนาความฉลาดทางสติปัญญาและอารมณ์ หรือ IQ-EQ โดยพัฒนาคุณภาพการตรวจพัฒนาการเด็กควบคู่กับการพัฒนาศักยภาพบุคลากรในคลินิกสุขภาพเด็กดี ซึ่งจะมีการประเมินพัฒนาการเด็กตามช่วงอายุที่มารับการฉีดวัคซีน กรณีเด็กมีพัฒนาการไม่สมวัย จะได้รับการกระตุ้นพัฒนาการเป็นระยะเวลา 1เดือนและประเมินพัฒนาการซ้ำ ถ้ามีปัญหาพัฒนาการล่าช้าจะได้รับการดูแลช่วยเหลือแก้ไขปัญหาพัฒนาการ
สำหรับในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เด็กจะได้รับการเฝ้าระวังด้านพัฒนาการและความฉลาดทางอารมณ์ โดยครูศูนย์เด็กเล็กจะประเมินพัฒนาการเด็กภาคเรียนละ 1 ครั้งและประเมินความฉลาดทางอารมณ์เด็ก ปีละ 1ครั้ง ถ้าเด็กมีปัญหาพัฒนาการก็จะส่งต่อหน่วยบริการสาธารณสุขใกล้บ้านเพื่อให้การช่วยเหลือตามระบบต่อไปส่วนครูศูนย์เด็กเล็กจะมีการประเมินความเครียดด้วยตนเองปีละ 1 ครั้ง ตลอดจนสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน/ท้องถิ่น รวมทั้งสร้างความรู้และความตระหนักของพ่อแม่/ผู้เลี้ยงดูให้มีความเข้าใจในการพัฒนาเด็กปฐมวัยเพื่อให้เด็กวัยแรกเกิด - 5 ปี ได้รับการตรวจประเมินและส่งเสริมพัฒนาการตามวัยอย่างต่อเนื่อง และหากพบว่าเด็กมีพัฒนาการไม่สมวัยหรือมีความเสี่ยงต่อปัญหา EQ ก็จะได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน
การสังเกตและประเมินพัฒนาการของลูก รองอธิบดีกรมสุขภาพจิตแนะว่า ให้สังเกตจากการเคลื่อนไหวว่ามีการเคลื่อนไหวได้ช้ากว่าปกติหรือไม่เช่น วัย1เดือนสามารถนอนคว่ำ ยกศีรษะและหันศีรษะไปข้างใดข้างหนึ่งได้แล้วหรือไม่ พูดได้ช้ากว่าปกติหรือไม่ หรือ ไม่สามารถทำตามคำสั่งได้ ซนเกินไป ไม่มีสมาธิ หุนหันพลันแล่น ทำร้ายข้าวของ หรือเลี้ยงง่ายเกินไปไม่ค่อยมีการตอบสนอง นอกจากนี้ ยังสามารถสังเกตพัฒนาการไม่สมวัยได้จากการเปรียบเทียบกับเพื่อนๆในห้องเรียนได้อีกทางหนึ่ง โดยสามารถสังเกตพัฒนาการได้เร็วที่สุดในช่วง 9 เดือน และ18 เดือน
ในวโรกาสมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 81 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์พระบรมราชินีนาถ กรมสุขภาพจิตจึงขอเชิญชวนพ่อแม่ผู้ปกครอง โดยเฉพาะ คุณแม่ที่มีลูกวัยแรกเกิด-5ปี สังเกตพัฒนาการตามวัยของลูกได้จากคู่มือส่งเสริมพัฒนาการเด็กแรกเกิด-5ปี สำหรับผู้ปกครอง ที่มีเนื้อหาเข้าใจง่าย ประกอบด้วยรูปภาพ 4 สีสวยงาม แสดงวิธีการพัฒนาการเด็กแต่ละวัย อย่างชัดเจน ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ผ่านการวิจัยและพัฒนามาหลายปีจนได้รับรางวัลระดับนานาชาติ United Nations Public Service Awardsโดยสามารถเข้าไปดาวน์โหลดได้ที่
www.thaichilddevelopment.com หรือสามารถมารับบริการพร้อมรับคู่มือดังกล่าวเพื่อนำไปเปรียบเทียบพัฒนาการของลูกได้จากตารางพัฒนาการเด็กแรกเกิด-5ปี ได้ที่คลินิกสุขภาพเด็กดีที่หน่วยบริการสาธารณสุขทั่วประเทศ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย วันที่ 13 สิงหาคม 2556
- 335 views