สพฉ. อบรมการปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้ผู้สื่อข่าว เพื่อเตรียมรับมือเหตุฉุกเฉิน พร้อมแนะวิธีการปฐมพยาบาลที่จำเป็น "ห้ามเลือด-เคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บ-ดามกระดูก"
เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้ร่วมเป็นวิทยากรให้กับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในหลักสูตร "การรายงานข่าวในสถานการณ์ความขัดแย้ง" โดยอบรมการปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้กับผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวต่างๆ เพื่อให้สามารถเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์การทำข่าวที่มีความขัดแย้งในหลากหลายกรณี
น.ส.สุดารัตน์ นิราพาธ ผู้อำนวยการกลุ่มสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สพฉ. กล่าวว่า สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ.2551 โดยมีหน้าที่จัดให้มีระบบการแพทย์ฉุกเฉินที่ได้มาตรฐาน ซึ่งในสถานการณ์การชุมนุมที่ผ่านมา สพฉ.ได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน โดยได้ประสานให้การช่วยเหลือเมื่อมีผู้บาดเจ็บ ซึ่งจากเหตุการณ์ครั้งนั้น สพฉ.ได้มีบทเรียนและการจัดการกับเรื่องนี้ จึงเห็นว่าการเข้าร่วมเป็นวิทยากรครั้งนี้เราจะสามารถนำบทเรียนการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่ผ่านมามาถ่ายทอดให้สื่อมวลชนเข้าใจและสามารถช่วยเหลือตนเองได้หากเกิดเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินขึ้น ทั้งนี้ สพฉ.มีความยินดีที่จะให้ความร่วมมือกับสื่อมวลชน หากมีการร้องขอมา ผ่านสายด่วน 1669 ซึ่งเราได้มีการประสานกับกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดเตรียมกำลังคนและทรัพยากรด้านการแพทย์ฉุกเฉินไว้อย่างเต็มที่ในทุกกรณีหากมีการเจ็บป่วยฉุกเฉิน
ด้าน น.พ.ฉัตรบดินทร์ เจตนะศิลปิน หัวหน้าหน่วยแพทย์กู้ชีวิต คณะแพทยศาสตร์ วชิรพยาบาล กล่าวว่า ในสถานการณ์ของการชุมนุม อาจมีกรณีการบาดเจ็บฉุกเฉินได้หลายกรณี อาทิ ถูกยิง แผลฉกรรจ์ที่มีเลือดไหลมาก การหกล้ม กระดูกหัก หรือโดนแก๊สน้ำตา ซึ่งในกรณีดังกล่าวก็จะมีวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่แตกต่างกันไป นอกจากนี้หากผู้สื่อข่าวไปพบเห็นผู้ชุมนุมที่บาดเจ็บ หรือผู้ร่วมวิชาชีพที่บาดเจ็บก็สามารถที่จะเข้าไปให้การช่วยเหลือได้ด้วยความระมัดระวัง และไม่ทำให้ผู้บาดเจ็บมีอาการบาดเจ็บรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยการเคลื่อนย้ายสามารถทำได้หลายกรณี อาทิ การหมอบคลานเข้าไปและล็อกแขนผู้บาดเจ็บ จากนั้นค่อยๆ ดึงไถลออกมาจากพื้นที่ หรือหากผู้บาดเจ็บพอรู้สึกตัว ให้หมอบคร่อมลงไปที่ร่างบาดเจ็บ จากนั้นให้ผู้บาดเจ็บคล้องที่คอ และค่อยคลานพาร่างผู้บาดเจ็บออกจากบริเวณที่ปะทะ
สำหรับกรณีหากผู้บาดเจ็บกระดูกหัก ให้ใช้อุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ในการดามแขน เช่น กระดาษหนังสือพิมพ์นำมาม้วนหนาๆ และใช้ดามบริเวณอวัยวะที่คาดว่ากระดูกหัก จากนั้นใช้เชือกรองเท้าหรือวัสดุมัดดามไว้ ส่วนกรณีผู้บาดเจ็บมีเลือดไหลจำนวนมากให้รีบห้ามเลือด โดยใช้ผ้าสะอาดกดบริเวณบาดแผลให้แน่น ประมาณ 10-15 นาที จนเลือดหยุด จากนั้นรีบส่งโรงพยาบาล แต่หากเลือดไม่หยุดไหลและบาดแผลเกิดขึ้นบริเวณแขนหรือขาให้ใช้ส้นมือกดที่หลอดเลือดแดงที่แขนพับหรือขาหนีบจนเลือดพอไหลซึมๆ แต่ระวังอย่ากดจนแขนหรือขาซีดเขียว นอกจากนี้ในกรณีที่ผู้สื่อข่าวจำเป็นต้องเข้าไปในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งควรพกอุปกรณ์จำเป็น อาทิ ขวดน้ำ ผ้าขนหนู ผ้าอนามัยเพื่อใช้ห้ามเลือด ผ้าพันแผล เพื่อใช้ในการช่วยปฐมพยาบาล
ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง วันที่ 10 สิงหาคม 2556
- 57 views